ห้องเม่าปีกเหล็ก

หุ้นไทยเดือนมิ.ย.ร้อนระอุ ! ปัจจัยลบรุมเร้า ปักหมุด 20 หุ้นหลบภัย

โดย dave
เผยแพร่ :
50 views

หุ้นไทยเดือนมิ.ย.ร้อนระอุ ! ปัจจัยลบรุมเร้า ปักหมุด 20 หุ้นหลบภัย

โบรกมองหุ้นไทยเดือนมิ.ย.เสี่ยงขาลงจากสารพัดปัจจัยลบถาโถม ทั้งเฟดขึ้นดอกเบี้ย-ลดคิวที -เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง มองแนวโน้มธปท.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปีสกัดเงินไหลออก คัด 20 หุ้นหลบภัย

ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มหันมาใช้นโยบายการเงิน "ตึงตัว" ส่งผลให้เม็ดเงินโยกย้ายออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ทําให้ตลาดหุ้นโลกเริ่มเข้าสู่โหมดผันผวนกันอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าหุ้นไทยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะรอดพ้นจากภาวะ Sell inMay มาได้ เพราะปรับตัวลงเพียง -0.8% 

 

โดยมีแรงหนุนส่วนหนึ่งจากตัวเลขจีดีพี 1Q65 ที่เติบโต 2.2% ดีกว่าคาด รวมถึงกําไรไตรมาสแรกแตะ 2.74 แสนล้านบาท  เติบโตได้เกือบ 10% หนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค. สูงสุดในภูมิภาค กว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิ.ย.ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์ 4 โบรกชั้นนำมีคำตอบตาม TNN Online ไปดูกันเลย

เริ่มจากนายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า เดือนมิ.ย. 65 ตลาดหุ้นไทยเดินหน้าเข้าสู่ช่วง Stress Test อีกครั้งจากนโยบายการเงินโลกตึงตัวแบบ New Normal เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศที่อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 – 40 ปีอาทิ Fed โอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. พร้อมกับการลดขนาดงบดุลลง 4.75 หมื่นล้านเหรียญ 

 

นอกจากนี้ช่วงที่เหลือของปี Fed ลดงบดุล 5.22 แสนล้านเหรียญฝ่ายวิจัยประเมินประเด็นนี้กดดัน SET ในเดือน มิ.ย. -9 จุด และช่วงที่เหลือของปี -91 จุด ประเด็นถัดมาคือ ตัวเลขเงินเฟ้อไทย เดือน พ.ค. (ประกาศ6 มิ.ย. 65) มีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.65%yoy

จากมาตรการพยุงราคาพลังงานต่างๆ ที่ทยอยหมดลง 

 

โดยฝ่ายวิจัยใช้สมมุติฐานราคาสินค้าและบริการเพิ่ม 1%-2% จะทําให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค. +6.6%YoY และ +7.7%YoY ตามลําดับ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในช่วงที่เหลือของปีอีกครั้ง ซึ่งตามกลไกหากมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะกดดันเป้าหมายดัชนีลดลง 88 จุด ประเด็นดังกล่าวกดดันให้ Fund Flowต่างชาติ ในเดือน มิ.ย. มีโอกาสซื้อสุทธิน้อยลง หรือบางช่วงเวลาอาจเห็นแรงขายทํากําไร ภายใต้ภาวะที่เงินบาทอ่อนค่า

 

ส่วนประเด็นที่เป็นคาดหวังพยุงตลาด คือ Reverse Trade Warหรือ ปธน. สหรัฐ พิจารณาผ่อนผันหรือยกเลิกกําแพงภาษีสินค้าจีนที่รัฐบาลทรัมป์เคยตั้งไว้วงเงินรวมราวๆ 3.5 แสนล้านเหรียญ จะหมดอายุลงใน 6 ก.ค. 65 นี้ ซึ่งในอดีตประเด็นนี้เคยกดดันตลาดลงไปลึกถึง -10% ต่อรอบที่มีการประกาศเพิ่มกําแพงภาษี หากมีการผ่อนคลายจริงถือเป็นกระแสเชิงบวกต่อตลาดหุ้นมาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มส่งออก, กลุ่มธ.พ. ฯลฯ

 

กลยุทธ์การลงทุนเดือน มิ.ย. แนะนํานักลงทุนเตรียมรับความผันผวน โดยถือเงินสดบางส่วน 10% ถึง 20% ของพอร์ต ส่วนหุ้นเด่นประจําเดือนแนะนําหุ้นราคา Laggard พื้นฐาน แนวโน้มกําไรเติบโตชัดเจนขึ้นในงวด 2Q65 และมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว อย่าง SCB ,STEC, CRC ,MINT  (ฟื้นตัวเร็วขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการโควิด) , VNG, KSL (ได้ประโยชน์บาทอ่อนค่า ราคาสินค้ายืนระดับสูง)

ขณะที่นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย)  มองว่า  ตลาดหุ้นแกว่งไซด์เวย์ แนวรับที่ 1,600 จุด แนวต้านที่ 1,670-1,700จุด  ปัจจัยบวกมาจากจีนผ่อนคลายล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้และเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่ม ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุม 15 มิ.ย.นี้

 

ส่วนการลดสภาพคล่องของเฟดทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่ม Earning Yield Gap (ส่วนต่างผลตอบแทนหุ้นและพันธบัตร) ลดลง ความน่าสนใจลงทุนในหุ้นลดลงเช่นกันโดยดัชนีปรับฐานไปก่อนหน้านี้ และจำกัดอัพไซด์ 

 

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนก.ค.หลังเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแรง ดังนั้นแนะนำให้ถือหุ้น 50-60% รอดูเฟด-อีซีบีให้ชัดเจนก่อน ขณะที่ดอกเบี้ยไทยหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งส่วนต่างดอกเบี้ยห่างจากไทย 2% สูงกว่าในอดีตอาจเห็นธปท.เพิ่มน้ำหนักขึ้น ดอกเบี้ยในเดือน  ก.ค.-ส.ค. ถ้าหุ้นถูกกระแทกน่าซื้อมากกว่าตอนนี้  และถ้าจีนเปิดประเทศไตรมาส 3 ตลาดน่าจะดีขึ้น  

 

ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นงบไตรมาส 2/65 ออกมาดี  หุ้น defensive  หุ้น value play เป็นกลุ่มแบงก์ เช่น KBANK  ค้าปลีก  CPALL 

MAKRO  สินค้าอุปโภคบริโภค M และ TU

ฝั่งนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองว่า  ตลาดหุ้นไทยแกว่งไซด์เวย์ มีโอกาสรีบาวด์และลงต่อแต่ไม่ลึกจนทำ low  ใหม่ เพราะเฟดมีท่่าทีอ่อนลง แม้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องติดตามเงินเฟ้อและตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอดูการตอบสนองของตลาดคาดว่าจะมีความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายมากแค่ไหน หลังเฟดลดคิวที

 

ส่วน Real Yield อัตราผลตอบแทนแท้จริงเมื่อหักคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นบวกการลงทุนต้องระมัดระวังเพิ่ม จากเดิมการโยกย้ายเม็ดเงินสินทรัพย์เสี่ยงและปลอดภัยเน้นหาผลตอบแทนเพิ่ม แต่ปัจจุบันจะเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปพิจารณาด้วยปกติ Real Yield สูงจะส่งภาพลบตลาดหุ้นโลก

 

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยระวังการปรับฐานหลังจากเงินเฟ้อสูงอาจจะเกิดภาวะหมีได้ ส่วนกรณีที่อียูแบนรัสเซียมีผลราคาน้ำมันอาหารแพงทำให้เราอยู่กับเงินเฟ้อนานทำให้ีอีซีบีเร่งปรับนโยบายการเงินเร็วขึ้น ส่วนจีนต้องดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหรือไม่ หลังตัวเลขภาคผลิต-บริการติดลบ

 

ทั้งนี้ช่วงตลาดผันผวนแนะนำถือเงินสดบางส่วนปรับพอร์ต  ลงทุนใน 2 ธีม  Re-opening แนะนำ BDMS, BEM, MAJOR และหุ้น ‘Value & Dividend’ แนะนำ AP, EGCO 

ปิดท้ายนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่าหุ้นไทยเดือนมิ.ย.ผันผวนแต่มีโอกาสปรับตัวขึ้นเหมือนเดือนพ.ค.ที่ย่อยตัวลงไปและดีดกลับเป็นผลมาจากสัญญาณเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวจากการบริโภค การลงทุนเอกชนที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น สัญญาณท่องเที่ยวไปได้ต่อ คาดต่างชาติเที่ยวไทยเดือนละ 3 แสนคน และจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

 

นอกจากนี้ติดตามการประชุมธนาคารกลางในแต่ละประเทศ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 8 มิ.ย.  ธนาคารกลางยุโรป (ECB ) 9 มิ.ย.  ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด 14-15 มิ.ย. ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) 16 มิ.ย. และธนาคารกลางญี่ปุ่น( BOJ) 17 มิ.ย.นี้

 

โดยปัจจัยที่กังวลคือเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ส่วนการที่สหรัฐฯลดคิวทีตลาดรับรู้ข่าวนี้ไปบ้างแล้วจะไม่เกิด impact เหมือนก่อน แต่การลดคิวที 8.9ล้านล้านดอลลาร์อาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่หากดัชนีย่อตัวเป็นโอกาสซื้อ

 

ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มไฟแนนซ์ เช่น SAWAD ECL  ที่เป็นพระเอกท่องเที่ยว เช่น MINT  และเก็งกำไ  WICE และ BE8 ประเมินกรอบแนวรับ 1,630จุด แนวต้านที่ 1,680 จุด 

 

 

แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครั้งจากการบริโภค การลงทุนเอกชนที่เริ่มทยอยฟื้นตัว หลังจากเปิดประ เทศ แต่ก็ต้องระวังความเสี่ยงจากปัจจัยลบภายนอก โดยเฉพาะธนาคารกลางเตรียมพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ขณะที่เศรษฐกิจแดนมังกรยังไม่พลิกฟื้น นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดปรับพอร์ตน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ เพราะหากตลาดหุ้นปรับฐานลงแรงจะได้ไม่เจ็บตัวมากเกินไป ....

ที่มา  :  นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) 

        :  นายภราดร เตียรณปราโมทย์  บล.เอเซีย พลัส

        :  นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้

        :  นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย)

 

ภาพประกอบ  :  พิกซาเบย์ ,บล. หยวนต้า, บล.เอเซีย พลัส , บล.ทิสโก้ ,บล.เมย์แบงก์ 

 

 

 


dave