ห้องเม่าปีกเหล็ก

‘เอกชน’ ระดมหาทางออก

โดย พายุ
เผยแพร่ :
41 views

‘เอกชน’ ระดมหาทางออก ลดผลกระทบ ‘ภาษีทรัมป์’

 

  • ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น การสร้างกำแพงภาษี และใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) แทนการลดภาษี 0% ทั้งหมดแบบเวียดนาม
  • เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจัดการปัญหาการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาลดหย่อนภาษีกับสหรัฐฯ
  • ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (Soft Loan) เพิ่มเติม, ชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และให้ธปท. ดูแลนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ
  • กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำนิติกรรมอำพรางและใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออก
  • เสนอให้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เกษตรแปลงใหญ่ และทักษะแรงงาน เพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

 

 

กรุงเทพธุรกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลม “กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of (Re) Deal” เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2568 ซึ่งมีการประเมินผลกระทบจากการที่สหรัฐประกาศภาษีตอบโต้อัตรา 36% สำหรับไทย โดยมีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาเป็นประธานในการเสวนาครั้งนี้

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ไม่จำเป็นที่ไทยต้องลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนามที่ยอมเปิดทั้งหมด ซึ่งต้องลดภาษี 0% บางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยไทยจำเป็นต้องสร้างกำแพงทางการค้าให้สูงขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 คิดเป็นมูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 มาเลเซียที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐสูงเช่นกันกลับถูกเก็บภาษีเพียง 25% เพราะบริหารจัดการปัญหาการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าดีกว่าไทย จึงไม่แน่ใจว่าการเจรจาของไทยจะลดอัตราภาษีลงได้มากน้อยเพียงใด ภาครัฐจึงควรรีบดำเนินการจำกัดการสวมสิทธิ์จริงจัง

นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอรัฐบาลเร่งดำเนินการประเด็นสำคัญ คือ 1.มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และเร่งให้นำกฎหมายตอบโต้การอุดหนุนมาใช้

 

2. มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (Soft Loan) แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ธนาคารพาณิชย์กลับเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม

3.มาตรการเยียวยาทางอ้อมบางบริษัทต้องลดพนักงานเพื่อพยุงธุรกิจ ดังนั้น ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำจึงสำคัญและขอให้กระทรวงแรงงานชะลอขึ้นค่าแรงเพราะผู้ผลิตเผชิญกับวิกฤติหนัก การปรับขึ้นค่าแรงในตอนนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานได้

ชี้ผลเจรจามีความไม่แน่นอนสูง

นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเจรจามีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐกับเวียดนามที่ผู้นำ 2 ประเทศชี้แจงไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ ยังมีหลายประเด็น เช่น Transshipment จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ดังนั้น ตนคิดว่าวันนี้คงต้องรอดูกันว่าจะตกลงกันอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจของ WHA เองไม่กังวล โดยยอดขายที่ดินปีนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง การพิจารณาปัจจัยลงทุนหลายอย่าง ทั้งภาษีศุลกากร โครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่ซัพพลายเชน เป็นต้น

WHA มีธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม จึงอยากให้เห็นภาพว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ Product ของไทยและเวียดนามมีความแตกต่างกันสำหรับบางอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะไม่สามารถมาไทยได้ หากเป็นโรงงานขนาด 50,000 คนขึ้นไปไทยมีข้อจำกัดเพราะอีกไม่ถึง 10 ปีก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงควรไปลงทุนที่เวียดนาม

ทั้งนี้ถ้าอุตสาหกรรมใดต้องการได้ Supply Chain หรือโครงสร้างพื้นฐาน ก็มาลงทุนที่ไทย และอยากให้เห็นภาพที่ชัดว่า หากไม่รวมภาษีที่เกิดขึ้น จะพบว่าเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากกว่าไทยถือเป็นข้อได้เปรียบของเวียดนาม ซึ่งวันนี้ไทยยังไม่รู้ว่า ภาษี Transshipment จะจบที่เท่าไหร่ และยังไม่รู้ว่าจีนจะได้อัตราภาษีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อน FDI

หวังทีมเจรจาปิดดีลต่ำกว่าเวียดนาม   

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลังต้องติดตามใกล้ชิด หากดูการบุ๊กกิ้งสายเรือของผู้ส่งออก พบว่า การส่งออกไทยในเดือนก.ค. 2568 ลดลงไปถึง 30% โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐขยายตัวเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าที่สหรัฐเร่งนำเข้ามาสต๊อกสินค้าที่เพียงพอแล้ว

สำหรับมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ซึ่งจากการหารือในสมาชิก ส่วนใหญ่ตั้งรับอัตราภาษีที่จะกระทบอยู่ที่ 36% หากไทยเจรจาอัตราที่ดีเป็นเรื่องดีของผู้ส่งออก แต่หากในอัตราภาษี 36% ผู้ส่งออกได้เตรียมการรับมือในเบื้องต้นกันแล้ว และปรับตัวเพื่อให้การส่งออกยังไปได้ แต่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแล 3 ด้าน คือ

1.ค่าแรง ต้องการให้รัฐบาลมีการพิจารณาเรื่องนี้ให้มีความรอบคอบอีกครั้ง เพราะการปรับค่าแรงอาจเป็นต้นทุนสำคัญในการแข่งขัน

2.นโยบายด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมดูความจำเป็นและสถานการณ์ปัจจุบัน

3.การทำนิติกรรมอำพราง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย เรื่องนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างจริงจัง และบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มงวดให้มากขึ้น

จี้จัดการสินค้าสวมสิทธิ์-ด้อยคุณภาพ

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาษีทรัมป์แม้จะเป็นวิกฤติแต่ก็เป็นโอกาส โดยสินค้าเกษตรบางรายการที่เราขาดอยู่เราสามารถเปิดนำเข้าได้เพราะเราผลิตได้ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้ ขณะที่ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า ก็ทำให้เราต้องเข้มงวดกับปัญหานี้ 

ซึ่งการส่งออกสินค้ามีหน่วยงานที่ออกใบC/O ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยซึ่งหอการค้าไทยเป็นผู้ที่ออกใบ C/O มากที่สุดแต่ก็มีหน่วยงานจากสหรัฐเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีปัญหา แต่ระยะหลังอาจสวมสิทธิ์ส่งออก ซึ่งทำให้สหรัฐใช้เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งในการเจรจาซึ่งไทยก็ต้องเจรจากันต่อไป

นายจีรพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้เราต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ใช้โอกาสในพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อ ลดต้นทุนการผลิตโดยในปัจจุบันเรื่องของความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาทักษะคน ซึ่งสิ่งเหล่าจะทำให้ประเทศมีความยั่งยืน

“อิเล็กฯ”ยืนยันปลอดสวมแหล่งกำเนิด

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย กล่าวว่า หากพูดถึงโลคอลคอนเทนต์ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนเตอร์ช่วงเริ่มต้นมีเพียง 5% เท่านั้น และใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าจะขยับมาถึง 50% เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคโนโลยีระดับสูง คุณภาพ และความแม่นยำที่สูงมาก

ยกตัวอย่าง “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” วันนี้ 50% เป็นโลคอลคอนเทนต์ และถ้านับรวมโลคอลเซอร์วิสเข้าไปด้วยอาจถึง 60-70% เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างทำให้เกิดการผลิตในประเทศส่วนกลุ่ม“เซมิคอนดักเตอร์”นับว่ายังต่ำมาก ฉะนั้นต้องดูเป็นรายเซ็กเตอร์ ซึ่งแต่ละประเภทจะมีไทม์มิงในการเทค ออฟซึ่งใช้เวลาพอสมควร

ทั้งนี้ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดประเด็นเรื่องการ “สวมสิทธิ์” ยืนยันได้ว่าเป็นศูนย์เพราะผ่านการตรวจสอบและจัดการกันมาแล้วโดยภาคเอกชนตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

 

 

ที่มา..  https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1189394

 


พายุ