ห้องเม่าปีกเหล็ก

อะไรคือเหตุผลที่ KBank จัดเต็ม รุก “เวียดนาม” ทุกกระบวนท่าเป็นประเทศแรก

โดย PhotoStory
เผยแพร่ :
347 views

อะไรคือเหตุผลที่ KBank จัดเต็ม รุก “เวียดนาม” ทุกกระบวนท่าเป็นประเทศแรก

 

ธนาคารกสิกรไทยเฉลิมฉลองการเปิด "สาขาโฮจิมินห์" อย่างเป็นทางการหลังได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเวียดนามให้ดำเนินการสาขาธนาคารต่างประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นจังหวะที่ดีมากเพราะหลังจากนั้นทางการเวียดนามกลับมาเข้มงวดเกี่ยวกับการทำธุรกิจธนาคารในประเทศอีกครั้ง 
 

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาค AEC+3  ด้วยยุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy ที่มีกลยุทธ์การทำธุรกิจใน 3 แนวทาง คือ 1 รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุนและลูกค้าท้องถิ่น 2 ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร (Mass Acquisition Play) โดยเน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform และ 3 พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play)  โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้นใน และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas) ได้ 

“ในแต่ละประเทศอาจจะใช้ยุทธศาสตร์ใดยุทธศาสตร์หนึ่งตามความเหมาะสมกับพื้นที่ แต่สำหรับเวียดนามเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ธนาคารกสิกรไทยเล่นทั้ง 3 กระบวนท่าหรือ 3 ยุทธศาสตร์เพราะเวียดนามเป็นประเทศเกิดใหม่ที่เติบโตก้าวกระโดด มีอัตราการเข้าถึงมือถือของประชากรเวียดนามสูงถึง 150 % และใช้ 5G มาตั้งแต่สองปีก่อน การมีลูกค้าอยู่บนดิจิทัลจะทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว”


 

ทำความรู้จัก “เวียดนาม” ในฐานะดาวเด่นแห่งอาเซียนใน 2 จุดเด่นคือ

- เมืองหนุ่มสาว

เวียดนามแตกต่างจากประเทศไทย เนื่องจากเวียดนามยังมีอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมสูงในระดับปานกลาง ซึ่งทำให้คาดว่าจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในอนาคต

เวียดนามมีประซากรวัยทำงานอายุ 15-60 ปี: 65% เป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดตลาด หนึ่งในอาเชียนคาดว่าจำนวนประชากรเวียดนามจะสูงถึง 100 ล้านคนในปี 2568 โดยกลุ่มอายุที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในช่วง 20-30 ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างมีอายุน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอื่น ๆ

ค่าแรงขั้นต่ำ : 139.13-200.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือนใน ปี 2565 ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ร่ำรวยและมีกำลังซื้อสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองคาดว่าจะเพิ่มจาก 32 % (ปี 2558) เป็น 43 % (ปี2573) พร้อมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

 

- ก้าวหน้าเทคโนโลยี

ภาพรวมสตาร์ทอัพในเวียดนาม: เวียดนามมีสตาร์ทอัพประมาณ 3,800 บริษัท โดยมี 4 บริษัทที่เป็นยูนิคอร์น และ 11 บริษัทมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย 4 ยูนิคอร์นของเวียดนาม - มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ

(1) VNG – บริษัทเทคโนโลยีอันดับ 1 และเป็นยูนิคอร์แห่งแรกของเวียดนาม

  • เจ้าของแอพพลิเคชั่นส่ง Message: Zalo และแอพโซเซี่ยลมีเดีย Zing Me
  • เจ้าของแอพ Payment: Zalopay และ 123pay
  • ผู้ผลิตเกมส์ออนไลน์ เช่น Sky Garden, Crossfire Legend
  • เจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา (Edtech) ชื่อ Zuni online learning

(2) VNPay - บริษัท Fintech ที่เป็นยูนิคอร์นของเวียดนาม

  • เป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นในมือถือของธนาคารมากกว่า 22 แห่งในเวียดนาม เช่น Agibank, Vietcombank, VietinBank, and BIDV
  • มีผู้ใช้งานมากกว่า 22 ล้านคนต่อเดือน

(3) MoMo - บริษัท e- Wallet ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในเวียดนาม

  • เป็นผู้ให้บริการแอปฯ MoMo ซึ่งเป็นe-Wallet ที่มีผู้ใช้มากกว่า 23 ล้านคน โดยสามารถใช้ได้ใน 80% ของร้านอาหารและเครื่องดื่ม และ 70%ของซุปเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม

(4) Sky Mavis- บริษัทสตูดิโอเกมซึ่งผลิตเกมบนโลกบล็อกเชนในรูปแบบ

Play-to-Earn หรือ เล่นเพื่อสร้างรายได้ ในช่วงพีค มีผู้เล่นสูงสุด 2.7 ล้านคนต่อวัน

นอกจากนี้มูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาและแตะระดับ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 การลงทุนในธุรกิจ Digital Payment และ E-commerce ยังได้รับความนิยมสูงสุดในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนในธุรกิจเกมออนไลน์มีการเติบโตก้าวกระโดด (+2,813% และการลงทุนในธุรกิจ Healthcare (+1,016%) ก็เป็นที่จับตามองอยู่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน Healthtech เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่น่าจับตามองของเวียดนาม เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ผู้บริโภคเต็มใจจะจ่ายเงินเพื่อบริการด้าน Health  Care มากเมื่อเทียบกับรายได้ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพสูงถึง 6.6% ของ GDP ในขณะเดียวกันเวียดนามยังต้องใช้เวลาอีก 70 ปี จึงจะพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขเทียบเท่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งวัดจากจำนวนแพทย์ต่อประชากรของเวียดนามเทียบกับประเทศ OECDดังนั้น Telemedicine หรือแพลตฟอร์มพบกับหมอออนไลน์จึงเป็นทางออกสำคัญในการยกระดับการให้บริการ Healthcare ของเวียดนาม

ด้วยเวียดนามมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก ธนาคารกสิกรไทย จึงเลือกส่ง K PLUS Vietnam ที่แยกร่างจากแอปฯ K PLUS  ในประเทศไทยไปเป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคลในเวียดนามเพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศที่เริ่มตลาดมาสองเดือนก็มีผู้ใช้ในเวียดนามทะลุแสนรายไปแล้ว และการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็กเพราะจะเห็นบางร้านรับ QR CODE ปิ๊บจังของ K PLUS Vietnam บ้างแล้วและเริ่มให้สินเชื่อกับร้านค้าเล็กๆเหล่านี้แล้วเช่นกัน

แผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยวางเป้าหมายว่า จะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ให้บริการบนดิจิทัลกับผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 โดยจะให้น้ำหนักกับประเทศเวียดนามเป็นสำคัญ และเร็วๆนี้จะรุกไปยังอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างการเข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเป็น 67.50% ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปีนี้ด้วย 

ธนาคารกสิกรไทยมีรายได้จากธุรกิจต่างประเทศสัดส่วนราว 2.2% ของรายได้ธนาคารทั้งหมด โดยประมาณ 50% เป็นรายได้จากธุรกิจในจีนที่เหลือกระจายในอาเซียน โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้ต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 5% ในปี 2566  ซึ่งหลังเปิดสาขาเวียดนามอย่างเป็นทางการคาดว่าเวียดนามจะมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย และยังมีอินโดนีเซียที่กำลังเดินหน้าเต็บสูบรออยู่ด้วย

 

 


PhotoStory