ห้องเม่าปีกเหล็ก

“บาจา”เฮอริเทจ สู่..รันเวย์แฟชั่น

โดย knowledge_trader
เผยแพร่ :
127 views

 

เมื่อรองเท้าไม่ใช่แค่ สิ่งปกป้องเท้าอีกต่อไปแต่คือแฟชั่น ได้เวลา“บาจา”แบรนด์เก๋ายุคสงครามโลก ขายบุคลิกใหม่ “เซ็กซี่ปนกวน” ท้าทายปีที่123

 

ชื่อของ “บาจา” เป็นธุรกิจครอบครัวที่  “โทมัส บาจา” ถือกำเนิดโรงงานผลิตรองเท้าด้วยเครื่องแทนทำมือทีละคู่ ณ เมืองชลิน สาธารณรัฐเช็ก ด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกล ตั้งแต่ยุคนั้น ผลิตรองเท้าให้คนทั้งโลกใส่

 

จากนั้น ชื่อตระกูลก็กลายมาเป็นแบรนด์ส่งผ่านธุรกิจครอบครัวมาถึง 10 รุ่น โดยปัจจุบันมี โทมัส จี บาจา (Thomas G.Bata) หลานในฐานะทายาทรุ่น 3 ของผู้ก่อตั้ง อยู่ในตำแหน่งเป็นประธานบริษัท

 

อาจกล่าวได้ว่า “บาจา” คือผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าเก่าแก่ที่สุดในโลก อีกองค์กรที่อายุเกินร้อย (อายุ 122 ปี ก่อตั้งค.ศ.1894) ก้าวเป็นบริษัทระดับโลก โดยมีสำนักงานครอบคลุม 70 ประเทศ มีพนักงานราว 3 หมื่นคน มีฐานผลิต 24 แห่ง รวมถึงมีร้านค้าปลีกรองเท้ากว่า 5,000 แห่งทั่วโลก

 

ความที่บาจาเติบโตยืนยาวมากับฐานการผลิตรองเท้าทั่วไป (Mass Production) จนคนทุกประเทศเข้าใจไปเองว่าว่า “บาจา” คือแบรนด์ที่ถือกำเนิดในประเทศนั้นๆ รวมถึงในไทย 

 

ภาพลักษณ์ของแบรนด์บาจา จึงเต็มไปด้วยความผูกพันใกล้ชิด ระหว่าง คนกับ แบรนด์

นั่นคือ “จุดแข็งที่สุด” ของการเป็นโรงงานผลิตรองเท้าแมส สวมใส่สบาย ตอบโจทย์ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้คนมายาวนาน

ทว่า จุดแข็งนี้ ในบางแง่มุมกลับกลายเป็น “จุดอ่อน-อุปสรรค” แบรนด์เก๋าทำให้การทำต่อยอดแบรนด์กับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ไม่ง่าย 

 

กลายเป็นเหตุผลหนึ่งของการดึง “ผู้นำขาโจ๋” อย่าง อเล็กซิส นาซาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบาจาคนใหม่ ที่มีประสบการณ์การตลาดพลิกโฉม แบรนด์ไฮเนเก้น และสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods -FMCG) เข้ามาเสริมทัพปรับตำแหน่งแบรนด์ (Re-positioning) จากแบรนด์เก๋าให้ดูทันสมัย ตอบโจทย์คนซื้อรองเท้าคนกลุ่มใหม่ๆ วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำรองเท้าแฟชั่นโลกให้ได้!

เป้าหมายสูงสุด อเล็กซิส กล่าวด้วยความมั่นใจว่า ต้องการขยับจากแบรนด์ 1 ใน 10 ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้า (Footwear)โลก โดยยอดการผลิต “1ล้านคู่ต่อวัน”

 

ไต่อันดับเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตรองเท้าโลก! 

 

เขายังระบุถึงสาเหตุของการเข้ามาแปลงโฉมบาจาในลุคใหม่ ว่าเกิดจากภูมิทัศน์การตลาด (Marketing Landscape)เปลี่ยน โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็ว จึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

 "เราอยู่ในยุคที่รองเท้าไม่ได้มีไว้สวมใส่แทนการเดินเท้าเปล่าอีกต่อไป แต่รองเท้าเป็นสิ่งสร้างความมั่นใจ เติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกให้คนสวมใส่ ปัจจุบันคนมีเงินมากขึ้น จึงซื้อรองเท้าเพื่อเหตุผลอื่นๆรองเท้าไม่ได้แทนสิ่งจำเป็นอีกต่อไป” ซีอีโอ อ่านใจผู้บริโภค

 

ก่อนวางกลยุทธ์การตลาดเขายังวิเคราะห์ตำแหน่งแบรนด์ของบาจาว่า จุดแข็งอยู่ที่อายุยืนยาว122ปี เติบโตมาพร้อมกับ “เรื่องราวประวัติศาสตร์” (Story) และฐานผลิตที่แข็งแกร่งทำให้บาจากลายเป็นแบรนด์ที่มีผู้บริโภคผูกพัน จงรักภักดี (Brand Loyalty) ทำให้มีฐานลูกค้าเก่าจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่

ทว่า บาจาก็มีจุดอ่อน ด้วยความที่เป็นองค์กรใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมรองเท้าขนาดใหญ่ที่กระจัดกระจายทั่วโลก นั่นเป็นอีกรอยต่อที่ขาดหายที่นักการตลาดต้องเข้ามาเชื่อมจุดแข็ง ของความเป็นฐานการผลิตรองเท้าที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ให้เข้ากับ การออกแบบที่ทันสมัย

 

ซีอีโอบาจา ยังเผยถึงแผนการตลาดด้วยการส่ง 3 อาวุธลับเจาะใจผู้บริโภค เพิ่มลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเก่า ผ่านหน้าร้าน (ออฟไลน์) และออนไลน์ชอปปิง ได้แก่

 

1.สินค้าคือราชา (Product is King) ยังเป็นจุดแข็งต่อกรกับคู่แข่ง ผลิตสินค้าที่ทุกคนอยากได้ บาจาจะเพิ่มสัดส่วนของสินค้ารองเท้าแฟชั่นมากขึ้น (Re-Balance) จากสัดส่วนแฟชั่นต่อรองเท้าทั่วไป 20/80 เพิ่มเป็นสัดส่วนเท่าๆกันที่ 50/50 ในอนาคต

 

“การพลิกโฉมครั้งใหญ่ของบาจา เราไม่ต้องการผลิตรองเท้าธรรมดา การตลาดมากมายไม่สำคัญเท่าเราผลิตสินค้าที่ทำให้ว่ามันเป็นของคุณ ทำให้รู้สึกว่าบาจาเป็นรองเท้าที่ไม่แก่ จึงเพิ่มการผลิตรองเท้าแฟชั่น เซ็กซี่ ควบคู่กับสวมใส่สบาย น่าเก็บสะสม มีสไตล์ เป็นต้นแบบแห่งการแต่งตัวแฟชั่น โดยใช้ดีเอ็นเอของบาจา ที่ความเก๋า Cool  สไตล์ Vintage ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น"

 

2.กลยุทธ์สร้างประสบการณ์การชอปปิง (Brand Experience) ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ จะสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ลูกค้า ระหว่างลูกค้าเลือกซื้อรองเท้าต้องทำให้ลูกค้าสนุก ลองรองเท้าแล้วชอบ พร้อมกับบริการประทับใจ (Fun,Fit, Service) ด้วยการทำให้ร้านเป็นหนึ่งในบทสนทนาระหว่างคนเข้ามาทดลองสินค้า

 

ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อมากมาย เราจึงต้องทำให้การชอปปิง เป็นประสบการณ์สร้างความสุข สนุก ตื่นเต้น (Excited) ไม่ว่าลูกค้าจะมาเลือกซื้อรองเท้ากับใคร ครอบครัว แฟน หรือเพื่อน บาจาจะต้องสร้างประสบการณ์ให้พวกเขามีบทสนทนาการเลือกรองเท้าได้ลองได้เปรียบเทียบรองเท้าและซื้อสินค้ากลับไป

 

ขณะเดียวกัน การเติบโตทางร้านออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่บาจาทิ้งไม่ได้ เพราะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นช่องทางที่สะดวก เปรียบเทียบราคา และรูปแบบได้ โดยที่ลูกค้านั่งอยู่ในบ้านไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้า 

 

บาจาถือเป็นแบรนด์รองเท้าแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวที่บุกตลาดรองเท้าทางออนไลน์อย่างจริงจัง โดยการเป็นพันธมิตรกับลาซาด้า(Lazada)เปิดร้านค้าออนไลน์ ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

 

3.การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเจาะไปที่กลุ่มคนทรงอิทธิพล หรือ "Swagger" ศัพท์แสลงที่หมายถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่นที่มีความมั่นใจ มีสไตล์การแต่งตัวของตัวเอง เป็นผู้นำแฟชั่น มาดเซ็กซ์ซี่ปนกวน พวกเขาเหล่านี้จะเป็นโมเดลส่งต่อแบรนด์บาจาในสไตล์การแต่งตัวของพวกเขา

@ไทยตลาดแห่งโอกาส

 

อเล็กซิส ยังเผยถึงการเดินทางมาเยือนไทยเมื่อเร็วๆนี้หลังรับตำแหน่งซีอีโอ ได้ราว 3-4 เดือน เพราะเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจก้าวกระโดด กับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่คนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น จึงมีรสนิยมการแต่งตัวมุ่งเน้นไปสู่ความเป็นแฟชั่นมากขึ้น

นั่นทำให้เขาต้องลงมาสำรวจตลาดพร้อมกันถ่ายทอดกลยุทธ์บาจา(ประเทศไทย) และในกลุ่มอาเซียน ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์บุกตลาดของเขาในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในทิศทางเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ ที่เป็นศูนย์กลาง(็ีิHub)การตลาดทั่วโลกประจำในภูมิภาคต่างๆ และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เหลือได้แก่ อินเดีย จีน ไทย สิงคโปร์ แอฟริกา เม็กซิโก อิตาลี ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

 

“ตลาดไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพของบาจา โดยยอดขายจะโตตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ราว 3.5%  มีพนักงาน1,000กว่าคน มีคลังสินค้า โดยยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี”

ทั้งนี้ บาจา (ประเทศไทย) เริ่มก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2472 หรือ 86ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดรองเท้า 3.7% ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 5% ภายในปี2563 หรือในอีก 4ปีจากนี้ 

การรุกทำการตลาด กลุ่มรองเท้าอย่างหนัก สำหรับบาจายังเป็นโจทย์ท้าทาย จากโอกาสและปัจจัยเสี่ยง เพราะตลาดรองเท้าในภาพรวม โตเพียง1-2% ขณะที่คู่แข่งในตลาดมีจำนวนมาก

 

ทว่า หากเป็นไปตามเป้าหมาย ที่รองเท้าแฟชั่นบาจาสามารถกระเพื่อมตลาดตามที่วางไว้ บาจาก็พร้อมขยายการลงทุนด้านโรงงานการผลิต รองรับยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าแฟชั่นในไทย

------------------------------

 

บาจาไม่ใช่แบรนด์ไทย 

 

หฤทัย ใจรักษ์ธรรม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงการพัฒนากลยุทธ์การตลาดบาจาว่า ด้วยศักยภาพของหน้าร้านค้าปลีกรองเท้ากว่า 272 สาขาทั้งในห้างสรรพสินค้าทั่วไป และไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี และเทสโก้โลตัส ร้าน Stand Alone บาจาถือเป็นแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุดในบรรดาร้านรองเท้าในไทย จึงต้องใช้หน้าร้านให้เกิดมูลค่า สร้างความตื่นเต้น ผ่านกิจกรรมและบริการต่างๆ

 

“10ปีที่ผ่านมาบาจาเริ่มทำตลาดแฟชั่นมากขึ้นและเติบโตเพิ่มขึ้น บางปีโตสองหลัก บางปีหนึ่งหลัก แต่เติบโตสูงกว่าตลาดรวมรองเท้า จึงเป็นโอกาสสำคัญที่บาจาจะทำตลาดในกลุ่มแฟชั่นได้สำเร็จ แม้ความรู้สึกของคนไทย ยังเห็นบาจาเป็นรองเท้านักเรียน แม้จะมียอดขายรองเท้านักเรียนเพียง10%เท่านั้น ที่เหลือเป็นรองเท้ารูปแบบอื่นนับพันรูปแบบที่ตอบโจทย์คนทั้งครอบครัว”

 

จุดแข็งของบาจา คือ ราคาที่ดึงดูดระหว่าง 500-700บาทต่อคู่ ตอบรับความต้องการผู้คนทั้งครอบครัว ตั้งแต่นักเรียนและผู้ปกครอง โดยพบว่าปัจจุบันคนไทยบริโภครองเท้าบาจาประมาณ 2 คู่ต่อคนต่อปี เป้าหมายของบาจาในไทย คือ ต้องการเพิ่มเป็น 4 คู่ต่อคนต่อปี

 

ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับห้างสรรพสินค้า จัดทำคอลเล็คชั่นพิเศษ บาจา เฮอร์ริเทจ ที่งัดเอารองเท้าบาจารุ่นคลาสสิคระดับตำนานมาทำเป็นคอลเล็คชั่น ผลิตจำนวนจำกัด (Limited Edition) กระตุ้นให้เกิดการรับรู้ความเป็นวินเทจของแบรนด์ และยังเป็นของสะสมสำหรับคนรักรองเท้า

 

หลังจากที่เปิดตัวไปรุ่นแรกในต้นปีที่ผ่านมา บาจาเทนนิส รุ่น บาจา เทนนิส เอ็กซ์ พีนัทส์ ด้วยลวดลาย การ์ตูน ชาร์ลส์ ปรากฎบนรองเท้ากว่า 200 คู่ พบว่ามีการต่อแถวซื้อหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้บาจากำลังเตรียมออกอีก 2 รุ่นพิเศษในเดือนหน้า “บาจา บุลเล็ต” รุ่น Astro boy และ Bata Julian Daus

 

บาจาเป็นแบรนด์ที่อยู่มายาวนานในหลายประเทศ จนทุกประเทศก็คิดว่าบาจาถือกำเนิดในประเทศของตัวเอง เมื่อบาจาอยู่ในไทยคนก็คิดว่าบาจาเป็นของคนไทย เช่นเดียวกันกับคนในประเทศเช็ก หรือในเม็กซิโก แอฟิกาและอินเดีย จึงไม่ต้องสร้างการรับรู้แบรนด์มากเพราะทุกคนคุ้นเคย สิ่งที่เติมความตื่นเต้นให้คนชอปปิงก็คือทำหน้าร้านให้ครื้นเครงตกแต่ง Display รองเท้าคอลเล็กชั่นใหม่ มีกิจกรรมสื่อสารกับคนซื้อ เพื่อเกิดประสบการณ์แปลกใหม่ในการซื้อสินค้าบาจา

 

นอกจากออกคอลเล็กชั่นใหม่ ในหลากหลายรุ่น ยังมีการเพิ่มไลน์การผลิตให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์บาจาที่เป็นแบรนด์ออกแนวแฟชั่น ประกอบด้วย แบรนด์ แมรี่ แคลร์พร้อมกันกับแตกแบรนด์แฟชั่น ที่อยู่ภายใต้ “บาจา” ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า อาทิ มารีแคลร์ กลุ่มรองเท้าผู้หญิง, บาจา คอมฟิต กลุ่มรองเท้าแตะ และคัชชูสำหรับผู้ชาย,พาวเวอร์ กลุ่มรองเท้ากีฬา และ Bubble gummers กลุ่มรองเท้าเด็ก

------------------------

 

“4 ความเชื่อ” เคลื่อนรันเวย์แฟชั่น

 

ไม้ต่อซีอีโอใหม่กับภารกิจแปลงโฉมรองเท้าบาจา สู่รันเวย์สไตล์ลิสต์แฟชั่น จำเป็นที่ผู้นำองค์กรต้อง “เชื่อ” และ “ศรัทธา” กับการขับเคลื่อนเป้าหมาย

อเล็กซิส นาซาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบาจา คนล่าสุด ชายชาวเลบานอน ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการตลาด พัฒนาธุรกิจมากว่า25ปี ให้กับแบรนด์ไฮเนเก้น และค่ายสินค้าในกลุ่มาอุปโภคบริโภค 

 

เมื่อเข้ามาเป็นแม่ทัพแปลงโฉมแบรนด์ “บาจา” ส่งต่อมูลค่าและคุณค่าแบรนด์ผ่านรองเท้า อเล็กซิส มองว่ามีทั้ง “ความเหมือน” และ “ความแตกต่าง” จากการทำงานที่ผ่านมา 

เขาเล่าว่า การคิดค้นผลิตภัณฑ์จากรองเท้า ยากกว่าการออกแบบสินค้าที่เคยทำมาอย่างกลุ่ม สบู่และยาสระผม เพราะมีกลไกที่ซับซ้อนกว่า ตั้งแต่ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ที่ต้องมีศิลปะ มีสไตล์ ต้องเชื่อมต่อกับการตลาด คนออกแบบ และโรงงาน

 

อเล็กซิส ยังมี 4 ความเชื่อที่ส่งพลังการทำงาน ประกอบด้วย 

ความมีวินัย (Discipline)

การเรียนรู้ตลอดเวลา (Learning)

การสร้างการมีส่วนร่วม(Collaboration)

และความมีรสนิยม (Style)

 

“ความมีวินัย” คือกุญแจสำคัญของการบริหารจัดการองค์กร ขับเคลื่อนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อไปถึงเป้าหมาย ทำให้การบริหารจัดการโปร่งใส เคารพหน้าที่และการตัดสินใของผู้นำอย่างมีกระบวนการ โดยไม่ต้องเสียเวลาโต้เถียง ขณะเดียวกันช่วยทำให้ใส่ใจรายละเอียดความต้องการผู้บริโภค

 

สิ่งที่สำคัญต่อมาคือ “การเรียนรู้ตลอดเวลา” ทำให้เข้าใจตลาดและสภาพความเปลี่ยนแปลง องค์กรประกอบการทำการตรลาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกวันนี้ ซึ่งการเรียนรู้ทำให้เข้าใจตลาดและค้นพบวิธีการหาทางออก ปรับปรุงพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นผู้รอดในยุคนี้

 

“หากคุณไม่เรียนรู้อย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกปัจจุบัน ก็ไม่ค้นพบกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมและไม่สามารถเป็นผู้ชนะ”

ความเชื่อถัดมา “การสร้างการมีส่วนร่วม” เป็นสิ่งองค์กรพัฒนาจากการสร้างเพื่อนที่ดี รวมใจเป็นหนึ่งเดียว มีความรักความสามัคคีที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนความสำเร็จ ด้วยปรัชญาที่คนคือเพื่อน จึงทำให้การทำงานอย่างมีความสนุก กับการสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน จึงเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

 

“การทำงานด้วยการ สร้างความไว้วางใจกันและกัน จะทำให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมในองค์กร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่รู้ทุกสิ่ง จึงต้องใช้ประสบการณ์ จุดแข็งและความถนัดของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนเข้าไปขับเคลื่อนสิ่งที่ซับซ้อนในปัจจุบันตั้งแต่เทคโนโลยี การออกแบบ การรตลาด”

 

ส่วน “ความมีรสนิยม” เป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีปฏิภาณไหวพริบ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ข้ามคืน การมีสไตล์ด้านการแต่งตัว มีความมั่นใจ ดูดี จะทำให้เป็นผู้ที่มีความมั่นใจ จะต้องมีส่วนผสมของการออกแบบที่ตรงความความเป็นตัวตน เป็นรองเท้าที่คนอยากซื้อ บวกกับศิลปะ และสร้างประสบการณ์การรับรู้

 

“สไตล์ความเป็นผู้นำที่ทำให้คนยอมรับในรสนิยมและเดินตามแฟชั่น ไม่ใช่แค่คิดแต่จะต้องมาจากการฝึกฝน ทำซ้ำอย่างหนัก เพื่อเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างประสบการณ์”

 

นับจากนี้ไป เขาบอกว่าจะเห็นอีเวนท์ใหญ่ๆ ของบาจาที่จะสร้างความตื่นเต้น แปลกใจ และสะกดสายตาคนติดตามวงการแฟชั่นได้

อเล็กซิส ยังเล่าถึง 3 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.บาจาจะประกาศเสียงดังๆ ว่าบาจามีสไตล์ และเป็นแฟชั่นรองเท้านำเทรนด์ โดยการโชว์ให้โลกรับรู้ 2.วางกลยุทธ์ดึงให้ทุกคนในบาจาเข้าใจในทิศทางเป้าหมายเดียวกัน และสุดท้ายคือการสร้างทีม ที่มีประสิทธิภาพ

 

ผมไม่ได้เก่งทุกอย่างรู้ทุกเรื่อง จึงต้องเดินทางไปทำงานกับคนทั่วโลก ไปเห็นของจริง และสื่อสารกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแบบดีไซน์จากชุมชนจริงๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทำงานด้วยกัน และช่วยเคลื่อนหัวเรือไปสู่เป้าหมาย


knowledge_trader