ห้องเม่าปีกเหล็ก

เครื่องหมาย “SP” หลังชื่อหุ้นคืออะไร? ทำไม! นักลงทุนต้องระวังก่อนซื้อขาย

โดย อินทรีย์ไม่บินเป็นฝูง
เผยแพร่ :
2,137 views

เครื่องหมาย “SP” หลังชื่อหุ้นคืออะไร?

ทำไม! นักลงทุนต้องระวังก่อนซื้อขาย

 

.

เครื่องหมาย “SP” หรือ Suspension คือเครื่องห้ามซื้อขาย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย "SP" บนหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งในระบบการซื้อขาย เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบว่า หลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ระหว่างห้ามซื้อขาย

.

ทั้งนี้การที่หลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งจะถูกขึ้นเครื่องหมาย “SP” นั้นจะต้องเข้าข่ายเป็นกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดได้แก่บริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ

.

รวมถึงปรากฏข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อย่างมาก

.

โดยที่ข่าวสารนั้นยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรืออยู่ระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังรอการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สอบถามไปหรือกำลังรอการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

.

นอกจากนี้เองจะเป็นการที่บริษัทจดทะเบียนขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งพักการซื้อขายหุ้นของบริษัท เนื่องจากมีข่าวหรือข้อมูลสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ได้

.

ยกตัวอย่างหุ้นที่ถูกทางตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “SP” และกรณีที่บริษัทจดทะเบียนขอให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “SP”

.

ตัวอย่างแรก กรณีที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย “SP” หุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากพบว่าราคาหุ้นมีการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า อีกทั้งมีข่าวสำคัญเกี่ยวกับการซื้อขายและการชำระราคาในหลักทรัพย์ MORE จำนวนมากที่คลาดเคลื่อนจนอาจทำให้เกิดความสับสน และอาจกระทบต่อสภาพการซื้อขาย

.

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ทางตลาดหลักทรัพย์วางไว้ สำหรับการขึ้นเครื่องหมาย “SP” คือ ปรากฏข่าวสาร ซึ่งมีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อย่างมาก

.

ตัวอย่างที่สองคือกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “SP” หรือห้ามซื้อขายหุ้น SMK หรือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 23 ก.พ.66 เพราะอยู่ระหว่างพิจารณาว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนกรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์โดยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการหรือภายในวันที่ 3 มี.ค. 66

.

พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย “SP” และขึ้นเครื่องหมาย “NP” ในวันที่ 24 ก.พ.2566 ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2565 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้

.

เช่นเดียวกับกรณีของ STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ถูกทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “SP” กรณีไม่ส่งงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 65

.

ทั้งนี้ 2 กรณีที่กล่าวมานั้นก็จะสอดคล้องกับประเด็นข้อกำหนดที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ วางไว้คือ ปรากฏข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อย่างมาก

.

ตัวอย่างที่สาม คือกรณีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ “SP” ของบริษัททั้ง 2 แห่งเป็นการชั่วคราว

.

โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของDTAC และ TRUE และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำหุ้นสามัญของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

.

[สิ่งที่นักลงทุนต้องระวัง]

สำหรับสิ่งที่นักลงทุนจะต้องระวังสำหรับหลักทรัพย์ที่ขึ้นเครื่องหมาย “SP” เพราะเนื่องจากเกณฑ์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ระบุมาข้างต้นนั้น มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน และราคาหุ้นของบริษัท ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจจะมีผลต่อไปยังความสามารถในการดำเนินงานทางธุรกิจ และมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัท โดยอาจจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เราถืออยู่นั้น อาจจะถึงขั้นร้ายแรงสูญเปล่าเลยก็เป็นได้

 

 


อินทรีย์ไม่บินเป็นฝูง