ห้องเม่าปีกเหล็ก

ไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส

โดย BeArt
เผยแพร่ :
61 views

นักเศรษฐศาสตร์ แนะไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ต้องเร่งปรับโครงสร้างศก.

  • เกียรตินาคินภัทร มอง ไทยกำลังเผชิญ “วิกฤตใหญ่” จากนโยบายทรัมป์
  • อย่าปล่อยให้วิกฤตสูญเปล่า ควรใช้เป็นโอกาสในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ
  • ไทยได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะสหรัฐคือคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 สัดส่วน 18% ของส่งออก
  • ไทยถูกบีบให้ “เลือกข้าง” ระหว่างจีนกับสหรัฐ
  • แนะ ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มากกว่าการแจกเงิน การอัปสกิลแรงงาน-ส่งเสริมนวัตกรรมเป็นทางรอด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ไทยกำลังเสียเปรียบเวียดนาม-ลาตินอเมริกา ในห่วงโซ่อุปทานใหม่ของสหรัฐ
  • ไทยเผชิญความอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นจากภาคท่องเที่ยว-ส่งออก
  • เชื่อทางรอดช่วยธุรกิจไทย ผ่านซอฟต์โลน  อาจไม่ยั่งยืน แนะช่วยอุตสาหกรรมยั่งยืนไม่ใช่อุ้มทุกกลุ่ม

 

 

ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกรม “Roundtable: The Art of (Re)Deal” ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “ศึกที่ค่อนข้างหนักหนา” และไม่ควร “waste a useful crisis” หรือปล่อยให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปโดยไม่ใช้เป็นโอกาสในการปรับตัว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยวางโครงสร้างซัพพลายเชนและพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่บนพื้นฐานของโลกาภิวัตน์ (Globalization)

โดยผนวกตัวเองเข้ากับห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) และอยู่ภายใต้กรอบกติกาสากล เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และหลักการ MFN (Most Favored Nation) ที่ให้สิทธิพิเศษอย่างเท่าเทียมในหมู่ประเทศสมาชิก ยกเว้นกรณีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)
 

แต่ในครั้งนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังเปลี่ยนแนวทางโดยสิ้นเชิง มุ่งเน้น “preferential treatment” หรือให้ความสำคัญกับสหรัฐเป็นพิเศษ ภายใต้นโยบาย America First ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการ ได้แก่
    1.    การเปิดภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น ลดภาษี และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers)
    2.    การย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐ
    3.    การควบคุมการส่งออกผ่านประเทศที่สาม หรือประเด็น “Transshipment”

จุดมุ่งหมายของสหรัฐคือการ “disrupt” หรือรบกวนห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยมี “จีน” เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งจะทำให้หลายประเทศ รวมถึงไทย ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก (Trade-off) ทั้งในมิติของภาคอุตสาหกรรมกับเกษตรและบริการ รวมถึงแรงกดดันในการเปิดตลาด

ไทยได้รับผลกระทบแน่นอน

สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% เมื่อ 5 ปีก่อน เป็น 18% ในปัจจุบัน สินค้าสำคัญที่ส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ปิโตรเคมี ยาง จิวเวลรี่ และอาหาร โดยบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับประเด็น transshipment หรือการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า

แม้ประเด็นหลักจะไม่ใช่แค่ผลกระทบโดยตรง แต่คือ “ผลกระทบเชิงเปรียบเทียบ” เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้รับผลกระทบโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบยังลุกลามถึงการลงทุน ด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง โดยหากไม่มีการเจรจาที่ชัดเจน ทุกอย่างจะยังคง “ลอยอยู่ในอากาศ” ซึ่งจะบั่นทอนความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว

ไทยกำลังถูกบีบให้เลือกระหว่างสหรัฐกับจีน

ปัญหาไม่ได้จำกัดแค่ภาคอุตสาหกรรม แต่ครอบคลุมถึงภาคเกษตรและบริการด้วย หากไทยต้องเปิดตลาดตามแรงกดดัน คำถามคือเราจะมี “กลไกในการชดเชย” และ “บรรเทาผลกระทบ” อย่างไร

แม้ภาคเกษตรสร้างมูลค่าเศรษฐกิจน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม แต่แรงงานที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ การตัดสินใจจึงไม่ง่าย โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมเกษตรไทยที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนและเทคโนโลยีได้

อีกหนึ่งความท้าทายคือ นิยามใหม่ของ “Transshipment” ที่สหรัฐอาจหันมาใช้คำว่า Regional Value Content (RVC) มากกว่า Domestic Value Added โดย RVC หรือ “มูลค่าที่เพิ่มขึ้นภายในภูมิภาค” เป็นเกณฑ์ที่ใช้ใน FTA แทบทุกฉบับ คำถามคือ “ประเทศใดบ้างที่ถูกนับรวมในภูมิภาคนั้น?”

หากสหรัฐต้องการกีดกันจีน (Alienate China) ก็อาจจัดกลุ่มภูมิภาคใหม่แล้วตัดจีนออกเพียงประเทศเดียว ซึ่งจะส่งผลทันทีต่อห่วงโซ่อุปทานของไทย เช่น หากสินค้าส่งออกต้องมี RVC อย่างน้อย 60% และต้องลดส่วนประกอบจากจีนให้ต่ำกว่า 50% หรือเป็นศูนย์ จะทำให้อุตสาหกรรมไทยจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติตามได้

ไม่ใช่แค่กรณี “สวมสิทธิ์” แบบที่ส่วนประกอบจากจีน 80-90% ถูกนำเข้ามาประกอบในไทยและส่งออกอีกต่อไป แม้จะมีส่วนประกอบจากจีนเพียงบางส่วนก็อาจถูกตัดสิทธิ์เช่นกัน

ถ้าเลือกข้างไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันได้

ดร. พิพัฒน์ ย้ำว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือเป็น “วิกฤต” ที่ไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า (Don’t waste a good crisis) ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่พึ่งการเยียวยาระยะสั้น เช่น การแจกเงินเพียงอย่างเดียว

ความสำคัญอยู่ที่การ “อัปสกิลแรงงาน” และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เงินเยียวยาอาจช่วยชั่วคราว แต่หากไม่มีการลงทุนในทักษะและนวัตกรรม ผลลัพธ์ระยะยาวอาจไม่ต่างจากเดิม

"ช่วงที่ WTO บังคับให้เปิดเสรี ซึ่งไทยยังสามารถแข่งขันได้ แต่รอบนี้ยากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกประเทศเปิดเสรีพร้อมกันอีกต่อไป กลับกลายเป็นการต่อรองรายดีล ทำให้ไทยมีเวลาปกป้องอุตสาหกรรมได้น้อยลง"

 

“ไทยกำลังเสียเปรียบเวียดนาม”

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ภายใต้นโยบาย America First สหรัฐมีเป้าหมายชัดเจนในการลดบทบาทของจีน และดูเหมือนว่าจะไม่ต้องการให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการผลิตอีกต่อไป

แม้ไทยอาจมองว่าแข่งกับเวียดนามที่มีภาษีสูงกว่า 10% หรือมาเลเซีย 25% แต่ความจริงคือสหรัฐหันไปให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานในลาตินอเมริกาแทน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาในภาคหลักอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออก แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ซอฟต์โลน แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้จริง

เขายกตัวอย่างสหรัฐที่เคยให้ซอฟต์โลนแก่บริษัทโซลาร์ในแคลิฟอร์เนียกว่า 500 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายบริษัทล้มละลายภายใน 5 ปี

ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่จีนกลับประสบความสำเร็จจากการใช้ซอฟต์โลนควบคู่กับ R&D และการสนับสนุนที่ส่งเสริมการแข่งขันภายในจนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV), แบตเตอรี่ และโซลาร์เซลล์

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรใช้เครื่องมือช่วยเหลือไปยังอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และควรเน้นการสร้างนวัตกรรมผ่านการแข่งขันภายใน ไม่ใช่การอุ้มชูแบบไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนภาคเกษตร ซึ่งเปรียบได้กับ “น้ำซึมบ่อทราย” ที่ทำให้เกษตรกรยังคงยากจน และเป็นต้นเหตุที่ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง

ในด้านภาษี “ทรัมป์” หากเทียบกับเวียดนาม ไทยกำลังเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด หากนักลงทุนต่างชาติจะเลือกมาลงทุนในภูมิภาคนี้ และต้องเลือกระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ซึ่งอาจถูกเก็บภาษี 20% ขณะที่ไทยโดนภาษี 36% มาเลเซีย 25% และสิงคโปร์ 10% ตัวเลขเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลกระทบด้านการส่งออกในปีนี้ อาจยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก เพราะมีการส่งออกล่วงหน้าไปเกือบหมดแล้ว และคาดว่าครึ่งหลังของปี การส่งออกอาจติดลบ แต่ผลกระทบที่แท้จริงจะปรากฏในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการตัดสินใจลงทุนที่นักลงทุนกำลังรออยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นใจ และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนและโครงการขนาดใหญ่ชะงักงันในระยะต่อไป

สำหรับประเทศไทย ไม่เพียงแต่ผลกระทบจากภาษีทรัมป์เท่านั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ได้ ซึ่งยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) ที่สหรัฐให้ความสำคัญ หนึ่งในอุปสรรคของไทยคือ ถูกมองว่าพิธีการทางศุลกากรของไทยมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจนำไปสู่การคอร์รัปชันได้ ดังนั้น ครั้งนี้จึงอาจถือเป็นโอกาสที่ไทยจะปรับปรุงระบบดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพื่อสหรัฐ แต่เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าลงทุนยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับนักลงทุนต่างชาติและในประเทศ

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยเริ่มมีบทบาทลดน้อยลงในเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของไทยคิดเป็นประมาณ 1% ของโลก และการส่งออกก็อยู่ที่เพียง 1% กว่า ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่สหรัฐไม่มองว่าประเทศไทยมีความสำคัญมากนักในการเจรจา

“ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องทำให้ตัวเอง ‘สำคัญ’ และใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ทั้งการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างจริงจัง และการปฏิรูปการศึกษา เพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาว”

นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยไม่ควรละเลยภาคเกษตรกรรม และควรหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อไม่ให้วนเวียนอยู่ในวังวนเดิม ๆ

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเยียวยาคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันไทยมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น เวียดนามที่มีการลดจำนวนข้าราชการลง ดังนั้น ไทยควรเร่งดำเนินการ Digitalization ของระบบราชการอย่างจริงจัง รวมถึงผลักดันให้ทุกขั้นตอนเป็นแบบ One-Stop Service เพื่อแก้ไขปัญหาระบบราชการที่ยุ่งยาก ลดการคอร์รัปชัน และลดการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก

รวมถึงควรเร่งดำเนินการ “กิโยติน” (Guillotine) อย่างจริงจัง หมายถึง การปฏิรูปและตัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นออก

สิ่งสำคัญอีกประการคือ การส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรม จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพราะหากไม่มีการแข่งขัน ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตโดยไม่ต้องแข่งขัน ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามา

การขาดการแข่งขันเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศ ธุรกิจไทยหลายแห่งยังคงทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มักอยู่ในฐานะรับจ้างผลิตหรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยไม่มีแบรนด์ของตัวเอง

อีกทั้งยังมองว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบันอาจถูก “ปกป้องมากเกินไป” จนไม่มีแรงจูงใจในการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขัน

ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาสนับสนุนรูปแบบ Venture Capital สำหรับผู้ประกอบการที่มีไอเดียดี ๆ พร้อมกับการสนับสนุนด้านกฎระเบียบและด้านการเงิน เพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จริง

รวมไปถึงการเปิดการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้ ไม่ใช่แค่เพราะรัฐบาลอุ้มไว้

ปัญหาค่าเงินบาท สะท้อนปัญหาการขาดการลงทุน

ในมุมมองด้านค่าเงินบาท พบว่าสาเหตุที่ค่าเงินแข็งค่าสวนทางกับพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นเพราะ “ขาดการลงทุน” แม้จะมีเงินออมในระบบเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีช่องทางให้ลงทุน ทุกภาคส่วนเริ่มหมดไอเดีย

ดังนั้น หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในทิศทางนี้อีกระยะหนึ่ง ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าลง โดยหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ค่าเงินอ่อนในช่วงครึ่งหลังของปีคือ การส่งออกที่ชะลอตัว

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของภาครัฐ (Credit Rating) ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70%

“หากรัฐบาลไม่รีบจัดการปัญหาเหล่านี้ ธุรกิจต่าง ๆ อาจไม่สามารถอยู่รอด สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เพียงแค่แจกเงิน แต่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลายโครงการแจกเงินพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง”

 

ที่มา…  https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1189400

 


BeArt