ห้องเม่าปีกเหล็ก

ปรับโครงสร้าง ‘ธุรกิจก๊าซ ปตท.’

โดย ฉลุย
เผยแพร่ :
72 views

วัฏจักร ‘ปิโตรเลียม’ ขาลงลากยาว ‘คงกระพัน’ ปรับโครงสร้าง ‘ธุรกิจก๊าซ ปตท.’

 

  • ปตท.จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับสร้างการเติบโต ลดก๊าซเรือนกระจก เน้นสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ
  • ปตท.จะพิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง เน้นลงทุนในธุรกิจที่เสี่ยงต่ำ ได้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยแผนลงทุนระยะ 5 ปี 55,000 ล้านบาท
  • สำหรับแนวโน้มธุรกิจปีนี้ ด้านธุรกิจสำรวจและผลิต คาดวอลุ่มเพิ่มขึ้น และรักษาต้นทุนในระดับเท่าเดิม ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย คาดว่าจะทรงตัว แต่แง่มาร์จิ้นอาจดีขึ้น
  • ยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ช่วงขาลงต่อเนื่อง เกิดจากปัญหาอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานมากเกินความต้องการ ยืนยันว่าจะควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น 3 บริษัท

ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ การเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ และแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลง รวมถึงอุปทานที่มากเกินความต้องการในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทำให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีต้องปรับกลยุทธ์

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจปี 2568 ปตท.จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโต รวมถึงการลดก๊าซเรือนกระจก เน้นสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ 

พร้อมพิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง เน้นลงทุนในธุรกิจที่เสี่ยงต่ำ ได้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่าต่อการลงทุน

ทั้งนี้ ปตท.มีแผนลงทุนระยะ 5 ปี (2568-2572) ภายใต้กรอบการลงทุน 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนปีนี้ 25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ขยายโรงแยกก๊าซ ขยายธุรกิจท่อก๊าซ ธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศ และเน้นธุรกิจที่เชี่ยวชาญ รองลงมา คือ ขยายกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง โดยปีนี้ไม่มีแผนลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจใหม่

นายคงกระพัน กล่าวว่า ยอมรับว่างบลงทุนของ ปตท.ช่วง 5 ปีนี้ลดลง หากเทียบช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเน้นลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เช่น นำเทคโนโลยีมาปรับใช้หรือการต่อยอดธุรกิจเดิม ที่อาจใช้เงินไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาแน่นอน พร้อมมองว่า การวางงบลงทุนจำนวนมากไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการทำกำไรจำนวนมาก

เปิด 3 ระยะวางแผนธุรกิจ

นอกจากนี้ ปตท.ได้วางแผนธุรกิจไว้ 3 ระยะคือ ระยะสั้น เน้นปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ใช่คาร์บอน และบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ในประเทศเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันในกลุ่มธุรกิจ ตั้งเป้าลดต้นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ราว 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปี การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าลดต้นทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 2 ปี

ระยะกลาง เน้นปรับโครงสร้างธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมและการกลั่น ผ่านการจัดหาพันธมิตรมาร่วมธุรกิจ ซึ่งธุรกิจส่วนนี้แม้อยู่ขาลงแต่ ปตท.มองโอกาสทำให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่ง และมองว่ายังเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินต่อเพื่อความมั่นคง รวมทั้ง ปตท.มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค (LNG Hub

ระยะยาว จะเน้นลงทุนระบบการจัดการและกักเก็บคาร์บอน “ปตท.ตั้งเป้ามีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 30,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่ง ปตท.บริษัทแม่ตั้งเป้าหมายทำได้ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือ 20,000 ล้านบาท เป็นเป้าหมายบริษัทในเครือ" 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจปีนี้ ด้านธุรกิจสำรวจและผลิต (Upstream) คาดวอลุ่มเพิ่มขึ้น และรักษาต้นทุนในระดับเท่าเดิม ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream) คาดว่าจะทรงตัว แต่แง่มาร์จิ้นอาจดีขึ้น

นายคงกระพัน กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2567 ต้องยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ช่วงขาลงต่อเนื่อง เกิดจากปัญหาอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานมากเกินความต้องการ

ทั้งนี้ ปตท.ไม่เลิกหรือควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น 3 บริษัท คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นบริษัทละ 45% แต่จะใช้กลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งผ่านการหาพันธมิตรมาถือหุ้น โดยหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญมีตลาดและมีความแข็งแกร่งเพื่อเสริมธุรกิจปิโตรเคมีให้เติบโตยั่งยืน

“อยู่ช่วงการเจรจาหาพันธมิตร ซึ่งจะเป็นกลุ่มต่างชาติเพราะมีเงินทุนมากพอ และจะเน้นพันธมิตรที่สร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทลูกและ ปตท.ยังคงเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นสัดส่วนสูงสุดเพื่อบริหารธุรกิจให้ต่อเนื่อง”

ผลบวกต่อภาพรวมธุรกิจ

ขณะที่ผลบวกต่อภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจ Hydrocarbon and Power เป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลตอบแทนให้ ปตท. ประกอบด้วย การลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิต ผ่านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชม) หรือ ปตท.สผ. 

ทั้งนี้ เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณจากอ่าวไทยสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเข้าซื้อหุ้น 10% ในโครงการสัมปทานกาชา (Ghasha Concession Project) หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทั้งสัญญาระยะยาวและสัญญาแบบตลาดจร (Spot) รวม 9.6 ล้านตันต่อปี รองรับความต้องการในประเทศ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย สร้างมูลคำเพิ่ม 110 ล้านดอลลาร์ จากความร่วมมือภายในกลุ่ม และโรงกลั่นได้ปรับการผลิตน้ำมันดีเชลให้ได้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐ

ธุรกิจไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเพิ่มเติม อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งหมด 15 กิกะวัตต์ โดยหลักมาจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ 

ธุรกิจ Non-Hydrocarbon ได้ทบทวนกลยุทธ์ เน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม ปตท. โดยยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เน้นการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มีความพร้อมของด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ธุรกิจผลิตยาและสุขภาพ (Life Science) เป็นธุรกิจที่ดีแต่ต้องขับเคลื่อนได้ด้วยธุรกิจเอง self-funding มีผู้เชี่ยวชาญ โดยปีที่ผ่านมารับรู้รายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนบริษัท Alvogen Malta (Out-icensing) Holding Ltd. มูลค่า 4,500 ล้านบาท ของบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด 

ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics) มุ่งเน้นการต่อยอดและมีการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม ปตท.

ทั้งนี้ ปตท.มีกลยุทธ์สร้างการเติบโตควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ NET ZERO ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ 

C1 การปรับพอร์ตธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน 

C2 การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้และมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด 

C3 ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน CCS รวมถึงการปลูกป่า

 

ที่มา…  https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1168022

 


ฉลุย