ห้องเม่าปีกเหล็ก

จ้างงานแข็งแกร่งดันหุ้นพุ่ง บิลภาษีใหม่ผ่านแล้ว

โดย dave
เผยแพร่ :
53 views

จ้างงานแข็งแกร่งดันหุ้นพุ่ง บิลภาษีใหม่ผ่านแล้ว แต่ทรัมป์เตรียมส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีคู่ค้าวันนี้ | Podcast Available

 

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้มีเรื่องใหญ่ 3 เรื่องจากฝั่งสหรัฐอเมริกามาเมาท์ให้ฟังกันอีกแล้ว เรื่องมันเริ่มจาก "ตัวเลขการจ้างงาน" ที่ออกมาเซอร์ไพรส์ตลาด ทำเอาหุ้นพุ่งทะยาน แต่ในข่าวดีก็แอบมีเรื่องให้เราต้องคิดตามเหมือนกัน ตามมาด้วยอยู่ดีๆ One Big Beautyful Bill ก็ผ่านเฉยเลย เหลือแค่ทรัมป์เซ็นเท่านั้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยข่าวที่ประเทศต่างๆต้องลุ้น ซึ่งก็คือ ทรัมป์กำลังจะส่งจดหมายหาแต่ละประเทศในวันนี้ว่าจะโดนภาษีกันคนละเท่าไหร่ค่ะ

 

 

ตลาดหุ้นเฮ! รับข่าวดีตัวเลขจ้างงาน...เกิดอะไรขึ้น?

เมื่อคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกจับจ้องไปที่การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payrolls) ประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหมือนรายงานสุขภาพของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลปรากฏว่าตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้มากค่ะ

โดยมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 147,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 4.1%

พอข่าวนี้ออกมา ตลาดก็ตอบรับในทันทีเหมือนได้ของขวัญชิ้นใหญ่ค่ะ หุ้นพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้น 0.8% สร้างสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) กันเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลกลับถูกเทขาย เพราะเมื่อเศรษฐกิจดูแข็งแกร่ง นักลงทุนก็ลดความกังวลและกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ซึ่งอ่อนไหวต่อนโยบายดอกเบี้ยมากๆ พุ่งขึ้นถึง 10 Basis Points ไปอยู่ที่ 3.88% ส่วนค่าเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน

พูดง่ายๆ ก็คือ พอมีข่าวว่าคนอเมริกันมีงานทำเยอะขึ้น ความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ลดลงไปเปลาะหนึ่งเลยค่ะ

 

เจาะลึกตัวเลขจ้างงาน: ข่าวดีที่มาพร้อม "แต่"

แม้ว่าตัวเลขบรรทัดแรกจะดูสวยหรู แต่ในฐานะนักลงทุน เราต้องมองให้ลึกลงไปกว่านั้นค่ะ เพราะผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า "ไส้ใน" ของรายงานฉบับนี้มีจุดที่น่าสนใจซ่อนอยู่

โดยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งนั้น ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ในขณะที่การจ้างงานในภาคเอกชนกลับเติบโตช้าลง นอกจากนี้ "อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน" (Participation Rate) หรือสัดส่วนของคนที่ทำงานหรือกำลังมองหางาน ก็ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีคนบางส่วนถอดใจเลิกหางานไปแล้ว

ภาพที่ออกมาจึงเป็นเหมือน "เศรษฐกิจ Goldilocks" ที่นักวิเคราะห์บางคนเรียกกัน คือเป็นสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ได้ร้อนแรงหรือเย็นชาเกินไป หรืออธิบายอีกแบบคือ การจ้างงานโดยรวมยังแข็งแกร่งพอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ต้องรีบร้อนลดดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกัน การเติบโตของค่าจ้างก็ไม่ได้พุ่งสูงจนน่ากังวลว่าจะทำให้เงินเฟ้อทะยาน โดยค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% จากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024

สถานการณ์แบบนี้ทำให้ตลาดแทบจะ "ปิดประตูตาย" สำหรับการลดดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคมนี้ไปเลย จากเดิมที่เคยคาดการณ์กันว่ามีโอกาสประมาณ 25% ตอนนี้แทบไม่เหลือแล้ว และโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนก็ลดลงเหลือประมาณ 70% แทน เรียกได้ว่ารายงานฉบับนี้ซื้อเวลาให้เฟดสามารถ "รอดูสถานการณ์ไปก่อน" ได้ตลอดช่วงซัมเมอร์นี้ค่ะ

 

อีกหนึ่งเรื่องใหญ่: สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายภาษีของทรัมป์

ระหว่างที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับตัวเลขจ้างงาน ในสภาก็มีเรื่องใหญ่ไม่แพ้กันเกิดขึ้นค่ะ นั่นคือสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายการคลังมูลค่ามหาศาลถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศครั้งสำคัญเลยทีเดียว

การโหวตครั้งนี้ดุเดือดมากค่ะ กว่าจะผ่านได้ก็ลากยาวกันทั้งคืน ด้วยคะแนนเสียงฉิวเฉียด 218 ต่อ 214 เสียง โดยมี ส.ส. พรรครีพับลิกันเพียง 2 คนที่โหวตสวนมติพรรค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังและอิทธิพลของทรัมป์ที่สามารถผลักดันจนร่างกฎหมายนี้สำเร็จได้

 

แล้วในกฎหมายนี้มีอะไรบ้าง? เรามาแกะดูกันค่ะ

การลดภาษีครั้งใหญ่: หัวใจหลักของกฎหมายนี้คือการลดภาษีมูลค่ารวมถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาปี 2017 ที่กำลังจะหมดอายุออกไป และยังมีการลดหย่อนภาษีใหม่ๆ ที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ เช่น การเพิ่มเครดิตภาษีสำหรับบุตร (Child Tax Credit) อย่างถาวร และการลดหย่อนภาษีชั่วคราว 4 ปีสำหรับผู้สูงอายุ, เงินทิป และค่าล่วงเวลา นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเพดานการหักลดหย่อนภาษีท้องถิ่นและรัฐ (SALT) ชั่วคราวเป็น 40,000 ดอลลาร์ เพื่อเอาใจ ส.ส. จากรัฐที่เก็บภาษีสูงด้วย

การตัดลดงบประมาณ: เพื่อหาเงินมาโปะการลดภาษี กฎหมายนี้ได้ตัดลดงบประมาณรายจ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ Medicaid (ประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ) ที่ถูกตัดไปเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้รับสวัสดิการที่แข็งแรงและไม่มีบุตรต้องทำงาน รวมถึงตัดลดงบประมาณสำหรับแสตมป์อาหาร (Food Stamps) และเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

การยกเลิกนโยบายพลังงานสะอาด: ประเด็นร้อนที่หลายคนจับตาคือการยกเลิกเครดิตภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มูลค่า 7,500 ดอลลาร์ สำหรับการซื้อหลังวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นการพลิกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลชุดก่อนอย่างสิ้นเชิง

แน่นอนว่ากฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ร้อนระอุ ฝั่งรีพับลิกันเชื่อว่าการลดภาษีจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ฝั่งเดโมแครต นำโดยผู้นำอย่าง ฮาคีม เจฟฟรีส์ ออกมากล่าวสุนทรพจน์ยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง (ทำลายสถิติสภาฯ!)

ประณามว่ากฎหมายนี้เป็นเหมือน "โรบินฮู้ดกลับด้าน" คือปล้นคนจนไปช่วยคนรวย โดยจะทำให้โรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุในชนบทต้องปิดตัวลง

ด้านนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไปค่ะ สำนักงบประมาณรัฐสภา (CBO) ประเมินว่ากฎหมายนี้จะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในทศวรรษหน้า สร้างความกังวลเรื่องภาระหนี้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อดีในระยะสั้นคือในร่างกฎหมายนี้ได้มีการเพิ่มเพดานหนี้เข้าไปด้วย ซึ่งช่วยขจัดความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ในเดือนสิงหาคมนี้ไปได้ค่ะ

 

จับตาเส้นตายสงครามการค้า: ทรัมป์พร้อมเดินหน้าเก็บภาษี

มาถึงอีกเรื่องที่ร้อนไม่แพ้กันและนักลงทุนทั่วโลกกำลังหายใจไม่ทั่วท้อง นั่นคือเรื่องสงครามการค้าค่ะ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขีดเส้นตายไว้ในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ สำหรับประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่จะเจรจาข้อตกลงทางการค้าให้สำเร็จ ซึ่งตอนนี้เวลาก็งวดเข้ามาทุกทีแล้ว

ทรัมป์พูดชัดเจนว่า ถ้าประเทศไหนเจรจาไม่สำเร็จ เขาก็พร้อมที่จะกำหนดอัตราภาษีฝ่ายเดียว แถมยังบอกกับนักข่าวด้วยว่า "เอาจริงๆ ผมว่าส่งจดหมายไปบอกเลยว่าจะต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่...มันง่ายกว่าเยอะ" ซึ่งสะท้อนท่าทีที่แข็งกร้าวและไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการทางภาษี

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนคือ ข้อตกลงกับเวียดนามที่เพิ่งประกาศไป โดยสหรัฐฯ จะเก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และเก็บถึง 40% สำหรับสินค้าที่ถูกมองว่าเป็นการ "สวมรอย" (Transshipped) ซึ่งก็คือการที่ชิ้นส่วนจากจีนหรือประเทศอื่นถูกส่งมาประกอบที่เวียดนามแล้วส่งต่อไปยังสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษี

ตอนนี้หลายประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ยังคงเจรจาไม่สำเร็จ โดยทรัมป์แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับญี่ปุ่นเป็นพิเศษ โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นควรจะต้อง "จ่าย 30%, 35% หรือเท่าไหร่ก็ตามที่เราเห็นว่าเหมาะสม" ทำให้สถานการณ์จึงยังคงตึงเครียดและต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อถึงเส้นตายแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

ดอลลาร์ร่วงหนัก...น่ากังวลแค่ไหน?

อีกประเด็นที่คนพูดถึงกันเยอะคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่ะ เพราะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (US Dollar Index) ร่วงลงไปเกือบ 11% ซึ่งเป็นการปิดครึ่งปีแรกที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1973 เลยทีเดียว ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเริ่มกังวลถึงสถานะของเงินดอลลาร์

แต่เรื่องนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นาย Scott Bessent กลับมองต่างมุมค่ะ เขาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้กังวลเลย และอธิบายว่า "นโยบายดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง" ไม่ได้หมายถึงราคาของมันในระยะสั้น แต่หมายถึงการดำเนินนโยบายในระยะยาวที่จะทำให้ดอลลาร์ยังคงเป็น "สกุลเงินสำรองของโลก" ต่อไป

ซึ่งเขามั่นใจว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งนั้นอยู่ ทั้งการออกกฎหมายภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การควบคุมเงินเฟ้อ และการทำให้สหรัฐฯ เป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดสำหรับเงินทุนทั่วโลก

และเมื่อถูกถามถึงคู่แข่งอย่างเงินหยวนของจีน หรือเงินยูโร เขาก็ได้ปัดตกไปอย่างน่าสนใจค่ะ

 

สำหรับเงินหยวน: เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่เงินหยวนยัง "ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี" (Non-convertible) และจีนยังมี "การควบคุมเงินทุน" (Capital Controls) ที่เข้มงวด

 

สำหรับเงินยูโร: เขายอมรับว่าประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมองว่านี่เป็นโอกาสของเงินยูโร แต่เขาก็เตือนกลับไปแบบคมๆ ว่า "ให้ระวังสิ่งที่ปรารถนา" (be careful what they wish for) เพราะถ้าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นไปถึงระดับ 1.20 ดอลลาร์เมื่อไหร่ ชาวยุโรปเองนั่นแหละที่จะโอดครวญเพราะจะกระทบกับการส่งออกอย่างรุนแรง

เขาทิ้งท้ายอย่างมั่นใจว่า คำทำนายเรื่องการล่มสลายของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองโลกมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว และเขาก็เชื่อว่าครั้งนี้ผู้ที่กังขาจะคิดผิดอีกครั้ง

 

สรุปและความเห็นส่วนตัว

ตอนนี้ภาพรวมของตลาดดูเหมือนจะสดใสค่ะ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดใหม่ได้เรื่อยๆ จากความหวังเรื่องเศรษฐกิจ "Goldilocks" ที่เติบโตดีแต่เงินเฟ้อไม่สูง อย่างไรก็ตาม แอดก็จะบอกเหมือนเดิมว่าให้ทุกคนระมัดระวังเช่นกันค่ะ เพราะมูลค่าหุ้นตอนนี้ค่อนข้างสูง (ก็แหงแหละ ตลาดมัน ATH นี่นา)

นอจากนี้เอง ข่าวดีต่างๆ อาจจะเริ่มถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหมดแล้ว (Priced in) ทำให้ตลาดมีความเปราะบางต่อข่าวร้ายหรือเรื่องน่าผิดหวังมากกว่าปกติค่ะ

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิดคือ ฤดูกาลประกาศผลประกอบการ ที่จะเริ่มกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะเริ่มจากกลุ่มธนาคารก่อน (ส่วนตัวคิดว่าดีตามผล strees test ที่ออกมาดีนั่นแหละ) ตามด้วยกลุ่มเทคฯ (ซึ่งคงออกมาดีตามเคย)

ส่วนตัวแล้วมองว่าหลังงบออกได้ซักพัก ใครที่ไม่ได้เน้นถือยาวหรือชอบเก็งกำไร อาจจะต้อง take profit ออกมาบ้างค่ะ ส่วนใครที่เน้นถือยาว อาจจะต้องดูทางเลือกในการ hedge ไว้บ้างนะคะ

ส่วนฝั่ง bond ตอนนี้ yield เริ่มเด้งแล้ว เพราะ One Big Beautyful Bill ผ่านเรียบร้อย แถมด้วยการขยายเพดานหนี้อีก ดังนั้นความเสี่ยงเรื่อง defaut บอกลาไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ดังนั้นตอนนี้เริ่มกลับไปซื้อได้แล้วค่ะ

 

 

ขอบคุณเนื้อหาข้อมูลจาก.. Beauty Investor


dave