พอเพียงอย่างพอใจ
โดย...ฉาย บุนนาค
ต้นทุนของเวลา
เวลา... เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและศิลปศาสตร์แต่ละสาขาก็มีมุมมองต่าง ๆ กันไป เช่น ในวิชาเศรษฐศาสตร์มองว่า "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" (Time is money)
ในทฤษฎีการเงิน ก็นำเอาเวลามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักเพื่อการคำนวณและประเมินราคา (valuation) ของโครงการต่างๆ โดยใช้หลักคิดที่ว่า เวลามีต้นทุน หรือ "time value of money"
เวลาเป็นทรัพยากรเดียวที่ไม่อาจจะเก็บสะสมไว้ได้ เป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่มีจำกัดสำหรับแต่ละบุคคล
ด้วยคุณสมบัตินี้... เวลาจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องวัดคุณค่าของชีวิตคนได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างหากคุณเกิดมาชีวิตหนึ่งแล้วเอาแต่เที่ยวเล่น ลุ่มหลงไปวันๆ สร้างเวรสร้างกรรม ก็ถือเป็นการใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่า เสียชาติเกิด...
ในพระพุทธศาสนาก็สอนให้คนเราไม่ควรจะปล่อยวันคืนให้เปล่าประโยชน์เช่นกัน
ดังพุทธภาษิตที่ว่า
“ควรทำวันคืนไม่ให้เปล่าจากประโยชน์น้อยหรือมาก เพราะวันคืนผ่านบุคคลใดไป ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมพร่องจากประโยชน์นั้น”
และพระพุทธดำรัสที่ตรัสให้คนเห็นความสำคัญของเวลาเป็นอันมาก เช่น
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าปล่อยขณะให้ผ่านพ้นไป เพราะคนที่ปล่อยขณะให้ผ่านไป ย่อมเศร้าโศกในภายหลัง”
“วัยย่อมผ่านพ้นไปเหมือนขณะนั้นแหละ”
“กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมด้วยตัวของมันเอง”
โดยสรุปในทรรศนะของพระพุทธศาสนาแล้ว กาลเวลาเป็นตัวแปรอย่างสำคัญในการจำแนกให้คนเราแตกต่างกัน เพราะปัญหาเรื่องเวลาไม่ได้อยู่ที่ใครมีเวลาเท่าไร แต่อยู่ที่แต่ละคนได้ใช้เวลาชีวิตของตนไปอย่างไรมากกว่า
สำหรับผมเวลาเดินมา 36 ปีเต็ม หรือ 13,140 วันแล้ว
ลองมองย้อนกลับไป... เวลาช่างผ่านมาเร็วเหลือเกิน พาผ่านชีวิตให้พบทั้ง สิ่งที่ดี และสิ่งที่เลวร้ายมากมายอย่างไร้เดียงสา
แต่เวลาของผมที่เสียไป แลกมาซึ่งประสบการณ์ล้ำค่ามากมายดั่งปริญญาชีวิตที่มีต้นทุนมหาศาล...
วันเกิดที่แตกต่าง
ในวัยเด็ก วันเกิดเป็นเพียงวันแห่งการได้รับของขวัญ วันเป่าเค้ก วันรื่นเริง
ในวัยคะนอง วันเกิดคือวันเที่ยวหัวราน้ำ กินดื่มกับเพื่อน ฉลองให้สุดเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้
ในวันเกิดปีนี้ ผมไม่ประสงค์งานเฉลิมฉลองใดๆ ไม่ประสงค์ของขวัญใดๆ... สิ่งที่มีค่าที่สุดคือพรจากบิดาและมารดา... แม้จะไม่ใช่คำสวยหรู เช่น "HBD"
ปีนี้... การได้ไปทำบุญทำทานร่วมกันในวันคล้ายวันเกิดถือเป็นศิริมงคลแห่งชีวิตอย่างแท้จริง
กฎของธรรมชาติห้ามมิให้เราย้อนเวลาได้... พุทธศาสนาสอนว่าอดีตไม่สำคัญ ผลกรรมใดที่ก่อไว้ก็จะเป็นไปตามกรรม เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ใจกับสิ่งที่ทำไปแล้ว...
ปัจจุบันคือสิ่งสำคัญที่สุด และเราควรดำเนินชีวิตที่เหลืออย่างมีสติ อย่างมีเป้าหมาย อย่างมีคุณธรรม
ศาสนาสอนว่า... เวลาในโลกของมนุษย์นั้นแสนสั้น และการเกิดมาชาติหนึ่งได้เป็นมนุษย์ถือว่าแสนยาก และยิ่งได้มาพบพระพุทธศาสนาอีก ยิ่งยากใหญ่
เราจึงควรเร่งประพฤติดีประพฤติชอบ รักษาศีล ให้ทาน และหมั่นภาวนาเพื่อสู่เข้าพระนิพพานให้ได้โดยเร็วพลัน...
หนทางจะไกลจะยากเพียงไหน หากหมั่นเดินไปเรื่อยๆ บนเส้นทาง ไม่ย้อท้อ ไม่หลงออกข้างทางบ่อยนัก สักวันเราก็ต้องถึง...
คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ /หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3284 ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.2560