อะไรทำให้คนลงทุนส่วนใหญ่ล้มเหลว
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด แต่ถ้ารู้จักตัวเอง จะอยู่รอดได้ในการลงทุนในตลาดหุ้น”
ตอนเข้ามาคิดแบบไหน วันนี้คิดแบบไหน ต่างกันตรงไหน อะไรคือข้อเรียนรู้
ถ้าเป้าหมายของเราไม่ชัด แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ตอนนี้ เราอยู่ตรงไหน
เมื่อกำหนดเป้าหมายชัด เราก็จะสามารถวางกรอบการลงทุนของเราได้ว่า ควรเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่าไหร่
การลงทุนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการนั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคลของนักลงทุนแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจ อายุ ผลตอบแทน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับหุ้นของบริษัทในตลาดมีอยู่มากมาย แต่ทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน
เพราะ นักลงทุนที่ล้มเหลวส่วนใหญ่มักซื้อขายหุ้นตามผู้อื่น และลงทุนตามกระแสข่าว ขณะที่นักลงทุนประสบความสำเร็จคิดต่างจากนักลงทุนทั่วไป คือ มีความคิดว่าการลงทุนเป็นธุรกิจ จึงทุ่มเทให้กับการศึกษารายละเอียดที่จะลงทุน และพยายามกำจัดความเสี่ยง มีการวางแผนการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอน
จึงขอนำแนวคิดของ "เจสซี่ ลิเวอร์มอร์" มาแชร์ครับ
7 แนวคิดสู่การเป็นนักเทรดหุ้นหมื่นล้าน
ของ "เจสซี่ ลิเวอร์มอร์"
ตำนานนักเก็งกำไรหุ้นแห่งวอลล์สตรีท

.
(1) เทรดหุ้นต้องเน้นคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ
แนวทางการเทรดหุ้นเก็งกำไรของเจสซี่ ลิเวอร์มอร์ แทนที่จะมานั่ง Scalping หรือเทรดรายวัน แต่เขาจะเน้นเทรดคำสั่งใหญ่ และถือคำสั่งนั้นอย่างต่ำหลายสัปดาห์ เมื่อเทรดไปแล้วก็เพียงแค่รอดูสิ่งที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือไม่สนใจจำนวนครั้งในการเทรด แต่เน้น “คุณภาพ” ในการเทรดแต่ละครั้ง โดยดูจากราคาที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่มูลค่าพื้นฐาน วิธีนี้ทำให้เขาสร้างผลตอบแทนได้ก้อนใหญ่
.
(2) ซื้อหุ้นให้ถูกเวลา สำคัญกว่าซื้อหุ้นราคาถูก
นักเล่นหุ้นหลายคนมักจะขิงกันว่า “ซื้อหุ้นตัวนี้มาได้ถูกสุดๆ” ประมาณว่าใครซื้อราคาถูกกว่าคนนั้นชนะ แต่จริงๆ แล้วมันไม่สำคัญเลยว่า เราจะซื้อหุ้นได้ถูกขนาดไหน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราซื้อถูกเวลาหรือเปล่า? และจงอย่าซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดใหม่ เพราะอาจมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้มันไปถึงจุดนั้น
.
(3) ขาดทุนเพราะ Cut Loss ดีกว่าฝืนต่อระยะยาว
นักรบย่อมมีบาดแผล ...นักลงทุนก็เช่นกัน ก่อนที่ลิเวอร์มอร์จะประสบความสำเร็จ บอกเลยว่าเขา “เจ็บมาเยอะ” มีครั้งหนึ่งที่เขาสนใจการเทรดสินค้าเกษตร โดยคิดว่าข้าวสาลีจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนฝ้ายจะอยู่ในช่วงขาลง แต่มีนักวิเคราะห์หุ้นชื่อดังบอกว่า “ฝ้ายอยู่ในช่วงขาขึ้นต่างหากล่ะ” ลิเวอร์มอร์จึงเชื่อและลงทุนตามนั้น ผลก็คือราคาฝ้ายดิ่งเหว แต่ก็ยังพยายามฝืนถัวเฉลี่ยขาลง จนในที่สุดก็ขาดทุนย่อยยับ
.
ตั้งแต่นั้นเขาก็หันมาเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ฟังเคล็ดลับหรือคำแนะนำจากใครอีกเลย เมื่อไหร่ที่ขาดทุนเกินกว่าจุดที่ตั้งไว้ เขาจะ Cut Loss ขายหุ้นทิ้งทั้งหมดทันที เพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้ลงทุนต่อไป พร้อมทั้งบอกว่า เขาไม่เคยกลัวการขาดทุนในตลาดหุ้น แต่กลัวการ “รู้ว่าขาดทุน แต่ตัดใจไม่ได้” ต่างหาก
.
(4) ชัยชนะของการเทรดหุ้น คือต้องชนะอารมณ์ตัวเอง
หลายคนมักคิดว่าการเล่นหุ้นจะต้องเอาชนะตลาดให้ได้ ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่จริงๆ แล้วลิเวอร์มอร์มองว่า สิ่งที่ยากกว่าคือการ “เอาชนะใจตัวเอง” เช่น ควบคุมให้มีวินัยการลงทุน ไม่โลภมาก และอย่าเทรดด้วยความโมโห คิดเอาคืนในยามขาดทุน ฯลฯ คนที่ทำได้ก็จะประสบความสำเร็จ และได้ผลตอบแทนที่ดี
.
(5) ศึกษาตลาดก่อนเทรดเสมอ
คนส่วนใหญ่มักจะคาดเดาทิศทางของตลาดจากหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ แต่พอขายหุ้นตัวนั้นไปแล้ว ถึงจะรู้ว่าจริงๆ แล้วทิศทางของตลาดกำลังเป็นอีกแบบหนึ่ง พวกเขาไม่ได้มองภาพรวมของตลาดก่อนที่จะเทรด แต่เทรดแล้วค่อยมองภาพรวมทีหลัง นี่คือเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
.
(6) จำไว้ว่าหุ้นพื้นฐานดีก็ร่วงได้เหมือนกัน
ก่อนเริ่มเล่นหุ้น หลายคนมักจะศึกษาข้อมูลของหุ้นแต่ละตัว และคิดว่าหุ้นพื้นฐานดีจะปลอดภัยแม้ยามวิกฤต แต่ลิเวอร์มอร์ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก เขาเชื่อว่าพื้นฐานของบริษัทไม่มีความจำเป็น เพราะถ้าตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น หุ้นทุกตัวก็จะขึ้น ถ้าตลาดอยู่ในช่วงขาลง หุ้นทุกตัวก็จะลงด้วยกันหมด
.
(7) อย่าเชื่อโพยหุ้น
ถ้าเราเล่นหุ้นด้วยการ “ซื้อ-ขายตามคนอื่น” นั่นแปลว่าเราต้องเลียนแบบเขาทุกอย่าง เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นตามนักธุรกิจหมื่นล้านคนหนึ่ง เราก็ต้องขายมันในเวลาเดียวกับเขาด้วย แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งเราไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกับหุ้นตัวนั้นบ้าง เราก็ไปต่อไม่เป็นเสียแล้ว ดังนั้นถ้าคิดจะเล่นหุ้น จงเชื่อมั่นและมีหลักการเป็นของตัวเอง
.
และนี่ก็คือเคล็ดลับของ “เจสซี่ ลิเวอร์มอร์” ตำนานนักเก็งกำไรหุ้นแห่งวอลล์สตรีท น่าเสียดายที่ชีวิตบั้นปลายของเขาจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย มีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะอาการโรคซึมเศร้าอย่างหนัก อย่างไรก็ตามเขาคือหนึ่งในนักลงทุนระดับตำนานที่โลกต้องจดจำ
นักลงทุนที่ยังล้มเหลว หรือ ยังค้นหาแนวทางการลงทุนของตัวเองไม่เจอ น่าจะลองนำมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจลงทุนดูนะครับ

.
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก... http://aomMONEY.com