ภาพรวมรายได้ของ GL ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
จากกราฟจะเห็นว่ารายได้จากสินเชื่อเช่าซื้อของ GL ในประเทศ (บริษัทแม่) นั้นขึ้นไปสูงสุดในปี 2014 แต่มีปัญหาเรื่องหนี้สูญเพิ่มขึ้นมาก GL จึงคัดกรองลูกค้าเข้มงวดขึ้นและลดการปล่อยสินเชื่อลง ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อลดลงมาตลอด และเริ่มนิ่งๆ ในปี 2016-2017
GL เข้าซื้อกิจการบริษัทธนบรรณ (TNB) และรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อจาก TNB ใน Q3/2014 เป็นไตรมาสแรก ซึ่งช่วงแรกนั้นมีรายได้เข้ามาสูงมาก ประมาณ 30% ของรายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อเดิมของ GL แต่เจอปัญหาเดียวกันกับบริษัทแม่ คือมีหนี้สูญเยอะ จึงลดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อลงอย่างรวดเร็ว และต่อมา TNB ก็เริ่มให้สินเชื่อ Asset-backed loan ในปี 2015 ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยส่วนนี้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับรายได้รวม ส่วนสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์มือสอง ก็เริ่มให้บริการในปี 2015 เช่นกัน ถึงแม้จะเติบโตดีแต่ก็ยังมีการปล่อยสินเชื่อออกไปในสัดส่วนที่น้อยอยู่ ทำให้ภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อของ TNB ยังไม่ค่อยเติบโต
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ GL เติบโตมาจาก 2 ส่วนหลักๆคือ ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเช่าซื้อในกัมพูชา และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแก่ SME ส่วนที่ลาวนั้นถึงแม้จะเติบโตดี แต่เนื่องจากประเทศมีขนาดเล็กประชากรน้อยจึงทำให้การเติบโตที่ลาวส่งผลต่อรายได้รวมค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับรายได้จากอินโดนีเซียและพม่าที่เพิ่งจะเริ่มธุรกิจ รายได้จึงยังน้อยมาก
ในอนาคตอันใกล้ ด้วยโครงสร้างธุรกิจปัจจุบัน GL คงไม่ปล่อยกู้ SME มากขึ้น และคงจะปล่อยให้สัญญาหมดอายุลงไปเรื่อยๆ ทำให้รายได้ดอกเบี้นเงินกู้จาก SME (ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้กำไรของ GL เติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา รองจากสินเชื่อเช่าซื้อในกัมพูชา) ลดลงเรื่อยๆ แต่ผู้บริหารเคยบอกว่าจะยังคงให้สินเชื่อ SME ต่อไป โดยจะให้บริการในพม่าและอินโดนีเซียเพิ่มด้วย และจะโตมากขึ้นหลังจากที่ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในการให้สินเชื่อ SME แล้ว คงต้องติดตามดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่
รายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อในกัมพูชาชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังของปี 2016 และเพิ่งจะกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้งด้วยสถิติสูงสุดใหม่ใน Q1/2017 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเติบโตของการให้บริการผ่านทาง True money และล่าสุด GLF เพิ่งจะเปิดตัวบริการใหม่ คือ Asset-backed loan ซึ่งน่าจับตาดูว่าจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นได้มากแค่ไหน
ย้อนกลับมาที่ในประเทศไทย รายได้ดอกเบี้ยเช่าซื้อ (GL+TNB) ใน Q1/2017 เริ่มปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปีมานี้ ผู้บริหารเคยบอกว่าให้จับตาดูประเทศไทยในปีนี้ (2017) ให้ดี เพราะ GL จะเริ่มรุกขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น หลังจากที่ชะลอมาหลายปีโดยเฉพาะในส่วนของ Asset-backed loan และสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง
จากข้อมูลที่มี ความเสี่ยงของ GL คือการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม SME หาก GL ไม่สามารถปรับโครงสร้างรูปแบบการให้สินเชื่อได้ทัน แต่ก็มีโอกาสในการเติบโตได้จากการขยายพอร์ตสินเชื่อในไทยที่มีสัดส่วนของรายได้สูงสุด รวมทั้งการกลับมาเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อในกัมพูชา และที่น่าจับตามองที่สุดคือสินเชื่อเช่าซื้อในพม่า เพราะ GL ได้ exclusive right กับ Honda เช่นเดียวกับที่กัมพูชา แต่พม่ามีประชากรมากกว่ามาก เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้รายได้สินเชื่อเช่าซื้อในพม่าน่าจะแซงกัมพูชาได้ไม่ยาก ส่วนที่อินโดนีเซียนั้นอาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะถึงแม้จะมีประชากรเยอะ แต่ถ้าให้สินเชื่อเฉพาะแค่รถ Kubota พอร์ตสินเชื่อก็คงจะเพิ่มขึ้นได้ไม่เร็วนัก
สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากศรีลังกา (CCF) ถึงแม้ไม่อยู่ในกราฟ แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงต่อกำไรรวมของ GL และเป็นที่น่าจับตามากเพราะ ผู้บริหารของ CCF ตั้งเป้าให้มีกำไรโตถึง 50% จากการรุกขยายในการให้สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์และสามล้อ
สุดท้ายคือ ตอนนี้เงินสดในมือ GL มีถึงกว่า 4 พันล้านบาท และจะมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นมาอีกมาก ใน Q2/2017 นี้ หาก GL ไม่สามารถหาช่องทางเอาเงินไปลงทุนหรือใช้เงินขยายกิจการได้เร็วพอ GL จะเสียโอกาสอย่างมาก และกำไรอาจจะไม่สามารถโตจาก Q1/2017 ได้