TU เผยปี 67 กำไร 4.9 พันล้าน โต 136% รับยอดขายทะลุ 1.38 แสนล้าน จ่ายปันผล 0.35 บาท
TU เผยปี 67 พลิกกำไร 4.9 พันล้าน โต 136% จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ยกเว้นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ประกาศปันผลอีก 0.35 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 28 ก.พ. 68 และกำหนดจ่าย 25 เม.ย. 68
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2567 กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 17,189 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 3.5% อย่างไรก็ตาม หากไม่รวม transformation costs กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1,512 ล้านบาท
บริษัทฯ รายงานยอดขายอยู่ที่ 35,090 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อ จากผลกระทบเชิงลบจากอัตราแลกเปลี่ยน 3.1% จากการที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทุกสกุล โดยเฉพาะเงินยูโร (เฉลี่ยที่ 36.26 บาทต่อยูโร ลดลง 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และเหรียญสหรัฐ (เฉลี่ยที่ 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
อย่างไรก็ดียอดขายที่ลดลงได้ถูกชดเชยบางส่วนจากการเติบโตจากการดำเนินงานปกติที่เพิ่มสูงขึ้น 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ปริมาณขายเพิ่มสูงขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ยกเว้น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 4,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากtransformation costs ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 14.1% จาก 11.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมtransformation costs อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจะอยู่ที่ 13.3%
บริษัทบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 118 ล้านบาท เทียบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 4/66 จำนวน 68 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพในไตรมาสนี้
ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าอยู่ที่ 157 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ Avanti Group ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 598 ล้านบาท ลดลง 5.1%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทั่วโลก
ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้อยู่ที่ 50 ล้านบาท เทียบกับเครดิตภาษีเงินได้จำนวน 40 ล้านบาท ในไตรมาส 4/66 ซึ่งค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการ ไม่ได้รับประโยชน์เครดิตภาษีจาก Red Lobster (RL) หลังจากการบันทึกรายการด้อยค่าเต็มจำนวน
ส่วนปี 67 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,984.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 13,933.20 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิตามที่ปรับปรุงในปี 66 ซึ่งไม่รวมรายการที่เกี่ยวข้องกับ RL ได้แก่ ส่วนแบ่งขาดทุน รายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว และรายได้ภาษีเงินได้จาก RL
ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ตั้งแต่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมา อยู่ที่ 138,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน มีสาเหตุหลักจากการเติบโตจากการดำเนินงานปกติของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า อัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 18.5%
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวสูงขึ้น 12.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 18,457 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจาก transformation costs ของกลุ่มบริษัท รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นตามกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าเพิ่มขึ้น 13.5% จากช่วงเดียวกัน อยู่ที่ 771 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจาก Avanti Group และ Lucky Union Foods ถึงแม้ว่าบริษัทฯ ได้หยุดการรับรู้กำไรจาก LDH จากการถอนการลงทุนตั้งแต่ต้นปี ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั่วโลกในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 256
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 430 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้รับประโยชน์ทางภาษี RL หลังจากการบันทึกรายการด้อยค่าเต็มจำนวนจากการลงทุนทั้งหมดใน RL ในไตรมาส 4/66
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผล ประจำปี 67 อัตรา 0.66 บาท/หุ้น ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 กันยายน 67 อัตรา 0.31 บาทต่อหุ้น คงเหลือจ่ายในครั้งนี้อัตรา 0.35 บาทต่อหุ้น กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 28 กุมภาพันธ์ 68 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 68
เป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2568 บริษัทฯ คาดว่ายอดขายจะเติบโต 3-4% จากปีก่อน จากการเติบโตจากการดำเงินงานปกติในทุกกลุ่มธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้อาจถูกชดเชยบางส่วนด้วยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากบริษัทฯ คาดการณ์ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ
อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะสอดคล้องกับการเติบโตของยอดขาย อบูมรา 18.5-19.5% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 13-13.5% เป็นผลจาก transformation costs และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มุ่งเน้นการเพิ่มยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์
บริษัทฯ คาดว่างบลงทุน (CAPEX) จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการขยายระบบอัตโนมัติในคลังสินค้าของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง อยู่ที่ 4,500-5,000 ล้านบาท
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปี 67 เป็นปีที่สร้างผลงานได้ดีทั้งด้านยอดขาย และการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.5% เป็นผลจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป รวมถึงกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่มีการปรับพอร์ตผลิตภัณฑ์ให้มีอัตรากำไรดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวได้ดีมากจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม และสถานการณ์ของสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 67 ไทยยูเนี่ยนได้เปิดตัว “กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 73” โร้ดแม็ปใหม่เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล โดยมีสองโปรเจกต์ทรานฟอร์มเมชั่น ได้แก่ โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่มบริษัท มุ่งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว และโปรเจกต์เทลวินด์ (Project Tailwind) มุ่งเน้นที่การเร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายของโครงการทรานฟอร์มเมชั่น ที่มีนัยสำคัญ
ในปี 67 บริษัทฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารธุรกิจ ทำกำไร และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 0.94 เท่า มีกระแสเงินสดสูงถึง 11,705 ล้านบาท จาก EBITDA ที่แข็งแกร่ง 13,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติการณ์ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยยูเนี่ยนมีความคล่องตัวและสามารถสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตได้
“แม้เราจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้บริโภคทั่วโลกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของเรายังคงเติบโตได้ดี ทั้งกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 73 เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดขาย 2.45 แสนล้านบาท (US$7billion) และเพิ่ม EBITDA เป็นสองเท่าภายในปี 73" นายธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จากปริมาณความต้องการสินค้าต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปที่สร้างยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 68,412 ล้านบาท ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากอัตราการเติบโตของยอดขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 19.1%
ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายรวม 17,389 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 15.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม รวมถึง ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดยุโรปและจีนที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ปี 67 กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงถึง 28.5%
ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายรวม 42,226 ล้านบาท ปรับตัวลดลงราว 10.7% เนื่องจากยอดขายที่ลดลง แต่เมื่อพิจารณาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งพบว่ามีการฟื้นตัว 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา สามารถสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นต่อเนื่อง และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่นๆ สามารถทำยอดขายได้ 10,406 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาค มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 39.4% ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 30.0% ไทย 11.0 % และ ภูมิภาคอื่นๆ อีก 19.6%
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 67 บริษัทได้ดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ครั้งที่ 4 ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท หรือจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยจะเริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 68 ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 68 บริษัทฯ มีจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 107 ล้านหุ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น
ไทยยูเนี่ยนในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2567 ด้วยคะแนนรวมสูงสุด 85 คะแนน นับตั้งแต่ปี 61 เราได้รับการจัดอันดับ 1 ถึง 4 ครั้ง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นหนึ่งใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ A ประจำปี 67 ในกลุ่ม Agro & Food Industry อีกด้วย
“ปี 68 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ และเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าภายใต้กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 73 เราจะก้าวพ้นกระแสแห่งความผันผวน เพื่อสร้างโอกาส สร้างรากฐานธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเลได้ในที่สุด" นายธีรพงศ์ กล่าว
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1167082