ห้องเม่าปีกเหล็ก

รู้จัก “มาดามรถถัง” ผู้ทำให้ รถหุ้มเกราะไทย ดังไกลไปทั่วโลก

โดย กาลเวลา
เผยแพร่ :
3,202 views

รู้จัก “มาดามรถถัง” ผู้ทำให้ รถหุ้มเกราะไทย ดังไกลไปทั่วโลก - BillionMoney

 

 

รู้หรือไม่ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกรถหุ้มเกราะ เป็นอันดับที่ 16 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกกว่า 147.5 ล้านบาท โดยมีลูกค้ารายใหญ่เป็น สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย

เบื้องหลังของการส่งออกรถหุ้มเกราะไทย ให้ออกไปเป็นที่รู้จักของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเช่นนี้ ก็คือ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็น คุณนพรัตน์ กุลหิรัญ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “มาดามรถถัง”

และถ้าหากคุณสงสัย ว่าบริษัทผู้ผลิตรถหุ้มเกราะ ของคุณนพรัตน์ กุลหิรัญ มีความเป็นมาอย่างไร ในวันนี้

BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ

คุณนพรัตน์ กุลหิรัญ เกิดและเติบโตที่ย่านเยาวราช ในครอบครัวซึ่งทำกิจการค้าเหล็ก ทำให้คุณนพรัตน์ ได้คลุกคลีกับวงการค้าเหล็ก ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 10 ขวบ จากการติดตามคุณพ่อไปทำการประมูลเหล็ก

หลังจากเข้าสู่วัยเรียน คุณนพรัตน์ก็ได้ค้นพบความสนใจอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการทำธุรกิจเหล็ก นั่นก็คือ “ภาษา” ประกอบกับการสนับสนุนจากคุณพ่อ ที่แนะนำให้เรียนในด้านภาษา

คุณนพรัตน์จึงเลือกที่จะเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย ในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เอกภาษาฝรั่งเศส ตามด้วยระดับอุดมศึกษาที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านภาษาให้ดียิ่งขึ้น

ในช่วงที่กำลังเรียนอยู่นั้น คุณนพรัตน์ได้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสาชนบท, ร่วมกิจกรรมทางการเมือง และเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส พร้อมกับเป็นครูสอนภาษาไทย ให้กับผู้ลี้ภัย ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ จ.สระแก้ว

หลังจากเรียนจบ คุณนพรัตน์ก็ได้ทำงานเป็นครูในโรงเรียนยานนาเวศ ก่อนจะย้ายไปสอนวิชาภูมิศาสตร์ ในโรงเรียนเก่า อย่างโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อของคุณนพรัตน์ ก็ได้ให้คุณนพรัตน์แต่งงานกับคุณหิรัญ กุลหิรัญ เจ้าของบริษัทซ่อมรถและดัดแปลงเครื่องยนต์

หลังจากที่แต่งงานแล้ว แม่สามีของคุณนพรัตน์ ก็ได้สั่งให้คุณนพรัตน์ ช่วยเหลือในเรื่องธุรกิจของสามี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายอย่างมาก เพราะคุณนพรัตน์ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจเครื่องยนต์เลย

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยไหวพริบที่สั่งสมมา จากการตามคุณพ่อไปประมูลเหล็กตั้งแต่ยังเป็นเด็ก รวมไปถึงทักษะทางด้านภาษา ที่น้อยคนจะมีในสมัยนั้น ก็ทำให้คุณนพรัตน์ สามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในขณะนั้นได้

โดยในช่วงเวลานั้น สงครามเวียดนามได้ยุติลง ส่งผลให้ยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐฯ ได้ถูกทิ้งไว้ในประเทศเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา เป็นจำนวนมาก

สามีของคุณนพรัตน์ จึงได้ทำการซื้อยุทโธปกรณ์เหล่านั้น มาแยกชิ้นส่วนเป็นอะไหล่ โดยคุณนพรัตน์ ก็รับหน้าที่เป็นผู้เจรจา และเสาะหาแหล่งซื้อขาย จากทหารอเมริกันที่อยู่ในไทย

เนื่องจากในตอนนั้น บริษัท ชัยเสรี รับหน้าที่เป็นนายหน้าค้าอะไหล่ พร้อมกับรับงานซ่อมรถบรรทุก ให้กับกองทัพไทย

แต่คุณนพรัตน์ไม่ได้ต้องการให้ บริษัท ชัยเสรี หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เนื่องจากบริษัท ชัยเสรี ยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้อีก ด้วยการผลิตอะไหล่ และยุทโธปกรณ์เหล่านั้นเสียเอง

ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัท ชัยเสรี นั้น คือการที่คุณนพรัตน์ได้เดินทางไปเยือนบริษัท Standard Production ผู้ผลิตอะไหล่รายใหญ่ ของบริษัท ชัยเสรี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่นั่นเองคุณนพรัตน์ ได้ใช้ความกล้า และความสามารถในการตั้งคำถาม จนถึงขั้นได้ความลับในขั้นตอนการผลิต จากมิสเตอร์โรช เจ้าของบริษัท Standard Production เลยทีเดียว

โดยในระหว่างการเยือนโรงงาน คุณนพรัตน์ก็มักจะขอตัวไปเข้าห้องน้ำ เพื่อจดบันทึกสิ่งที่ได้ฟังมาด้วย

หลังจากนั้นคุณนพรัตน์ ก็ได้นำสิ่งที่ได้จดบันทึก มาใช้กับบริษัท ชัยเสรี จนมิสเตอร์โรชที่ได้มาเยี่ยมเยือนโรงงานในภายหลัง รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ก่อนที่เขาจะขายเครื่องจักรทั้งหมดให้กับบริษัท ชัยเสรี หลังจากบริษัทของเขาเลิกกิจการ ในราคาเพียงแค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย ก็ได้ช่วยให้บริษัท ชัยเสรี มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และต่อยอดให้บริษัท สามารถรับจ้างผลิตอะไหล่ต่าง ๆ อย่างเช่น สายพานยางของรถถัง, ยางติดเหล็ก, ข้อต่อสายพาน และล้อกดสายพาน เป็นต้น

โดยลูกค้าจากต่างชาติของบริษัท ชัยเสรี นั้น ก็มาจากฝีมือการเจรจาของคุณนพรัตน์ เพื่อรองรับกำลังการผลิต ที่มากเกินกว่าความต้องการของกองทัพไทย

บริษัท ชัยเสรี มีลูกค้าที่เข้ามาซื้ออะไหล่มากถึง 37 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, สเปน, ออสเตรเลีย, กลุ่มประเทศอาหรับ, ประเทศในอเมริกาใต้ รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย

และเมื่อผลิตอะไหล่ได้แทบจะทุกอย่างแล้ว บริษัท ชัยเสรี ก็ได้เริ่มทำการผลิตรถหุ้มเกราะ เป็นของตัวเอง ชื่อยี่ห้อ First Win ในปี 2014

ซึ่งรถหุ้มเกราะของชัยเสรีนั้น ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก จากการที่เป็นรถหุ้มเกราะ ที่มีความทนทานต่อระเบิด และยังสามารถวิ่งได้ถึง 150 กิโลเมตร แม้ยางจะแบน

ด้วยคุณสมบัติที่ดีขนาดนี้ ก็ได้ทำให้หลายประเทศ ติดต่อเข้ามาซื้อรถหุ้มเกราะ First Win ของบริษัท ชัยเสรี เป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น

- กองทัพไทยทั้ง 3 เหล่าทัพ

- หน่วยงานรัฐ เช่น DSI, ป.ป.ส. และ กอ.รมน.

- กองทัพบกมาเลเซีย ที่สั่งซื้อทั้งรถหุ้มเกราะ และลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตเอง

- กองทัพบกอินโดนีเซีย ที่นำไปใช้ในหน่วยรบพิเศษ

- ประเทศภูฏาน ให้ทหารภูฏาน ที่จะไปปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบของ UN ในแอฟริกากลาง ได้ใช้งาน

แล้วผลประกอบการของ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไร ?

ปี 2564 รายได้ 426 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 352 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 517 ล้านบาท กำไร 29 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าในช่วงหลัง ๆ รายได้ และกำไรของบริษัท ชัยเสรี ไม่ค่อยมากเหมือนแต่ก่อน

ซึ่งก็อาจจะมาจากการที่หลาย ๆ ประเทศ ต่างก็ให้ความสำคัญ ในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จากสถานการณ์โรคระบาด จนต้องชะลอการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ออกไป

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เกิดความขัดแย้งใหญ่ ๆ เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

ก็อาจจะทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญ กับการป้องกันประเทศมากขึ้น และทำให้รถหุ้มเกราะ และอะไหล่จาก บริษัท ชัยเสรี เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้

จากทั้งหมดนี้เอง จะเห็นได้ว่าจากไหวพริบ, ความกล้า และความสามารถทางด้านภาษา ที่กลายเป็นประตูสู่โอกาสทางธุรกิจ ให้กับคุณนพรัตน์ หรือ “มาดามรถถัง”

ได้ส่งรถหุ้มเกราะสัญชาติไทย จากบริษัท ชัยเสรี ให้ออกไปเป็นที่รู้จักของทั่วโลก อย่างที่เราได้เห็นในตอนนี้ นั่นเอง..

 

References

-https://comtradeplus.un.org/TradeFlow?Frequency=A&Flows=X...

-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx...

-https://www.posttoday.com/politic/report/498733

-https://optimise.kkpfg.com/thinking_big_20.php

-https://web.archive.org/.../www.../magazine/view/firstwin

-https://en.wikipedia.org/wiki/First_Win

 

 


กาลเวลา