ส่องธุรกิจและโอกาส 4 เรือธงของ BANPU
ภายใต้สุดยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter
.
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU อีกหนึ่งบริษัทที่อยู่คู่กับตลาดหุ้นไทยมาเป็นระยะเวลานานหรือกว่า 34 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่จดทะเบียนบนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 16 มิถุนายน 2532 ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทก็ได้มีการปรับตัวด้วยกลยุทธ์ต่างๆเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
.
ทั้งนี้ล่าสุดก็ได้ชูยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปี (2564-2568) ภายใต้ชื่อ Greener & Smarter ด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในองค์กร เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านควบคู่กับการขยายการเติบโตสู่พลังงานสะอาดรองรับเทรนด์แห่งโลกอนาคต มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานครบวงจร
.
โดยนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์การเติบโตของธุรกิจนับจากนี้ไปถึงปี 2568 ผ่าน 4 ธุรกิจเรือธง ประกอบไปด้วยธุรกิจเหมือง, ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน
.
สำหรับกลยุทธ์ของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม จะมีการดำเนินงานภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายธุรกิจ โดยธุรกิจเหมืองถ่านหิน แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นไปในการสร้างกระแสเงินสดเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจต่างๆ พร้อมกับพัฒนาในสินทรัพย์เดิมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด
.
ขณะที่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในประเทศสหรัฐฯ และบริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) ก็ได้เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ
.
โดยควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) โครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) และโครงการ “High West (ไฮเวสต์)”
.
รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี 2568 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในปี 2573
.
ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทจะเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล่าสุด เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นการสร้างคุณค่าจากการผสานพลัง (Synergistic Value) กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม เสริมความแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจของบริษัทในสหรัฐฯ
.
นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
.
สุดท้าย ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจและขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ๆ
.
โดยวางเป้าหมายปี 2568 ดังนี้ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์, ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง, ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ, ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
.
รวมไปถึงธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ
.
ทั้งนี้ นอกจาก 4 ธุรกิจเรือธงข้างต้น บริษัทมีอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่เป็นฟันเฟืองในการเร่งการเติบโตกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการจัดตั้ง หน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบริษัท
.
โดยหน่วยงานนี้จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาได้ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน Warburg Pincus ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดในต่างประเทศ กองทุน Heyokha Makha ที่จะส่งเสริมการทำโครงการเหมืองแร่แห่งอนาคต และกองทุน Smart City ของ Eurazeo ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพ AirCarbon Exchange (ACX) แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับโลก
.
ด้านความน่าสนใจของหุ้น BANPU บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำ ทยอยสะสม ราคาเป้าหมายที่ 10 บาท โดยความผันผวนของราคาหุ้นกำลังสิ้นสุด อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติทั้งหลังหุ้นแปลงสภาพเข้าซื้อขายและการเข้าสู่ช่วง Golden Week ของจีนหุ้นมักจะกลับมาเคลื่อนไหว Outperform ได้ดีพร้อมกับไตรมาส 4/66 จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของราคาก๊าซธรรมชาติ–ถ่านหินจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในฤดูหนาว
