ห้องเม่าปีกเหล็ก

GDP ไทย ขยายตัวต่ำ เน้นจําเป็นลดดอกเบี้ย

โดย OVERMoney
เผยแพร่ :
76 views

GDP ไทย ขยายตัวต่ำ เน้นจําเป็นลดดอกเบี้ย

เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.7% YoY ในไตรมาส 4/66 น้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.6% YoY และ GDP รวมปี FY66 รายงานที่ 1.9% น้อยกว่าที่ตลาดมอง 2.2%

 

สศช. ปรับลดประมาณการ GDP ในปี FY67 ลงเป็น 2.2-3.2% (ค่ากลางที่ 2.7%) จากเดิมที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%)

 

เราเชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นเหตุผลที่เหมาะสมให้ธปท. พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลง 25-50bps เป็น 2.00-2.25% ในปีนี้

 

Investment highlights

 

GDP ไทยรายงานออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

GPP ไทยหดตัว 0.6% QoQ แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.7% YoY ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% YoY ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี FY2566 ขยายตัว 1.9% น้อยกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 2.2% และลดลงจาก 2.5% ในปี 2565 โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอตัว การลงทุนจากภาครัฐที่ลดลงและการเร่งตัวของการนำเข้า

 

การบริโภคชะลอตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนรอมาตรการจากภาครัฐ

การบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 7.4% YoY ในไตรมาส 4/2566 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากที่ 7.9% YoY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยโมเมนตัมการใช้จ่ายเงินชะลอตัวลงเนื่องจากผู้บริโภครอโครงการลดหย่อนภาษีใหม่ “Ease e-Receipt” ที่ให้ใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาของโครงการคือวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567

 

การใช้จ่ายเงินของภาครัฐลดลงจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ล่าช้า

แม้หน่วยงานภาครัฐสามารถเบิกจ่ายเงินตามวงเงินงบประมาณเดิมประจำปี 2566 ไปพลางก่อนได้สำหรับรายจ่ายประจำโดยอิงจากหลักเกณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่การใช้จ่ายของภาครัฐยังปรับตัวลดลง 3.0% YoY ใน 4/2566

 

 

การลงทุนทรงตัวโดยการขยายตัวของภาคเอกชนถูกหักกลบด้วยภาครัฐที่หดตัว

การลงทุนรวมทรงตัว YoY ในไตรมาส 4/2566 เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% YoY ถูกหักล้างด้วยการลงทุนของภาครัฐที่ลดลง 20% YoY จากการเห็นชอบอนุมัติร่างงบประมาณประจำปี FY2567 ที่ล่าช้า

 

การส่งออกฟื้นตัวช้าจากกลุ่มผลิตที่อ่อนตัวลง

การส่งออกเพิ่มขึ้น 4.9% YoY ใน 4/2566 หนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องที่ 15% YoY ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง 3% YoY จากภาคการผลิตที่อ่อนแอ

มุมมอง KS

 

ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอเหมาะสมที่จะใช้ผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน

 

เราเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นปัจจัยที่มีความเหมาะสมหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาใช้มาตรการผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน โดยเรามองว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25-50bps จาก 2.50% เป็น 2.00-2.25%

 

และหากมองไปข้างหน้าเราคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ชัดมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 หนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น การใช้เบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐและการบริโภคของเอกชนที่เร่งตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งมี upside จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหากสามารถผ่านกระบวนการทางกฎหมายและใช้ได้จริง

 

เราคาดว่ากลุ่มค้าปลีกและกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้ประโยชน์จากการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณ เช่นเดียวกับกลุ่มการเงิน, ICT, และพลังงานจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ขณะที่แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าคาดจะส่งผลบวกต่อกลุ่มส่งออกเช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและกลุ่มสินค้าเกษตร

 

 

 

 


OVERMoney