ประเมินมูลค่าหุ้นแบบง่าย ๆ ด้วยเงินปันผล - BillionMoney

การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่สร้างความปวดใจไม่น้อย สำหรับหลาย ๆ คน
เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ และทฤษฎีทางการเงินบางอย่าง มาช่วยในการคำนวณหามูลค่า
แถมวิธีในการประเมินมูลค่า ก็มีอีกหลากหลายวิธี
จนบางที เราก็อาจไม่รู้ว่า หุ้นตัวที่เราสนใจนั้น
ควรจะประเมินมูลค่าอย่างไร
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอยู่วิธีหนึ่ง ที่สามารถช่วยเรา ในการประเมินมูลค่า ได้อย่างง่าย ๆ
เหมาะสำหรับหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีรายได้และกำไรเติบโต สามารถจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งวิธีนี้ก็คือ “การประเมินมูลค่าหุ้น ด้วยเงินปันผล”
หรือ Dividend Discount Model
หากอยากรู้ว่า วิธีการดังกล่าวน่าสนใจอย่างไร
BillionMoney จะมาสรุปให้ฟัง
พร้อมตัวอย่างในการคำนวณ เพื่อให้เราเข้าใจแบบง่าย ๆ และทำเองได้ด้วย
สำหรับการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ด้วยเงินปันผลนั้น
สามารถหาได้จากสมการ ดังต่อไปนี้
มูลค่าที่แท้จริง = เงินปันผลปีล่าสุด x (1 + g) / (K - g)
โดยที่
- g = อัตราการเติบโตระยะยาวของบริษัท
- K = ผลตอบแทนที่เราคาดหวัง
เราอาจจะสงสัยว่า แล้วค่า g กับค่า K จะหามาจากไหน ?
โดยวิธีการในการคำนวณหาค่าทั้งสอง และการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น จะสรุปได้ดังนี้
1. หาอัตราการเติบโตระยะยาวของบริษัท (g)
เราสามารถคำนวณหาค่า g ได้โดย
g = ROE x (1 - Payout Ratio)
โดยที่
- ROE คือ ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
- Payout Ratio คือ อัตราการจ่ายปันผลจากกำไรสุทธิ
พูดง่าย ๆ ก็คือ การเติบโตของบริษัทขึ้นอยู่กับ กำไรหลังจากจ่ายปันผลออกไปแล้ว ซึ่งก็คือส่วนที่บริษัทเก็บไว้ลงทุน
และความสามารถของบริษัทว่า สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จะขอใช้ข้อมูลของ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH เป็นตัวอย่างในการคำนวณ
โดยในปี 2565 QH มี
- ROE เท่ากับ 9%
- Payout Ratio เท่ากับ 60%
ดังนั้น อัตราการเจริญเติบโตระยะยาว หรือค่า g ของ QH
เท่ากับเฉลี่ย 3.6% ต่อปี
2. หาผลตอบแทนที่เราคาดหวัง (K)
ในการคำนวณหาค่า K นั้น เราสามารถคำนวณได้จาก
K = Risk Free Rate + [ (Rm - Risk Free Rate) x Beta ]
โดยที่
- Risk Free Rate คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ ที่ปราศจากความเสี่ยง
โดยเราจะใช้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปี
- Rm คือ ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ในระยะยาว
โดย Rm ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เรากำหนดให้ อยู่ที่ประมาณเฉลี่ย 10% ต่อปี
- Beta คือ ค่าที่ใช้วัดผลตอบแทนของหุ้นแต่ละตัว
เมื่อเทียบกับ ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์
หรืออีกนัยหนึ่ง Beta ยังใช้วัดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้น เปรียบเทียบกับดัชนีได้อีกด้วย
ถ้า Beta มากกว่า 1 หมายความว่า หุ้นตัวนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าดัชนี
ถ้า Beta น้อยกว่า 1 หมายความว่า หุ้นตัวนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าดัชนี
และถ้า Beta เท่ากับ 1 หมายความว่า หุ้นตัวนั้นมีความเสี่ยงเท่ากับดัชนี
ซึ่งเราสามารถหาค่า Beta ตรงนี้ได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยค่า Beta ของ QH เท่ากับ 0.38
จะได้ว่า ค่า K หรือ ผลตอบแทนที่เราคาดหวัง
เท่ากับ 5.66% ต่อปี
3. คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น
ในปีล่าสุด QH จ่ายปันผลที่ 0.14 บาทต่อหุ้น
อย่างที่กล่าวไปตอนต้น โดยเราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ได้จากสมการนี้
มูลค่าที่แท้จริง = เงินปันผลปีล่าสุด x (1 + g) / (K - g)
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว QH จะมีมูลค่าที่แท้จริง
ราว 7.04 บาทต่อหุ้น
ต่อมาเราก็นำมูลค่าที่เราประเมินผ่านวิธีการนี้
ไปเทียบกับราคาในตลาดว่า มีการซื้อขายสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราคงเข้าใจวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ด้วยเงินปันผลกันไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เองก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน
เพราะถ้าเราคำนวณมาแล้วพบว่า (K - g) เกิดติดลบขึ้นมา ก็จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงติดลบตามไปด้วย
โดยเราสามารถปรับค่า g ให้มีความสมเหตุสมผล
ซึ่งอาจจะกำหนดให้ค่า g = 3% ซึ่งเท่ากับอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ประเทศไทย ในระยะยาวก็ได้
และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ วิธีนี้ไม่เหมาะกับการประเมินมูลค่าหุ้น ที่ไม่เคยจ่ายเงินปันผลเลย หรือจ่ายเงินปันผลไม่สม่ำเสมอ
ดังนั้น การประเมินมูลค่าด้วยวิธีนี้ จึงต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอด้วย
สุดท้ายนี้ แน่นอนว่าวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น มีหลากหลายวิธี เช่น การประเมินมูลค่าด้วย P/E และ P/BV เป็นต้น
ซึ่งเราอาจจะใช้วิธีอื่น ๆ มาช่วยในการประเมินมูลค่า
เพื่อให้เห็นภาพการประเมินมูลค่ามากขึ้นด้วยก็ได้
แต่ที่สำคัญที่สุด เราควรที่จะต้องเข้าใจในตัวธุรกิจของบริษัท ก่อนที่จะประเมินมูลค่าทุกครั้ง
เพื่อให้เราไม่ติดกับดักอยู่กับการคำนวณหามูลค่า แต่ไม่ได้เข้าใจในคุณภาพที่แท้จริงของกิจการเลยนั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ ไม่ได้เป็นการชี้นำให้ใครซื้อหุ้นตามตัวอย่างที่ใช้ในบทความ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References
-หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ตอน มหัศจรรย์ผลตอบแทน (2559) โดย กวี ชูกิจเกษม
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/QH/price