Good Morning News โดยกองทุนบัวหลวง, มิตรแท้ตลอดเส้นทางลงทุน
30 พฤศจิกายน 2559
..............................
ณัฐพัช กิตติปวณิชย์, Fund Management
Guru Quote
“ขณะนี้ความเสี่ยงที่สุด [ในยูโรโซน] มีต้นทางมาจากการเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำจนนานเกินไป ก็จะทำให้ความเสี่ยงในตลาดการเงินพุ่งขึ้น”
Mario Draghi, ECB President
General News
• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในยูโรโซนเดือน พ.ย. เพิ่มเป็น -6.1 สืบเนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น และแนวโน้มตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 106.5 เพราะความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมย่ำแย่ลง จนถ่วงรั้งมุมมองที่ดีขึ้นในภาคการค้า การก่อสร้าง และกลุ่มผู้บริโภค
• อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือน พ.ย.ยังคงอยู่ที่ 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังไม่สะท้อนผลไปยังดัชนีชี้วัด แต่ก็ประเมินกันว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มเร่งตัวขึ้นในปีหน้า ด้วยแรงขับจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาอาหาร หรือค่าเช่า ที่มีแนวโน้มดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
• ผลผลิตมวลรวมในฝรั่งเศสประจำไตรมาสที่ 3 เติบโต 2.0% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวอย่างเชื่องช้า เนื่องจากเหตุก่อการร้ายหลายครั้ง ซึ่งคอยฉุดรั้งภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริโภคภายในที่ยังไม่สดใส (การใช้จ่ายในครัวเรือนในไตรมาส 2 และ 3 ไม่เติบโต) และอุปสงค์ต่อสินค้าจากสหราชอาณาจักรยังถูกกดดันจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินยูโรในช่วงดังกล่าว
• อัตราเงินเฟ้อของสเปนในเดือน ต.ค. เบื้องต้นทรงตัวที่ 0.7% สืบเนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยลดลง 0.4% ทว่าราคาภาคขนส่งและอาหาร-เครื่องดื่มกลับดีดตัว 1.7% และ 0.3% ตามลำดับ ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสเปนอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่เดือนสิงหาคม 2556
• สินเชื่อผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรในเดือน ต.ค.อยู่ที่ 1.62 พันล้านปอนด์ เติบโตจาก 1.48 พันล้านปอนด์ในเดือนก่อนหน้า นับว่าขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 11 เดือน และยังมียอดอนุมัติเงินกู้จำนองสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง
• ผลผลิตมวลรวมของสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.2% นับว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวเกินคาด ขณะที่การลงทุนประกอบธุรกิจเติบโตน้อยกว่าที่ประเมินไว้เพียงเล็กน้อย ทำให้ตัวเลขผลรวมบ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง
• การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนในสหรัฐฯประจำไตรมาส 3 ปรับขึ้นเป็น 2.8% เนื่องด้วยการฟื้นตัวของสินค้าและบริการอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ในหมวดสินค้าไม่คงทนจะหดตัวอยู่บ้างก็ตาม
• อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. ทรงตัวที่ 3% หลังปรับลดลงต่อเนื่องจนต่ำกว่า 3.5% ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 ทว่าความแข็งแกร่งในตลาดแรงงาน กลับมิได้ส่งผลบวกไปยังการจับจ่ายใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่อย่างใด อีกทั้งสภาวะเงินฝืดยังคงกดดันเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
• ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. หดตัวลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แล้ว โดยในไตรมาสที่ 3 การใช้จ่ายส่วนบุคคลเติบโตจากไตรมาสก่อนเพียง 0.1% และการใช้จ่ายในครัวเรือนโดยรวมลดลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี จนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน ต.ค. ด้วยการร้องขอให้ผู้ประกอบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้าง ก่อนที่จะต่อรองกับสหภาพแรงงานในปีหน้า
• คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในระหว่าง 1-31 ธ.ค. 2559 โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งรัฐต้องสูญเสียรายได้ราว 150 ล้านบาท แต่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ส่วนมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ยังไม่มีการพิจารณา
Equity Market
• SET Index (29 พ.ย.) ปิดที่ 1,497.18 จุด ลดลง 3.60 จุด หรือ -0.24% มูลค่าซื้อขายรวม 49,000.47 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยผิดหวังที่มาตรการช็อปช่วยชาติ ยังไม่ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.วานนี้ อีกทั้งยังต้องติดตามผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ในวันนี้ ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ในเอเชียและยุโรปส่วนใหญ่ ปรับขึ้นเล็กน้อย
สรุปยอดสุทธิการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม
นักลงทุนสถาบัน -374.09 ล้านบาท
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ +1,218.09 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติ -3,025.86 ล้านบาท
นักลงทุนทั่วไป +2,181.85 ล้านบาท
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.01% ถึง +0.01% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 106,541.81 ล้านบาท ในวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 29 ปี 11 เดือน มูลค่า 13,000 ล้านบาท