งบประมาณ 64 ทะลุ 3.3 ล้านล. กู้ชดเชยขาดดุล 5 แสนล้านดันจีดีพีโต 4%
คลัง-แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ชง “พล.อ.ประยุทธ์” เคาะงบประมาณปี 2564 ทะลุ 3.3 ล้านล้าน กู้ชดเชยขาดดุล 5.23 แสนล้าน งบฯลงทุน 6.93 แสนล้าน หวังจีดีพีโต 3.1-4.1% ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และคู่ค้า ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ร่วมกับ 4 หน่วยงานทางการเงินการคลัง ประกอบด้วยสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นวงเงินจำนวน 3,300,000 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1เป็นประมาณการรายได้สุทธิรัฐบาลจำนวน 2,777,000 ล้านบาท
และเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลจำนวน 523,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 8,242,358 ล้านบาท หรือร้อยละ 45 ของ GDP ภายใต้สมมุติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ 3.1-4.1 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.7-1.7 งบประมาณรายจ่ายลงทุนจำนวน 693,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 37,194.3 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังคงเป็นนโยบายขาดดุลงบประมาณ โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนภาครัฐยังมีความจำเป็นเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ มีการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยแผนการจัดทำงบประมาณสมดุลตามแผนนโยบายการคลังปี 2564-2567 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น และเริ่มลดลงในปี 2567 เพราะจะมีความจำเป็นต้องกู้เงินน้อยลง เนื่องจากช่วงนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล และหลังจากปี 2567 หนี้สาธารณะจะลดลงเนื่องจากกู้เงินลดลง ทั้งนี้ เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 7 มกราคม 2563
นางนฤมลกล่าวว่า สศช. และ ธปท. รายงานเศรษฐกิจไทยปี 2563 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
การลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563-2564 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่อาจต่ำกว่าการคาดการณ์ ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทั้งนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.6 ของ GDP
นางนฤมลกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง การลงทุนรวมมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะตามการขยายตัว ของการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวชัดเจนมากขึ้น และการลงทุนภาครัฐจะยังขยายตัวในเกณฑ์สูง
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.3 ของ GDP
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก