
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ฯฯฯฯฯ เรายังคงใช้คำนี้ได้นะคะ เพราะเรายังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข ผ่านช่วงเวลาใช้เงินอย่างโชกโชนมาแล้ว บอกได้เลย กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง มันน่าแปลกนะคะ เรายอมจ่ายทุกอย่างเพื่อซื้อความสุข ความพอใจ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อการลงทุน เหตุผลก็คือ ไม่มีเงินหรือเงินน้อย กลัวความเสี่ยง กลัวจน แต่ท่านรู้หรือไม่ การไม่ลงทุนสิเป็นเรื่องที่เสี่ยงกว่า เพราะเงินจะเล็กลงจนไม่พอใช้ยามแก่เฒ่า มันเป็นความท้าทายตั้งแต่ต้นปี เริ่มได้ด้วย 3 ก้าวสู่การลงทุน
ก้าวแรก : สร้างรายได้ ลดรายจ่าย
สมมติ เรามีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ให้เราลองมองหาอาชีพเสริมดู ถ้ายากนัก สิ่งที่ทำได้คือลดค่าใช้จ่ายตัวเองลง ลองดู
หักออมหรือลงทุน 2,000 บาท (10% ของเงินเดือน) มันไม่ทำให้คุณลำบากขึ้นนะคะ
หักค่าอาหาร 6,000 บาท (200 บาทต่อวัน)
ค่ารถ 3,000 บาท (100 บาทต่อวัน)
ค่าเช่าบ้าน 4,500 บาท (รวมค่าน้ำ และไฟ)
ค่าโทรศัพท์ 500 บาท
ค่าเที่ยว 2,000 บาท
ค่าแต่งตัว 1,000 บาท
ให้พ่อแม่ 1,000 บาท
ก้าวสอง : สร้าง PORT ลงทุน
ทำไมต้องมี Port เพราะถ้าเราจะออมเงินโดยเอาไปไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ฝากประจำ หรือใส่ตุ่มไว้นั้น มันจะตามเงินเฟ้อไม่ทัน นั่นคือเงิน 2,000 บาทวันนี้ อีกสิบปีอาจเหลือแค่ไม่กี่ร้อย เพราะข้าวของแพงขึ้น มาดู Port การลงทุนครั้งแรกกัน อาจจะแบ่งสัดส่วน ดังนี้
เงิน 1,000 บาทแรก ลงกองทุนรวมตลาดเงิน คือลงทุนในตราสารหนี้ที่มั่นคง มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง ซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา
เงิน 1,000 บาทหลัง รับความเสี่ยงได้ให้ลงในหุ้น ถ้าไม่มีความรู้และเวลาให้เลือกลงในกองทุนหุ้น เพราะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพดูแล เขาจะเอาเงินของเราไปเลือกซื้อหุ้นดี มีเงินปันผล อยากทราบไหมคะว่าผลจะเป็นอย่างไร งั้น!!! ลองนำอัตราผลตอบแทนในอดีตมาคำนวณหาเงินต้นพร้อมผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน ดังนี้
ก้าวสาม : สร้างวินัยลงทุน
เงิน 2,000 บาท สามารถหักเป็นรายเดือนผ่านบัญชีออมทรัพย์หรือหักผ่านบัตรเครดิต เป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการออมคงที่จำนวนหนึ่ง และเลือกซื้อกองทุนหรือหุ้นตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้นั้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง ก็ออมในจำนวนเงินเท่าเดิม เราเรียกกลยุทธ์การออมแบบนี้ว่า “ถัวเฉลี่ยต้นทุน” (Dollar Cost Averaging)
เห็นมั้ยคะ!!! การลงทุนไม่ได้เป็นเรื่องยาก แต่ยากตรงที่คุณไม่ยอมลงทุน และยืนรับความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว เรามาเริ่มวางแผนการการเงินตั้งแต่ต้นปี เพื่อเอาฤกษ์ เอาชัย ร่ำรวยตลอดอายุขัยกันเทอญ
ที่มา moneychannel