ห้องเม่าปีกเหล็ก

แกะงบไตรมาส 1 WHA และ AMATA หุ้นนิคม 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ดีหรือไม่?

โดย พายุ
เผยแพร่ :
289 views

แกะงบไตรมาส 1 WHA และ AMATA หุ้นนิคม 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ดีหรือไม่? เทรนด์ EV หรือ Trade War จะเป็นประโยชน์จริง ๆ รึเปล่า?

.

หุ้นกลุ่มนิคม ถือเป็นหุ้นที่อยู่ในสปอร์ตไลท์ของหลายๆ คนในตอนนี้

เพราะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์การเติบโตของรถยนต์ EV ในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หันมาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น

.

การย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมายังไทย จากความกังวลในเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน (Trade War) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการค้า โดยเฉพาะเรื่องกำแพงภาษี

.

นโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentive)

.

หรือนโยบายของพรรคก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ปี 2566 ที่มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่หลายคนสนใจ

.

ซึ่งในบ้านเราเมื่อกล่าวถึงนิคมอุตสาหกรรม หุ้นสองตัวที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ WHA และ AMATA นิคม 2 ค่ายยักษ์ใหญ่

บทความนี้จะพาไปเจาะผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ดูกันว่าดีหรือไม่? สาเหตุเป็นเพราะอะไร? และแผนปี 2566 เป็นอย่างไรบ้าง? เผื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนกันนะคะ

.

1.WHA – บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

กำไรไตรมาส 1 ปี 2566 522.7 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน 20.33% (656. 7 ล้านบาท) แต่สาเหตุหลัก ไม่ได้มาจากรายได้ที่ลดลง เพราะที่จริงแล้วรายได้เพิ่มขึ้น 481.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31 % เลย

.

แล้วกำไรลดลงได้ยังไง? ลองมาแกะรายได้ของ WHA กันต่อก็พบว่า

.

WHA มีรายได้จากการดำเนินงาน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 51%

2.รายได้จากการให้เช่าและบริการ คิดเป็นสัดส่วน 25%

3.รายได้จากการขายสินค้า 24%

.

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 มาจาก รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด

เพิ่มขึ้น 398 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุมาจากการโอนที่ดินที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม

.

เราจะเห็นว่ากำไรที่ลดลง ไม่ได้มาจากรายได้จากการดำเนินงานปกติที่ลดลง แต่มาจากรายได้อื่นลดลง 459 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 80 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงนั้นมีกำไรพิเศษจากการจำหน่ายทรัพย์สินของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ 2 ที่ รวม 344.6 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2566 ไม่มีการรับรู้รายได้ในส่วนนี้

.

โดยสรุปแล้ว ในความเห็นส่วนตัว มองว่า การที่กำไรของ WHA ลดลง จากสาเหตุหลักคือกำไรพิเศษที่เกิดครั้งคราวลดลง ไม่ได้มาจากรายได้จากการดำเนินงานปกติลดลงนั้น สะท้อนว่า ‘สุขภาพการเงินของ WHA ยังดีอยู่นั่นเอง’

.

มาดูแผนในปี 2566 ของ WHA กันบ้าง..

.

ปัจจุบัน WHA Group ทีพื้นที่นิคม 71,000 ไร่ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 แห่ง ที่อยู่ระหว่างดําเนินการในประเทศไทย จํานวน 11 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่ง

.

ผู้บริหารได้ตั้งเป้าในการขายที่ดินใน 2566 จำนวน 1,750 ไร่ แบ่งเป็นในไทยจำนวน 1,200 ไร่ และในเวียดนาม จำนวน 550 ไร่ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่พอๆกับปีก่อน ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 1,700 ไร่-1,800 ไร่

.

โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ WHA มียอดขายที่ดินทั้งหมด 490 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 28% ของยอดขายที่ได้ตั้งเป้าไว้ (ที่ดินในไทย 380 ไร่ และ เวียดนาม 110 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 32% และ 20% ของยอดขายที่ได้ตั้งเป้าไว้ตามลำดับ)

.

ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะทำให้ WHA มียอดขายที่เติบโตขึ้นได้ มาจากการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ จากจีน มายังไทย หรือ เวียดนาม ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน จากความกังวลเรื่อง Trade War โดยจากข้อมูลปี 2565จะพบว่า WHA มีลูกค้าใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่

.

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค คิดเป็นสัดส่วน 26%

ยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 21%

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วน 17%

.

อย่างก็ตาม WHA อาจทะลุเป้าที่ได้ตั้งไว้ ถ้าได้ดีลลูกค้ารายใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์ EV) ซึ่งตรงนี้ก็ยังคงต้องรอความชัดเจนของรัฐบาลใหม่เซ็นต์สัญญาซื้อขายภายในปลายปีนี้อีก 500-600 ไร่

.

2. AMATA - บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)

.

กำไรไตรมาส 1 ปี 2566 491.98 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11.11% (533.47 ล้านบาท)

.

สาเหตุหลักไม่ได้มากจากรายได้ลดลงเช่นกัน เพราะรายได้จากการดำเนินงานรวมสุทธิเพิ่มขึ้น 1,096 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 105 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

.

เมื่อมาดูโครงสร้างรายได้จากการดำเนินงานของ AMATA พบว่า ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ

.

1.รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 55%

2.รายได้จากค่าสาธารณูปโภค 35%

3.รายได้จากจากการให้เช่า 10%

.

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 มาจาก รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด เพิ่มขึ้น 913 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 336% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

.

เพราะฉะนั้นกำไรที่ลดลง ไม่ได้มาจากรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลงเช่นกัน แต่มาจากกำไรพิเศษจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนลดลง 627.9 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2566 ไม่มีกำไรในส่วนนี้ (ลดลง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)

.

โดยสรุปแล้ว กรณีของ AMATA ก็จะคล้ายกับ WHA ที่มีกำไรลดลง จากสาเหตุหลักคือกำไรพิเศษที่เกิดครั้งคราวลดลง ไม่ได้มาจากรายได้จากการดำเนินงานปกติลดลง นั่นสะท้อนว่า ‘สุขภาพการเงินของ AMATA ยังดีอยู่เช่นกันนั่นเอง’

.

มาดูแผนการขายที่ดินปี 2566 ของ AMATA กันต่อ ...

ปัจจุบัน AMATA มีพื้นที่นิคมทั้งสิ้นประมาณ 90,727 ไร่ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 5 แห่ง อยู่ในไทย 2 แห่ง (อมตะซิตี้ระยอง และอมตะซิตี้ชลบุรี) และ เวียดนาม 3 แห่ง (อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง)

.

ผู้บริหารได้ตั้งเป้าในการขายที่ดินใน 2566 นี้ จำนวน 2,250 ไร่ (แบ่งเป็นที่ไทย 1,500 ไร่ และ เวียดนาม 750 ไร่ เติบโต 131% และ224% เทียบกับปีก่อนตามลำดับ)

.

ในไตรมาส 1 ปี 66 AMATA ขายที่ดินได้ 310 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 14 % ของเป้ายอดขายรายได้รวม (อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด) หลักๆมาจากกลุ่มลูกค้าจีน ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

.

ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะทำให้ AMATA มียอดขายที่เติบโตขึ้นได้ คือเรื่อง การเปิดประเทศของจีน และการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยจากความกังวลเรื่อง Trade War เพราะลูกค้าจีน ถือเป็นลูกค้าหลักของ AMATA (ในนิคมระยอง ลูกค้าหลัก คือประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน 36% ในนิคมชลบุรี ลูกค้าหลัก คือ ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 56%)

.

อย่างไรก็ตาม AMATA คาดว่าในปี 2566 จะเริ่มมียอดขายที่ดินจากนิคมฯ ใหม่ในประเทศ สปป.ลาว เข้ามา 200-300 ไร่ อีกด้วย

.

แม้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มหุ้นที่น่าจับตามอง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในหลายๆปัจจัยแต่ก็ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ที่นักลงทุนคงต้องเฝ้าระวังอยู่ เช่น ปัจจัยเศรษฐกิจโลก ที่อาจมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในไทยก็อาจน้อยลง ความไม่แน่นอนในเรื่องของการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม และความเสี่ยงของธุรกิจเอง ที่ยังมีความเสี่ยงเรื่องการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ทำให้ดีลลูกค้าที่คิดว่าจะได้ อาจจะไม่ได้ ส่งผลให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าได้นั่นเอง

.

ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนยังคงต้องศึกษาข้อมูลและติดตามข้อมูลต่างๆ เช่น ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราสนใจอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจลงทุนนะคะ

.

***************

.

เขียนและเรียบเรียงโดย : พัทธนันท์ เตชะเสน (Investment Frappe)

.

 

 


พายุ