ห้องเม่าปีกเหล็ก

STA มั่นใจผลงานปี 67 พลิกกำไร

โดย Forest
เผยแพร่ :
252 views

STA มั่นใจผลงานปี 67 พลิกกำไร

พร้อมทุ่มงบลงทุน 2 พันลบ.

ขยายกำลังผลิตแตะ 3.8 ล้านตัน

.

STA คาดผลงานปี 2567 พลิกเป็นกำไร รับดีมานด์จีนฟื้น-คุมเข้มค่าใช้จ่าย พร้อมทุ่มงบกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท ขยายโรงงาน 4 แห่ง คาดเสร็จสิ้นภายในปีนี้ หนุนกำลังผลิตรวมแตะ 3.86 ล้านตัน มองภาพรวมอุตสาหกรรมยางฟื้น เดินหน้าเปิดตัวยางมีพิกัด ชูมาร์จิ้นสูง ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 50% ภายในปี 2568

.

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 2567 จะสามารถพลิกกลับเป็นบวกได้ จากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 434.37 ล้านบาท จากปริมาณการขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามการขยายกำลังการผลิตยางแท่ง น้ำยางข้น และอื่นๆ รวมถึงความต้องการยางพาราจากตลาดจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักฟื้นตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

.

โดยบริษัทวางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 ที่ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน โดยมุ่งเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีระบบ Automation เข้ามาใช้ภายในโรงงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

.

สำหรับการเพิ่มกำลัง บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตโรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานที่จ.พิษณุโลก โรงงานจ.มุกดาหาร โรงงานจ.นราธิวาส และโรงงานที่เมียนมา โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ส่งผลให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตยางแท่ง น้ำยางข้น และอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ล้านต้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.66 ล้านตัน

.

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดตัว ยางมีพิกัด (GPS) เพื่อตอบรับมาตรการหรือกฎหมายจากทั่วโลกที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางธรรมชาติที่จำหน่าย โดยมีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรและผู้ค้ายางที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรัง จำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 2567 และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 2568

.

ทั้งนี้ ยางมีพิกัดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้บริษัทมีการเติบโต เนื่องจากเป็นยางที่มีมาร์จิ้นดีกว่ายางปกติ สามารถช่วยบริหารจัดการในช่วงที่ราคายางในตลาดผันผวนได้ โดยปลายปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้จากการขายยางมีพิกัดอยู่ที่ 50% ของรายได้รวม

.

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการส่งออกกราว 90% แบ่งเป็น ลูกค้าในจีนประมาณ 50% รองลงมาเป็นลูกค้าในยุโรป 30% และลูกค้าในสหรัฐฯ อีก 10% ส่วนที่เหลือประมาร 10% เป็นกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ อีกทั้งยังมุ่งขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่จำกัดเพียงแค่กลุ่มอุตสาหกรรมยางล้อเท่านั้น

.

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว จากการที่ลูกค้าได้ระบายสินค้าคงคลังจนกลับมาอยู่ในระดับปกติ ประกอบกับความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีผลให้ฝนตกลดลงและกระทบต่อผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด

.

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก ขณะที่สถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7 – 155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นราว 5-7%

 

 

 


Forest