ห้องเม่าปีกเหล็ก

คลินิกแบบไดรฟ์ทรู พลิกโฉมการรักษาพยาบาล

โดย หญิงแม้น
เผยแพร่ :
49 views

คลินิกแบบไดรฟ์ทรู คำตอบที่คู่ควร พลิกโฉมการรักษาพยาบาล ทั้งในยามวิกฤตและในอนาคต

ต้องยอมรับว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยระลอกแรกนั้น การให้บริการ คลินิกแบบไดรฟ์ทรู Drive Through Clinic ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและดูเหมือนว่าจะปลอดภัยที่สุดในช่วงเวลาไม่ปกติแบบนี้

ปรากฎการณ์ที่ผู้คนต่างขับรถไปต่อคิว เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ นับเป็นการให้บริการแบบใหม่ในบ้านเรา ทว่า การให้บริการ คลินิกแบบไดรฟ์ทรู ในหลายประเทศทั่วโลก เกิดขึ้นมานานแล้ว
โดยการให้บริการตรวจโรคแบบไดรฟ์ทรูนี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากการรักษาทางไกล ที่กำลังเป็นกระแสที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งอาจได้รับเชื้อกลับมาก็ได้
ที่ผ่านมา มีบริษัทสถาปัตยกรรมจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก นั่นคือ บริษัท เอ็นบีเจเจ ได้นำเสนอโซลูชันเพื่อออกแบบการให้บริการตรวจ รักษาโรค แบบไดรฟ์ทรู ให้ผู้เข้ารับบริการหรือผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากที่สุด
แต่ไอเดียนั้น จะออกมาเป็นรูปแบบใดบ้าง ต้องไปดูกัน

In Car Care Unit ยกโรงพยาบาล มาให้บริการตรวจรักษาในรถแทน

อย่างที่เกริ่นมาว่า ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ในช่วงแรก มีหลายประเทศที่แนะนำให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนจัดให้การให้บริการคลินิกไดรฟ์ทรู สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการบ่งชี้ว่าอาจติดเชื้อโควิด-19  
ทว่า เอ็นบีเจเจ ได้ใช้โอกาสนี้เอง นำเสนอการจัดสถานที่และการให้บริการในแบบ In Car Care Unit โดยจัดรูปแบบการให้บริการจากบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะไปให้บริการดูแล ตรวจ รักษา ผู้ป่วยถึงในรถ โดยผู้บริหารของ เอ็นบีเจเจ อธิบายว่า บริการทางการแพทย์ในรูปแบบนี้ตอบโจทย์ความกังวลของผู้รับบริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาผู้คนจำนวนมากกลัวการไปโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมในการตรวจรักษาที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า คลินิกแบบไดรฟ์ทรู มีแนวคิดคล้ายคลึงกันกับการรักษาแบบทางไกล โดยการรักษาแบบไดรฟ์ทรูสามารถมาเติมเต็มข้อบกพร่องของการรักษาทางไกล ที่บางอาการเจ็บป่วยอาจหลงหูหลงตาแพทย์ไปบ้าง ทำให้การวินิจฉัยอาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะการรักษาแบบไดรฟ์ทรู อย่างน้อยแพทย์ก็สามารถตรวจคนไข้ได้แบบตัวต่อตัว

สำหรับต้นแบบโมเดลคลินิกแบบไดรฟ์ทรูที่เอ็นบีเจเจ บริษัทสถาปัตย์อเมริกัน ได้ออกแบบนั้น สามารถสร้างและตั้งอยู่ในลานจอดรถโรงพยาบาล โดยใช้พื้นที่เพียงแค่ 60 ฟุต ซึ่งตัวโครงสร้างของคลินิก สามารถประกอบขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็วด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบ DIY ของอิเกีย

โดยไอเดียการออกแบบคลินิกแบบไดรฟ์ทรู เป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ คือ
  • แบบค่อนข้างถาวร มีผนังกั้น แบ่งเป็นช่องๆ สำหรับรถแต่ละคันที่มาเข้ารับบริการ
  • แบบที่สอง มีผนัง ส่วนหลังคาใช้หลังคาลานจอดรถ
  • แบบที่สาม เป็นผนังอ่อน หลังคาเป็นหลังคาเต็นท์ ซึ่งใช้เวลาสร้างน้อยที่สุดและใช้ต้นทุนน้อยที่สุด

คลินิกแบบไดรฟ์ทรู คำตอบสุดท้าย ตอบโจทย์ความปลอดภัยในการรักษาโรค ยุค นิวนอร์มอล

มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจคิดว่าการให้บริการคลินิกแบบไดรฟ์ทรู ทำได้แต่เฉพาะการตรวจรักษาหรือตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิดเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว การให้บริการทางการแพทย์แบบนี้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรค NCDs หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็ได้ หรือผู้ป่วยโรคทั่วไปอย่าง โรคหวัด ก็สามารถมาใช้บริการไดรฟ์ทรูคลินิกนี้ได้เช่นกัน
และอีกข้อดีหนึ่ง ที่เอ็นบีเจเจ ได้ชี้ให้เห็น คือ การที่คลินิกประเภทนี้ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลก็ย่อมสร้างความสะดวกให้ผู้มาเข้ารับบริการหรือผู้ป่วย ที่สามารถเข้าไปรับบริการจากโรงพยาบาลทันที หากมีอาการหนักหรือต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
นอกจากนั้น การให้บริการแบบคลินิกไดรฟ์ทรู นี้ ยังเอื้อประโยชน์กับคนทุกเพศทุกวัย เช่น สำหรับพ่อ แม่ ที่มีลูกเล็ก ก็ให้ลูกนั่งคาร์ซีทเพื่อตรวจหรือรอคนในครอบครัวมาทำการรักษาได้ ซึ่งลูกก็จะอยู่ในสายตาของพ่อแม่ และยังเอื้อต่อผู้สูงวัย ที่อาจไม่สะดวกทั้งการเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาล เพราะเดินเหินค่อนช้างลำบากและไม่สะดวกในการสื่อสารกับแพทย์ด้วยการตรวจทางไกลด้วย
โดยคอนเซ็ปการออกแบบการให้บริการในรูปแบบของคลินิกไดรฟ์ทรูที่ทาง เอ็นบีเจเจ นำเสนอ จะมาในแนวทางของ “ช่องทางการให้บริการ” ซึ่งรถแต่ละคันจะเข้าจอดตามช่องที่จัดไว้ และบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ที่เดินไปตามรถแต่ละคัน แทนที่จะเป็นการไดรฟ์ทรูแบบภาพที่เราคุ้นชินในช่วงโควิดระบาด ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองที่ผู้ตรวจสามารถอยู่ในรถได้เลย
โดยคนขับจะเข้าไปจอดตรงช่องหน้าต่างที่มีพนักงานต้อนรับหรือพยาบาลที่จะทำการสอบถามคัดกรองอาการในเบื้องต้นอยู่ด้านใน
ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการหนัก เป็นอาการปวดหัว มีไข้ เป็นหวัด ธรรมดา บุคลลากรทางการแพทย์ก็จะตรวจคนไข้ผ่านหน้าต่างหรือประตูรถ
ทั้งนี้ ประโยชน์ทางอ้อม ที่ทางโรงพยาบาลจะได้จากการเปิดให้มีการให้บริการรักษาในแบบไดรฟ์ทรูนี้ คือ การช่วยแบ่งบาภาระทางเศรษฐกิจให้กับโรงพยาบาลได้ เพราะเป็นการนำเสนอนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ ที่ช่วยเติมเต็มความสบายใจให้กับผู้เข้ารับบริการหรือผู้ป่วย ที่ก่อนหน้านี้ มักหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมาโรงพยาบาลเพราะกลัวติดเชื้อโรค ส่งผลให้รายได้ของทางโรงพยาบาลลดลงนั่นเอง

ที่มา : เรียบเรียงจาก รายงานข่าวเรื่อง “ไดรฟ์ทรูคลินิก การรักษาแห่งอนาคต” หนังสือพิมพ์ Business Today (10 -16 สิงหาคม 2563)

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


หญิงแม้น