
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งต่อเนื่องและแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ด้านสำหรับประเทศเกิดใหม่
ขณะที่การปรับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนคงไม่น่าจะช่วยแนวโน้มของสถานการณ์นี้ได้มากนัก
ความสนใจของตลาดในหลายเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคือผลกระทบที่จะมีต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก และความเสียหายที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในเอเชีย
ข้อพิพาทของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่สามารถฉุดเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคเอเชียให้ชะลอตัวลง รวมทั้งยังมีปัจจัยความเสี่ยงอย่างอื่นที่คอยอยู่ข้างหน้า
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งคืออุปสงค์ของจีนในการบริโภคสินค้าที่มาจากประเทศอื่นของเอเชียที่มีโอกาสที่จะลดลงด้วย
หลุยส์ คุจส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจของ Oxford Economics ชี้ว่าประเด็นนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสำหรับประเทศเพื่อนบ้านของจีน
คุจส์กล่าวในบทวิจัยเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า สำหรับประเทศเอเชียส่วนใหญ่ มูลค่าการส่งออกสินค้าเพื่อป้อนอุปสงค์ของตลาดภายในจีนได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ามาก เมื่อเทียบกับยอดการส่งออกทางอ้อมที่ผ่านระบบห่วงโซ่อุปทาน
พร้อมระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลจีนจะได้ปรับนโยบายต่างๆเพื่อหนุนอุปทานในประเทศ รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมจีนบางส่วนไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบลงได้บ้าง แต่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในเอเชียคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลเสียหายได้ทั้งหมด
ธนาคาร Citi กล่าวในรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ด้านสำหรับประเทศเกิดใหม่ โดยที่การปรับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนคงไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก
แต่มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่ไม่เห็นด้วยว่า สถานการณ์จะเลวร้ายมากขนาดนั้น
สตีเว่น ฟรีแมน และชิโล นักวิเคราะห์อาวุโสของ BNP Paribas Asset Management กล่าวว่า ความเข้าใจส่วนใหญ่ที่ว่าสงครามภาษีนำเข้าจะกระทบตลาดประเทศเกิดใหม่คงจะยังไม่ได้มองภาพรวมทั้งหมดของภูมิภาคนี้
พวกเขาชี้ว่าการส่งออกของประเทศเกิดใหม่ในเอเชียอาจจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในจีน และการโยกย้ายคำสั่งซื้อสินค้าของสหรัฐไปยังประเทศอื่นเพื่อชดเชยกับสินค้านำเขาจากจีนที่ลดหายไป
นักวิเคราะห์อาวุโสของ BNP Paribas กล่าวว่า เวียดนาม อินเดีย บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย อาจได้รับคำสั่งซื้อสินค้าในหมวดระดับล่างจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เช่นรองเท้า ของเล่น และสิ่งทอ ในขณะที่สหรัฐอาจจะหันไปซื้อสินค้ามูลค่าที่สูงขึ้น เช่นอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกและเครื่องจักร จากเกาหลีใต้
นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการค้าของภูมิภาคนี้ และการปรับตัวของอุปสงค์ภายในตลาดจีน จะช่วยบรรเทาผลกระทบข้างเคียงที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้
สงครามการค้าเป็นสิ่งที่นักลงทุน ต้องจับตาและเฝ้าระวังไว้ดีๆ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้
ที่มา : Money channel แปลและเรียบเรียง โดยวิฑูรย์ อมรวิรัตนสกุล