ห้องเม่าปีกเหล็ก

สองหุ้นเด่นกลุ่มนิคมฯ

โดย dave
เผยแพร่ :
49 views

เทียบฟอร์ม AMATA-WHA สองหุ้นเด่นกลุ่มนิคมฯ

หนึ่งในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งรัดการบริโภคของรัฐบาล คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้กลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในไทยลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ภาพรวมเริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับจีนสามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้แล้ว ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนค่อยๆ ฟื้นตัว และน่าจะเป็นสัญญานที่นักลงทุนจีน จะเริ่มกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง


เมื่อพูดถึงหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมคงหนีไม่พ้นสองยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)  หรือ AMATA  ที่นักลงทุนให้ความสนใจเสมอ วันนี้ Wealthy Thai จึงอยากนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ ของทั้งสองบริษัท เพื่อให้นักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน


โดยทั้งสองบริษัทมีลักษณะธุรกิจเดียวกัน คือ พัฒนาที่ดิน รวมถึงบริหารจัดการสาธารณูปโภค พลังงาน และให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายในอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เหมือนกันอีกด้วย

 

 

WHA ราคาหุ้นไม่ไปไหน สวนทางผลงานที่โตต่อเนื่อง

เริ่มต้นที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของ WHA ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทรดอยู่ที่ระดับ 2.00-3.00 บาท และเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 5.00 บาท ในวันที่ 3 ก.ย. 62 ดันมาร์เก็ตแคปพุ่งไปอยู่ที่ 73,545.49 ล้านบาท หลังจากนั้นราคาหุ้นปรับลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 2.06 บาท ในวันที่ 26 มี.ค. 63 กดมาร์เก็ตแคปให้ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 30,790.48 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของ WHA ปรับตัวลดลง 29.38%


สวนทางกับผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2559 บริษัทมีรายได้  19,324.97 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,898.16 ล้านบาท, ปี 2560 มีรายได้ 12,409.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,266.43 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้ 11,622.20 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,906.81 ล้านบาท และปี 2562 รายได้ 13,385.81 กำไรสุทธิ 3,229.25 ล้านบาท

 

 

ผู้บริหารยังเชื่อมั่น ปี 2563 ขายที่ดินได้ตามเป้า

ขณะเดียวกันปี 2563 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่ยากลำบากพอสมควร เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยหยุดชะงัก โดยกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ก็ได้รับผลกระทบในแง่ของลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วยตัวเอง หรือขอเลื่อนเซ็นสัญญาออกไปก่อน 


นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เคยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากกรณีลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วยตัวเอง และบางรายขอเลื่อนเซ็นสัญญาออกไปก่อน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มลูกค้ารายใดยกเลิกสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่ง รวมถึงจุดแข็งของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอฯ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี


ดังนั้นบริษัทคาดหวังว่า ภายในครึ่งปีหลัง วิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทย จะสามารถคลี่คลายไปทางทิศทางที่ดีขึ้น และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน สามารถกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาพรวมยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะกลับมาเติบโตได้ตามแผนเดิมที่บริษัทวางไว้ โดยตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2563 จำนวน 1,400 ไร่ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมในไทย จำนวน 1,200 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม จำนวน 200 ไร่

 

 

โบรกคาดกำไรหดตัวน้อยกว่ากลุ่มนิคมฯ – ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย

นักวิเคราะห์ บริษัท หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ของ WHA จะอยู่ที่ 125 ล้านบาท หดตัว 69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 90% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 เนื่องจากรายได้จากการขายที่ดินลดลง และไม่มีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน ประกอบกับโอนที่ดินได้เพียง 65 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าไตรมาส 1/62 ที่ทำได้ 92 ไร่ และไตรมาส 4/62 ทำได้ 248 ไร่ รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมค้าที่ลดลง เพราะรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่ธุรกิจโลจิสติกส์ยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากยอด pre-leased ในไตรมาสแรก คาดจะอยู่ที่ 4.5-5.0 หมื่นตารางเมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 3.2 หมื่นตารางเมตร เพราะได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 


อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 เพิ่มขึ้น 6% อยู่ที่ 3,210 ล้านบาท เพื่อสะท้อนรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนที่มากกว่าคาด โดยเพิ่มจำนวนพื้นที่ขายสินทรัพย์เข้ากอง HREIT จำนวน 5 หมื่นตารางเมตร จากเดิมที่ไม่มี ดังนั้นรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 3,278 ล้านบาท จากเดิม 1,598 ล้านบาท ทำให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังมีทิศทางดีขึ้น  ประกอบกับเลื่อนแผนการใช้น้ำไปในช่วงครึ่งหลังของปี โดยประเมินว่ากำไรสุทธิในปีนี้ของ WHA จะหดตัวประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะหดตัว 7%  จึงแนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 3.3 บาทต่อหุ้น จากเดิมอยู่ที่ 2.7 บาทต่อหุ้น


ส่วน AMATA ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เคยปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 28.50 บาท ในวันที่ 17 ม.ค. 61 มาร์เก็ตแคปในขณะนั้นอยู่ที่ 30,409.50 ล้านบาท หลังจากนั้นราคาหุ้นค่อนข้างผันผวน ก่อนจะปรับตัวลงต่อเนื่องหลังขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 28 ส.ค. 62 จนทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 9.15 บาท ในวันที่ 24 มี.ค. 63 โดยมาร์เก็ตแคปขณะนั้นอยู่ที่ 9,763.05 ล้านบาท และหากคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของ AMATA ปรับตัวลดลงถึง 36.32%


ส่วนผลประกอบการ ปี 2559 บริษัทมีรายได้ 5,057.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,198.27 ล้านบาท, ปี 2560 มีรายได้ 5,327.73 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,409.49 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้ 5,266.89 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,018.22 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 6,947.57 กำไรสุทธิ 1,742.06 ล้านบาท

AMATA  ชี้ COVID-19 ตรงกับช่วง Low season 

ด้านผู้บริหาร นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนรองรับภาพการลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ทั้งเรื่องพื้นที่รองรับการลงทุนที่มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะชิตี้ ชลบุรี และนิคมฯอมตะชิตี้ ระยอง ที่ปัจจุบันมีอยู่ที่ 14,000 ไร่ โดยรูปแบบการเปิดรับนักลงทุนจะพิจารณาตามความต้องการและเงื่อนไขของนักลงทุน ทั้งการซื้อและเช่าที่ดิน เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อลงทุนระยะยาวในนิคมฯของกลุ่มอมตะอย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้การเข้ามาของนักลงทุนชะตัวลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นจังหวะเดียวกับช่วง Low season ของกลุ่มบริษัทอมตะ ที่เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในช่วงไตรมาส 1-2 ของทุกปี

 

 

โบรกฯคาดปี 63 ยอดขายที่ดินลด

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ผู้บริหาร AMATA ยอมรับว่าการดำเนินงานของบริษัทถูกกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพราะทั้งทางบริษัทและลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาหากันเพื่อเจรจาธุรกิจได้ ดังนั้นบริษัทจึงน่าจะต้องปรับลดเป้ายอดขายที่ดินลงจากประมาณ 700 ไร่ คิดเป็นการเติบโต 10% จาก 648 ไร่ ในปี 2562 แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยังไม่อาจระบุแน่ชัดว่าจะปรับเป้ายอดขายที่ดินเป็นเท่าไหร่ เพราะบริษัทยังบอกไม่ได้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะกินเวลานานแค่ไหน (คาดว่า 6-8 เดือนจะเป็นระดับวิกฤติ) ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัททำยอดขายที่ดินได้ประมาณ 50-60 ไร่ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ดังนั้น จึงยังคงสมมติฐานยอดขายที่ดินปี 2563 เอาไว้ที่ 400 ไร่ และปี 2564 ที่ 700 ไร่

 

 

ประเมินราคายังมี upside – มองครึ่งปีหลังเป็นจังหวะที่ดี

ยอดโอนที่ดินของบริษัทก็ถูกกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทพยายามจะใช้ทางลัดในการดำเนินการด้านเอกสารเพื่อเร่งโอนให้เสร็จเร็วๆ โดยปลายปี 2562 บริษัทมียอด backlog อยู่ 2.6 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะโอนได้ในปีนี้ 70-80% ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ายอดโอนในปีนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ backlog ในมือมากกว่ายอดขายที่ดินแปลงใหม่ ดังนั้น จึงยังคงประมาณการยอดโอนที่ดินปีนี้เอาไว้ที่ 1.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของยอด backlog


อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงมองว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตจากทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการระบาดของ Covid-19 (ซึ่งทำให้นักลงทุนตื่นตัวกับการพึ่งพิงจีนมากเกินไป) ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" AMATA และให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 15.60 บาท เนื่องจากเป็น pure play asset ที่มีสัดส่วน risk-reward น่าสนใจเมื่อพิจารณาในเชิงมูลค่าทางบัญชี (ยังมี upside ถึงราคาเป้าหมายอีกถึง 67.7% ในขณะที่มี downside ถึง adjusted book value เพียงแค่ 3.2% เท่านั้น) โดยฝ่ายวิจัยแนะนำให้จับตาดูสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องรีบซื้อตอนนี้ เพราะมองว่าครึ่งปีหลังปี 2563 เป็นจังหวะที่ดีที่จะกลับมาดูหุ้นตัวนี้อีกครั้ง



จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แม้ปัจจุบันราคาจะปรับลงค่อนข้างมาก แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังหลายด้าน อาทิ สถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และการกระจุกตัวของกลุ่มอุตสาหกรรม Wealthy Thai อยากให้นักลงทุนทุกท่าน พิจารณาการลงทุนอย่างถี่ถ้วน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนที่อาจจะขึ้นในภาวะที่ตลาดหุ้นยังคงผันผวนรุนแรง

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


dave