เตรียม “งบลงทุน” ปี25 กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท...
ปั้น “รายได้มั่นคง” & “สร้างผลตอบแทนที่ดี” ให้ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง !!!

.
ปี2024 “บมจ.ราช กรุ๊ป” (RATCH) โชว์กำไรสุทธิ 6,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +19%, มี EBITDA 15,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +13% โดยในปีนี้ตั้งเป้า EBITDA โตต่อเนื่อง 5 – 10%
.
ในส่วนของรายได้รวมอยู่ที่ 42,203 ล้านบาท ลดลง -17% ซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้รายได้กลับสู่ระดับเดิมให้ได้เร็วที่สุด โดยรายได้มาจาก “ธุรกิจผลิตไฟฟ้า” ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก 95% และ “ธุรกิจสาธารณูปโภคและอื่นๆ” อีก 5%
.
ฐานะการเงิน (ณ 31 ธ.ค. 24) มีความมั่นคง โดยมีสินทรัพย์รวม 214,337 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น 106,374 ล้านบาท และหนี้สินรวม 107,963 ล้านบาท ทำให้มีสัดส่วน “หนี้สินต่อทุน” (D/E) ที่ 1 เท่า
.
ยังเป็นบริษัทที่ได้รับ “SET ESG Ratings” ปี2024 ระดับ “AAA” และได้ผลการประเมินโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนปี2024 ที่ระดับ “ดีเลิศ” ตบท้ายด้วยรางวัลเกียรติคุณ “Sustainability Disclosure Award 2024” อีกรางวัล
.
สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของ “ESG” ของบริษัทได้เป็นอย่างดี !!!
.
ทิศทางธุรกิจในปี2025 ของ “RATCH” จะก้าวย่างไปในทิศทางไหนนั้น ตามทีมงาน ‘Wealthy Thai’ ไปอัปเดตมุมมองจาก “ผู้นำสูงสุด” ขององค์กรพร้อมๆ กันได้เลย
.
“RATCH” จัดงบลงทุนปีนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท...รองรับ “การลงทุนใหม่ & ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง”
.
โดย “นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) บอกว่า ปี 2025 นี้บริษัทได้ดำเนินการทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต โดยชู 2 กลยุทธ์สู่ “ผู้นำ” ด้านพลังงาน & สาธารณูปโภคพื้นฐาน ประกอบด้วย 1) “ปรับพอร์ตสินทรัพย์” ด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ลงทุนแล้วให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างผลตอบแทน และ 2) “มุ่งลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน” ในปีนี้บริษัทยังมุ่งขยายการลงทุนโดยให้ความสนใจในโครงการพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2050 ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทมีรายได้มั่นคงและสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้ บริษัทได้จัดเตรียมงบประมาณลงทุนไว้ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1) “โครงการใหม่ๆ” ประมาณ 10,000 ล้านบาท และ 2) “โครงการที่ได้ลงทุนแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง” อีก 5,000 ล้านบาท แต่หากมีโครงการใหม่ๆ ที่น่าสนใจซึ่งต้องการเม็ดเงินลงทุนมากกว่านี้เราก็มีวงเงินพร้อมที่จะนำมาใช้ลงทุนได้ทันที
.
“ปีนี้ มีจำนวน 3 โครงการที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า นวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาและพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทย่อยในออสเตรเลียได้พัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ โดยได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Kemerton ในออสเตรเลีย และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์เดิม และยังเป็นการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว”
.
“RATCH” ชู 2 กลยุทธ์สู่...“ผู้นำ” ด้านพลังงาน & สาธารณูปโภคพื้นฐาน
.
สำหรับ 2 กลยุทธ์เพื่อการเติบโตสู่ “ผู้นำ” ด้านพลังงานและสาธารณูปโภคนั้น ยังคงใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทในการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ
.
โดยกลยุทธ์แรก “ปรับพอร์ตสินทรัพย์” นั้น การจัดกลุ่มสินทรัพย์และกำหนดกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์แต่ละกลุ่มให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยครอบคลุมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำโรงไฟฟ้าเดิมมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
.
“อาทิ โครงการ Synchronous Condenser ของโรงไฟฟ้าทาวน์สวิลล์ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานของโรงไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนเสถียรภาพระบบไฟฟ้าของรัฐควีนส์แลนด์ การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้วและสินทรัพย์ที่ดินเป็นธุรกิจใหม่หรือโครงการใหม่ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นจากพันธมิตรเดิมในโครงการที่ยังมีมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพสินทรัพย์ให้สอดรับกับเป้าหมายธุรกิจของบริษัท และลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่”
.
ส่วน “กลยุทธ์การลงทุน” บริษัทมุ่งกระจายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะลงทุน “โครงการพลังงานทดแทน” เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการในมือแล้ว 12 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงาน เบอรีล กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์ฟาร์มมารูลัน กำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมสปริงแลนด์ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์
.
“โครงการในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ โครงการพลังงานลมใกล้ชายฝั่งซานมิเกล กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 245 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 232.75 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการพลังงานลมในเวียดนาม ได้แก่ โครงการเบ็นแจ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 39.20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมบนฝั่ง 2 โครงการกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมประมาณ 140.45 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยอีก 153.97 เมกะวัตต์”
.
ปัจจุบัน “RATCH” รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,815 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 72.5% และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน 27.5% โดยบริษัทมุ่งหมายที่จะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ของกำลังการผลิตรวมในปี2030 และ40% ในปี 2035 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มหลักของโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการลดปัญหาโลกร้อนนั่นเอง
ที่มาข้อมูล WealthyThai