ห้องเม่าปีกเหล็ก

5 CEO พลังงาน หวั่น

โดย poomai
เผยแพร่ :
53 views

5 CEO พลังงาน หวั่น 'โควิด' ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจ

ผ่านช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไปแล้ว แต่ดูเหมือนภาคธุรกิจเจอศึกหนักจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ไม่มีท่าทีจะคลี่คลาย แม้ว่าสถานการณ์ในจีนจะดีขึ้นแต่ยังแพร่ระบาดหลายประเทศ โดยเฉพาะใน 11 ประเทศกลุ่มเสี่ยง กลายเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามความเห็นผู้บริหารระดับสูง หรือ CEO ภาคธุรกิจพลังงาน เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจปี 2563 และการเตรียมพร้อมแผนการลงทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ประเมินว่าความท้าทายต่อธุรกิจปีนี้ยังให้น้ำหนักสูงสุดอันดับ 1 คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามว่า สถานการณ์จะยั่งยืน หรือ คลี่คลายลง 

แม้ว่าขณะนี้มีท่าทีที่ดีขึ้นระหว่าง 2 ประเทศที่เจรจากันได้บางเรื่องทำให้จีนรับสินค้าเกษตรจากสหรัฐได้มากขึ้น ขณะที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบ แต่จีนมีปัญหาไวรัสโคโรนาที่ต้องใช้เวลาแก้ไข ซึ่งหากยุติลงได้เชื่อว่าจะมาเจรจากันต่อ เพราะหากมีความขัดแย้งต่อจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีทั้ง 2 ประเทศ

อันดับ 2 ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นที่เพิ่งเกิดขึ้นต้นปี 2563 คือ การระบาดของไวรัสโคโรนา แต่เชื่อว่าอาจเริ่มคลี่คลายภายในไตรมาส 1-2 นี้ ซึ่งทางการแพทย์น่าจะเข้ามาดูแลได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาและคงไม่ซึมยาว

อันดับ 3 คือ ภัยแล้งที่กระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิต แต่การช่วยเหลือกันของภาครัฐจะผ่านพ้นไปได้ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากจังหวัดจันทบุรีมาช่วย โดยหากเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ มีฝนมาเพิ่มจะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย อีกทั้งกลุ่ม ปตท.ช่วยเหลือตัวเองด้วยการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด

ส่วนงบประมาณปี 2563 ที่เบิกจ่ายล่าช้า น่าจะเริ่มเบิกจ่ายลงทุนได้ในเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

สำหรับปีนี้ ปตท.วางกลยุทธ์ 5 ปี (2563-2567) งบลงทุน 9 แสนล้านบาท โดย 60% ลงทุนในประเทศ ส่วนอีก 30-40% ลงทุนต่างประเทศ โดยขณะนี้ใช้เงินลงทุนปี 2563 วงเงิน 69,310 ล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ 0.2-0.3% โดยจะขยายการลงทุนตามแผนทั้งธุรกิจขั้นต้นที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และธุรกิจก๊าซระดับโลกเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ 

“จีซี”ชี้โควิดปัจจัยเสี่ยงอันดับ1

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า บริษัทฯประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการทำธุรกิจปีนี้ โดยปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ ไวรัสโคโรนาที่กระทบการส่งออกเม็ดพลาสติกของบริษัทไปจีน ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ลดลง 1-2% จากเดิมมีสัดส่วนส่งออกตลาดจีนอยู่ที่ 25-27% เหลือ 23% ของกำลังการผลิตรวม 2.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาร์จินไตรมาส 1 

ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายต้นไตรมาส 2 และกลับเข้าสู่ปกติช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้รับมือโดยปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกไปอาเซียน แอฟริกาและอินเดียทดแทน

อันดับ 2 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อธุรกิจ แม้ว่าล่าสุดสถานการณ์จะดีขึ้น

อันดับ 3 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ที่ราคายังผันผวนขึ้น-ลง ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก

ดังนั้น ปีนี้บริษัทฯ จะเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผนงานภายใต้งบ 3-4 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร (MAX) ให้ครอบคลุมการเชื่อมโยงซีพพลายเชน 20 โรงงานในมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จากเดิมที่ดำเนินการในแต่ละโรงงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และลดต้น รวมถึงตั้งเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายบริหารจัดการปีนี้ลง 5% จากปี 2562 ลดลงได้ 10% ซึ่งจะเป็นไปตามกลยุทธ์ Step change ที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับฐานการผลิตปัจจุบันของบริษัทฯที่มาบตาพุด

"บ้านปู"ระบุโควิดควบคุมยาก

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินปัจจัยลบต่อธุรกิจปีนี้ อันดับ 1 คือ ไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศที่ยากจะควบคุม แต่มองว่าหลายประเทศจะมีมาตรการรับมือและควบคุมได้ในที่สุด แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนยังไม่กระทบโดยตรงต่อบริษัทฯ แต่อาจกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนทั่วโลกสะท้อนจากตลาดหุ้นในสหรัฐที่ลดลงกว่า 4,000 จุด

“ช่วงต้นปีนี้ธุรกิจถ่านหินในจีนได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาในด้านการขนส่งและก่อสร้างโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง แต่เชื่อว่าเดือน มี.ค.นี้ การระบาดจะคลี่คลาย ทำให้การขนส่งถ่านหินและการสร้างโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงที่จีน เดินหน้าได้ตามแผนที่จะเสร็จปีนี้”

อันดับ 2 คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหากกดดันให้ราคาก๊าซฯและราคาถ่านหิน ปรับลดลงก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อรายได้บริษัท

อันดับ 3 คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอน หรือ อุบัติเหตุต่างๆที่อาจกระทบกำลังการผลิต เช่น ปี 2562 เหมืองถ่านหินในออสเตรเลียเกิดปัญหาอุทกภัยทำให้การผลิตต่ำกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ การที่บริษัทฯ ปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ตามกลยุทธ์ Greener&Smarter ที่เน้นลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานมากขึ้น จะทำให้รับมือปัจจัยเสี่ยงได้ดีขึ้น โดยปี 2563 ตั้งงบลงทุน 930 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ 90% ลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน และอีก 10% ลงทุนการซ่อมบำรุงเหมืองถ่านหิน ทำให้ปีนี้มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) มาจากพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีพลังงานมากกว่า 40%

“ไทยออยล์”หวั่นกระทบทั่วโลก

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจปีนี้ อันดับ 1 คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเมินสถานการณ์ไม่ได้ว่าจะยุติเมื่อใด และทำให้เกิดความกังวลทั่วโลกที่รัฐบาลทุกประเทศต้องหามาตรการตั้งรับ แต่จีนเริ่มหามาตรการช่วยเหลือ เช่น แจกเงิน ลดดอกเบี้ย ดังนั้น หากคลี่ยคลายเร็วเชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

อันดับ 2 คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

อันดับ 3 คือ ปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบ ที่จะส่งผลต่อมาร์จินธุรกิจการกลั่นและส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) แต่เป็นปัจจัยที่บริษัทต้องติดตามสถานการณ์ทุกปี เพื่อวางแผนบริหารจัดการรับมืออยู่แล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระยะสั้น ได้ลดสัดส่วนการกลั่นน้ำมันอากาศยาน (Jet) เดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ลง 8-10% เพราะความต้องการน้ำมันอากาศยานลดลง และเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดีเซลที่มีความต้องการ ทำให้สัดส่วนการกลั่นน้ำมัน Jet อยู่ที่ 15% จากเดิมอยู่ที่ 23% ในขณะที่ดีเซลเพิ่มมาอยู่ที่ 41% จากเดิม 33% ส่วนเบนซินคงเดิม 16%

ส่วนการลงทุนระยะยาวได้ขยายการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP ) 4,825 ล้านดอลลาร์ หรือ 160,000 ล้านบาท จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใช้เงินลงทุนปีนี้มากที่สุด 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการใหญ่สุดของกลุ่ม ปตท.ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้

“บางจาก”ชี้ไวรัสฉุดดีมานด์น้ำมัน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจปี 2563 อันดับ 1 คือ การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดีมานด์และซัพพลายของธุรกิจน้ำมันของทั่วโลก ซึ่งการระบาดที่กระจายไปหลายประเทศกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกหวาดกลัวและระมัดระวังกิจกรรมต่างๆ

อันดับ 2 คือ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้า เพราะผ่านมา 5 เดือนแล้ว (ต.ค. 62-ก.พ.63) ยังเบิกจ่ายเพื่อขับการลงทุนไม่ได้

อันดับ 3 คือ การจัดเก็บภาษีต่างๆ ที่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย หรือ ค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพื่อจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมรับมือปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจปีนี้ โดยสั่งการให้ทุกบริษัทในเครือทำแผนลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใต้โครงการ Rocket ให้เข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่ปี 2563 บางจากฯ ตั้งงบลงทุน 29,800 ล้านบาท สำหรับพัฒนาธุรกิจพลังงานครบวงจร

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมุลจาก


poomai