“บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง(ETE)” ได้ฤกษ์เข้าซื้อขายในตลาด mai วันนี้(15 ก.พ.) ผู้บริหารมั่นใจยืนเหนือจอง หลังนักลงทุนแห่ซื้อ IPO ล้นหลาม ย้ำพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ทั้ง ธุรกิจให้บริการจัดการ งานวิศวกรรม และธุรกิจพลังงานทดแทน ลั่นผลงานปี 60 ดีขึ้น หลังนำเงินระดมทุนใช้ลดหนี้บางส่วน และรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเต็มปี ด้าน "เมกาเคม (MGT) เคาะราคาไอพีโอ 1.89 บาทต่อหุ้น ส่วน รพ.ราชพฤกษ์ (RPH)ขายหุ้นละ 4.80 บาท ทั้งคู่เปิดจอง 15-17 ก.พ. จ่อคิวเข้าเทรดช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
***ETE มั่นใจเทรด mai วันแรกเหนือจอง
นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ ETE มั่นใจว่า ETE มีความพร้อมทุกด้านก่อนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันนี้ (15 ก.พ.60) โดยที่ผ่านมา ETE ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การโรดโชว์ 6 จังหวัด ที่มีนักลงทุนสนใจฟังข้อมูลเป็นจำนวนมาก รวมถึงหลังจากการเปิดจองซื้อหุ้น IPO ของ ETE เมื่อวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วประเทศก็ได้ให้ความสนใจจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก
“หลังจากกระบวนการต่างๆ ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ของ ETE ผ่านไปด้วยดี สะท้อนให้เห็นว่า ETE จะเป็นหุ้น IPO อีกตัวหนึ่งที่มีความน่าสนใจ จากพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และทั้ง 3 ธุรกิจของ ETE มีโอกาสในการขยายตัวที่สูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการให้บริการงานระบบ Outsourcing และการให้บริการงานวิศวกรรม รวมถึงธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนให้ ETE มีความโดดเด่น และมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีในอนาคต” นายวรชาติ กล่าว
นายโชษิต เดชวนิชยนุมัติ กรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ1 บล. แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น ETE เชื่อมั่นว่า ETE จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรก ETE จะสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อที่ 4.20 บาทได้ เพราะจากการเสนอขายหุ้นร่วมกับผู้ร่วมจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายทั้ง 3 ราย สามารถกระจายหุ้นไปยังนักลงทุนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
“เราเชื่อมั่นในพื้นฐาน และการเติบโตของ ETE และด้วยการกำหนดราคาที่เหมาะสม ประกอบกับความต้องการของนักลงทุนในช่วงของการจองซื้อที่ผ่านมาซึ่งมากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขาย ทำให้คาดว่า ETE จะยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องหลังจากเข้าทำการซื้อขายเป็นวันแรกแล้ว” นายโชษิต กล่าว
นายชยันต์ อัคราทิตย์ กรรมการบริหาร บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด ผู้จัดการร่วมในการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น ETE กล่าวว่า ด้วยความต้องการจองซื้อหุ้นจากนักลงทุนที่มากกว่าจำนวนที่เสนอขาย 140 ล้านหุ้น ได้สะท้อนความต้องการ และการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่นักลงทุนที่พลาดโอกาสไม่ได้รับการจัดสรรหุ้นในครั้งนี้ จะสามารถเข้าลงทุนหลังจาก ETE เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ วันแรกไปแล้ว เนื่องจากหลังการระดมทุน ETE จะมีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตให้กับ ETE ในอนาคต
“จากความต้องการของนักลงทุนที่สูงใน่วงจองซื้อที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของ ETE ที่มีต่อนักลงทุน ซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนของนักลงทุน เพราะในระยะกลาง และระยะยาว ETE จะเป็นหุ้นที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ ตามศักยภาพการขยายตัวของธุรกิจที่สูงขึ้นในอนาคต” นายชยันต์ กล่าว
***ETE พร้อมเดินหน้าธุรกิจอย่างมั่นคง
นายไรวินท์ เลขวรนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ETE กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจหลักๆใน 3 ลักษณะประกอบไปด้วย
1.ธุรกิจให้บริการบริหารจัดการ (Management Service หรือ MS)
2.ธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรม (Engineering Service หรือ EN) ประกอบด้วยงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า (Electrical Power Engineering System หรือ EE) และงานวิศวกรรมระบบโทรคมนาคม (Telecommunication Engineering System หรือ TL) และ
3.ธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy หรือ SE) โดยมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16.47 เมกะวัตต์ ได้แก่
1.สหกรณ์การเกษตรเมืองตราด จำกัด อ.เมือง จ.ตราด กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
2.สหกรณ์การเกษตรวัฒนานคร จำกัด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
3.สหกรณ์การเกษตรบางสะพานน้อย จำกัด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
4.สหกรณ์การเกษตรนิคมฯ คลองน้ำใส จำกัด อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 1.47 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 4 โครงการดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD แล้ว และเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยมีอายุของสัญญาซื้อขายไฟ 25 ปี
ETE มีบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีทีอี เมเนจเมนท์ จำกัด หรือ ETEM มีทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริการบริหารจัดการ และธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.27 และบริษัท ไทย สปีดี้เมเนจเมนท์ จำกัด หรือ TSDM มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการรถเช่าพร้อมพนักงานขับรถ
“เราได้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ ETE ซึ่งหลังจากนี้จะถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร และทีมงานที่จะต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ธุรกิจของ ETE เติบโตได้อย่างมั่นคง และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน และผู้ถือหุ้นต่อไปในอนาคต” นายไรวินท์ กล่าว
*** มั่นใจผลงานปี 60 ดีกว่าปีก่อน หลังต้นทุนลด-รับรู้รายได้โรงไฟฟ้าเต็มปี
นายไรวินท์ มั่นใจว่า ผลประกอบการในปี 60 จะดีกว่าปี 59 โดย 9 เดือนแรกปี 59 มีรายได้ 1,061.46 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 19.36 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ เหลือ 1.82% จากงวดปี 58 อยู่ที่ 5.32% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น อยู่ที่ 13.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 14.79% โดยปี 60 จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าประมาณ 30 ล้านบาท และ ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับธนาคารลดลงเหลือ 20 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้สุทธิแล้วจะมีรายได้เข้ามาทันที 50 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin) ปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% หลังภาระในการจ่ายดอกเบี้ยลดลง และ รับรู้รายได้จากไฟฟ้าเข้ามาเต็มปี
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทใช้เงินทุนจากการกู้ยืมธนาคารเป็นหลัก หลังจากได้เงินระดมทุนแล้วจะใช้เงินระดมทุนในสัดส่วน 40% ไปชำระหนี้สถาบันทางการเงินส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาอยู่ที่ราว 1 เท่า จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3.9 เท่า โดยทำให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยได้ปีละ 20 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องจ่ายอยู่ปีละ 40 ล้านบาท
“โดยปกติผลประกอบการเราจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30% ซึ่งที่ผ่านมาเราติดปัญหาตรงเงินทุน ต้นทุนทางการเงิน โดยทำให้เราตัดสินใจเข้าตลาด mai เพื่อปลอดล็อคเงื่อนไขนี้”นายไรวินท์ กล่าว
*** เมกาเคม (MGT) จ่อเทรดคิว mai 23 ก.พ.นี้ หลังเคาะ IPO 1.89 บ.
ดร.วิทยา อินาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมกาเคม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGT และนายนิมิต วงศ์จริยกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) ได้ลงนามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาไอพีโอ 1.89 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 15-17 กุมภาพันธ์นี้ คาดเริ่มเทรด 23 กุมภาพันธ์นี้
บริษัทมีแผนใช้เงินระดมทุนขยายสาขาในประเทศที่หาดใหญ่จังหวัดสงขลา และนครพนม สาขาละ 3 ล้านบาทเริ่มดำเนินการปีนี้ ซึ่งเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมในยางพารา ด้านสาขาในต่างประเทศจะรุกตลาดที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่กัมพูชา โดยการลงทุนแต่ละสาขาใช้เงินลงทุนที่ละ 5 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 61 ทั้งนี้จะเป็นอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั่วไปซึ่งกำลังเติบโตใน 2 ประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้เงินระดมทุนที่เหลือประมาณ 162.2 ล้านบาท หลังจากหักขยายสาขา 16 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายUnderwriter ประมาณ 10 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท อาทิ สต็อกสินค้าเป็นต้น
“เรามีความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษแบบครบวงจร ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จะทำให้ MGT มีความแข็งแกร่ง มีความพร้อมทางด้านเงินทุน และจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายธุรกิจ และการแข่งขันได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมาการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นมืออาชีพ ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปตามที่ได้วางไว้ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่าการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน จะช่วยยกระดับ และมาตรฐานของบริษัท ให้เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมทั้งแสดงถึงความโปร่งใสขององค์กร ให้กับทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ และนักลงทุนอีกด้วย” ดร.วิทยา กล่าว
สำหรับการโรดโชว์ใน 3 จังหวัด ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท ทำให้เรามั่นใจว่า MGT จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน
*** รพ.ราชพฤกษ์ (RPH) รอคิวเทรด SET 27 ก.พ.60
น.ส.พิมพ์ผกา นิจการุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH เปิดเผยว่า RPH เตรียมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO ) จำนวน 163.78 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 1 บาท กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 4.80 บาท เปิดให้จองซื้อในวันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ 2560 และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำการจัดจำหน่ายร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมีโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RPH กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 202 เตียง งบลงทุน 1.4 พันล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วกว่า 30% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ธันวาคม 2560 เริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นไตรมาส 2/61 จำนวน 100 เตียง และให้บริการได้เต็ม 202 เตียงในปี 2569 ส่วนโรงพยาบาลแห่งเดิมจำนวน 55 เตียงจะนำไปพัฒนาเป็นศูนย์ไตเทียม ซึ่งคาดว่าจะใช้ระบบเอาท์ซอร์สเข้ามาและจะใช้งบลงทุนเพียงเล็กน้อย
สำหรับราคา IPO ที่ 4.80 บาท ต่อหุ้นคิดเป็น P/E อยู่ที่ราว 32 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลขนาดกลางที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้ที่ P/E 38-40 เท่า ขณะที่ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต จากการขยายจำนวนเตียงเพิ่มเติม โดยงวด 9 เดือนปี 59 มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 16% สูงกว่าปกติที่ 11 - 12% จากการปรับเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล และจะปรับเพิ่มขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีกเฉลี่ยราว 5% ต่อปี
ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ที่ 0.27 เท่า ซึ่งบริษัทยังไม่มีแนวคิดที่จะกู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ต้องการให้ภาระหนี้กดดันการดำเนินกิจการ