ห้องเม่าปีกเหล็ก

สงครามข้อมูล 'มหากิจศิริ-เนสท์เล่'

โดย ม้าสีหมอก
เผยแพร่ :
51 views

สงครามข้อมูล 'มหากิจศิริ-เนสท์เล่' ตอบโต้ไปมา ข้อพิพาทเลิกกิจการ QCP

 

'มหากิจศิริ-เนสท์เล่' หลังแยกทางธุรกิจ เปิดศึกสงครามข้อมูลข่าวสารกันต่อเนื่อง เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีคำสั่งศาลออกมา ต่างฝ่ายเฮ! รายงานสังคม

 

 

ข้อพิพาท “เนสท์เล่-มหากิจศิริ” ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง หลังทั้ง 2 ฝ่าย “แตกหัก” จากพันธมิตรแปรเป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อ “เนสท์เล่ ยกเลิกสัญญาการร่วมทุนกับตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของเมืองไทยอย่าง “มหากิจศิริ” ที่ดำเนินการผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

 

เมื่อต้องแยกทางกัน ทำให้มีการพยายามเดินหน้าฟ้องยกเลิกกิจการ QCP เพื่อแบ่งทรัพย์สิน เช่น โรงงาน อาคาร ที่ดินต่างฯ ซึ่งฝั่งเนสท์เล่ ได้แต่งตั้งบริษัท แกรนธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ทำหน้าที่เข้าบริหารทรัพย์สินของ QCP

ล่าสุด “มหากิจศิริ” อัปเดทสถานการณ์ว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งปฏิเสธคำขอของฝ่ายผู้ร้อง (เนสท์เล่) ในการแต่งตั้งบริษัท แกรนธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้เข้ามาบริหารทรัพย์สิน “QCP” ภายใต่กลุ่มมหากิจศิริชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดีข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นสองฝ่าย

เหตุผลเนื่องจากบริษัทแกรนธอนตันแม้มีประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่เคยจัดการทรัพย์สินในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงเช่นนี้ และยังมีข้อกังขาเรื่องความเป็นกลาง เนื่องจากได้รับการติดต่อจากฝ่ายผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าการแต่งตั้งผู้จัดการภายนอก ณ เวลานี้ยังไม่เหมาะสม แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นฝ่ายผู้ร้อง ศาลมีคำสั่งให้กรรมการฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสาม จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเป็นรายเดือน ส่งต่อศาลพร้อมสำเนาให้ผู้ร้อง ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 เป็นต้นไป

รายงานจากฐานเศรษฐกิจระบุว่า ก่อนหน้านี้ศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อนุญาตให้กรรมการฝ่ายผู้คัดค้านใช้เสียงข้างมากได้ โดยไม่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับบริษัทที่กำหนดให้ใช้เสียง 5 จาก 7 เสียง ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านสามารถใช้เสียงข้างมากได้ทุกวาระ เพื่อบริหารกิจการต่อไป ทั้งมีมติให้พักงานนายรามอน เมนดิวิล กิล ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายผู้ร้องในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่สั่งปิดโรงงาน ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านสามารถกลับมาดำเนินงานและตรวจสอบการใช้จ่ายของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวจะช่วยให้ ผู้คัดค้าน สามารถเข้ามาดำเนินการกิจการของ QCP ผลิตกาแฟเพื่อคนไทยได้ต่อไป

ในเวลาไล่เลี่ยกัน “เนสท์เล่” ออกแถลงการณ์ว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งให้ “เฉลิมชัย-สุวิมล–ประยุทธ มหากิจศิริ” กรรมการ QCP จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัท คิวซีพีเป็นรายเดือน เพื่อส่งให้ศาลและเนสท์เล่ตรวจสอบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ QCP และเนสท์เล่ โดยที่การพิจารณาคดีขอยกเลิกกิจการบริษัทคิวซีพีที่เนสท์เล่ยื่นฟ้องยังดำเนินต่อไป

สำหรับคดีนี้ “เนสท์เล่” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัท QCP และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการหอการค้านานาชาติ ที่ชี้ขาดให้เนสท์เล่เป็นฝ่ายชนะในการยุติสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มมหากิจศิริในดำเนินงานบริษัทคิวซีพี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวให้แก่เนสท์เล่ระหว่างการพิจารณาคดี

ระหว่างการพิจารณาคำร้อง ศาลได้พิจารณาเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งรุนแรงและความล้มเหลวในการเจรจาระหว่างผู้ถือหุ้น 2 ฝ่ายและกรรมการบริษัท ที่ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจบริษัท QCP ร่วมกับตระกูลมหากิจศิริได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ศาลยังได้รับหลักฐานซึ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของครอบครัวมหากิจศิริในการใช้ประโยชน์จากบริษัทร่วมทุนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของเนสท์เล่ในระหว่างพิจารณาคดีขอยกเลิกกิจการบริษัทคิวซีพี และได้มีคำสั่งให้กรรมการฝ่ายมหากิจศิริจัดทำบัญชีรับจ่าย และบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ส่งให้ศาลและเนสท์เล่เป็นประจำทุกเดือน โดยให้เริ่มจัดทำบัญชีตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น สำหรับบัญชีประจำเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2568 ให้กลุ่มมหากิจศิริจัดส่งภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท คิวซีพี และเนสท์เล่ แทนการแต่งตั้งบริษัท แกรนท์ ธอนตัน เป็นผู้จัดการรักษาทรัพย์สินของบริษัท คิวซีพี

ทั้งนี้ คดีขอยกเลิกกิจการบริษัทคิวซีพีที่เนสท์เล่ยื่นฟ้องจะยังคงดำเนินต่อไป และการที่ศาลมีคำสั่งให้ฝ่ายมหากิจศิริ ในฐานะกรรมการบริษัท QCP ส่งบัญชีรายรับรายจ่ายและบัญชีทรัพย์สินหนี้สินรายเดือนของบริษัท จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดีขอยกเลิกกิจการดังล่าว

ระยะเวลา 34 ปี หรือตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2567 “ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ” ในประเทศไทยเคยผลิตโดย QCP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนแบบฝ่ายละ 50% ระหว่าง “เนสท์เล่” และ “ตระกูลมหากิจศิริ” ซึ่งแบรนด์เนสกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นของเนสท์เล่ และเนสท์เล่เป็นผู้บริหารงานบริษัท QCP ทั้งหมดด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม หลังการยุติสัญญาร่วมทุนและเกิดข้อพิพาท “เนสท์เล่” มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้า”ลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย” และยังเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

 

 

ที่มา..  https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1188911

 


ม้าสีหมอก