ห้องเม่าปีกเหล็ก

ส่งออกไทยฟื้นตัว 5 เดือนติด

โดย ขบวนสุดท้าย
เผยแพร่ :
140 views

ส่งออกไทยฟื้นตัว 5 เดือนติด

ส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกไทยเดือนธ.ค. 2566 ที่ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.9% MoM แต่เพิ่มขึ้น 4.7% YoY โดยการส่งออกไทยได้ฟื้นตัวในเชิงของ YoY เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือน ธ.ค. ถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 7.4% YoY

 

ปัจจัยหนุนส่งออกในเดือนนี้หลักๆมาจากสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทองคำและเชื้อเพลิง ทั้งนี้การส่งออกหากไม่รวมทองคำและเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.1% YoY ในเดือนนี้ ขณะที่การส่งออกของไทยในปี FY2566 หดตัวลงเล็กน้อย 1.0% จากการส่งออกพลาสติก วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง การส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ CLMV เป็นปัจจัยฉุดสำคัญซึ่งหดตัวลงถึง 14.6% ในปีนี้

 

การส่งออกสินค้าเกษตรถูกฉุดจากมันสำปะหลังและกลุ่มอาหาร การส่งออกภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 10.7% MoM และ 3.2% YoY สาเหตุหลักมาจากการลดลงของส่งออกมันสำปะหลัง (-51.2% YoY) และกลุ่มอาหาร (-7.7% YoY) ขณะที่การส่งออกข้าวยังเพิ่มขึ้น 27.4% YoY เนื่องจากราคาและปริมาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้น การส่งออกยางยังเติบโตเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 14.5% YoY ในเดือนพ.ย. และ 13.2% YoY ในเดือนธ.ค. หลังจากที่เผชิญกับแนวโน้มขาลงตั้งแต่ต้นปี 2566

 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้แรงหนุนจากทองคำและเชื้อเพลิง การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 5.0% YoY โดยได้แรงหนุนจากทองคำและเชื้อเพลิงซึ่งเติบโต 787.6% YoY และ 42.6% YoY ตามลำดับ นอกเหนือจากทองคำและเชื้อเพลิงแล้ว เราเห็นโมเมนตัมการส่งออกที่ดีขึ้นในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 2.8% MoM และ 2.1% YoY ขณะที่การส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 3.2% MoM และ 0.5% YoY

 

เกินดุลการค้าในเดือนธ.ค. การนำเข้ารายงานมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. ลดลง 15.7% MoM และ 3.0% YoY หลักๆจากการนำเข้าวัตถุดิบซึ่งลดลง 13.7% MoM และ 5.9% YoY สุทธิแล้วไทยเกินดุลการค้าในเดือนนี้ที่ 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาพทั้งปีการนำเข้าในปี FY2566 ลดลง 3.3% YoY และไทยขาดดุลการค้ารวมทั้งปีที่ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

การส่งออกยังฟื้นตัวตามที่เราคาดในเดือนธ.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมการฟื้นตัวดูค่อนข้างช้า แม้จะได้มีผลจากฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี 2565 เรามองอาจเป็นผลของการฟื้นตัวของวัฏจักรการผลิตโลกที่ยังไม่ชัด เห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) สหรัฐฯ แตะจุดต่ำสุดจาก 46.0 นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 แต่หลังจากนั้น 6 เดือน ดัชนีขยับขึ้นเป็นเพียง 47.4 ในเดือนธ.ค. 2566 เช่นเดียวกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 42.7 ในเดือนก.ค. 2566 ขึ้นมาอยู่ที่เพียง 44.4 ในเดือนธ.ค. 2566 ขณะที่ดัชนีกิจกรรมการผลิตของญี่ปุ่นและจีนปรับตัวลงสู่เขตหด ส่งสัญญาณว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า

 

ดังนั้นเรามองด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดูเติบโตต่ำและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอาจกดดันให้ ธปท. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2567 โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินอาจส่งผลบวกต่อภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น UTIL, FIN และ ICT อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของตลาดในระยะสั้นอาจยังเปราะบางและมีความผันผวนเนื่องจากสัปดาห์นี้มีประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบสูงหลายประเด็นที่ตลาดรอพิจารณาเช่นรายงาน GDP ของกลุ่มยูโรโซน, ประชุม FOMC, รายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ และข้อมูลด้านการจ้างงาน

 

 


ขบวนสุดท้าย