โจทย์ใหญ่การค้าไทย-สหรัฐ เปิดตลาดแลกภาษี...คุ้มหรือไม่?
ลุ้นระทึกอีกหนึ่งรอบในคืนที่ผ่านมา ทีมไทยแลนด์นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เพื่อเจรจาเรื่องอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีที่ไทยได้รับอยู่ที่ 36% และยังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพิ่มเติม โจทย์ใหญ่ที่ต้องติดตามคือไทยจะยอมลดภาษีนำเข้า 0% ให้สินค้าสหรัฐหลายหมื่นรายการหรือไม่ ตัวเลขนี้ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาลอยๆ แต่มีที่มาที่ไป
ย้อนกลับไปที่เวียดนาม ประเทศที่ 2 ที่ตกลงกับสหรัฐได้และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอมเปิดตลาดให้สหรัฐ สินค้าอเมริกันส่งมาเวียดนามเสียภาษี 0% ขณะที่สินค้าเวียดนามส่งไปสหรัฐเจอภาษี 20% ลดลงมากจากอัตราเดิม 46% สินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิส่งไปสหรัฐต้องโดนเก็บภาษี 40% ล่วงเข้าวันอังคาร (15 ก.ค.) ทรัมป์ประกาศว่า บรรลุข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซียแล้ว โดยสินค้าจากอินโดนีเซียจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 19% ในขณะที่สินค้าส่งออกของสหรัฐจะไม่ถูกเก็บภาษี อินโดนีเซียยังสัญญาจะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน เครื่องบินโบอิงของสหรัฐด้วย
ขณะที่อินเดียซึ่งมีข่าวมาหลายสัปดาห์ว่าใกล้จะดีลกับทรัมป์ได้แล้วก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเสียที ทรัมป์บอกว่าข้อตกลงกับอินเดียจะเป็นแบบเดียวกับอินโดนีเซีย แต่อินเดียก็อยากได้ภาษีต่ำกว่า 19% เพื่อความสามารถในการแข่งขัน ส่วนอัตราภาษีสินค้าสหรัฐนั้นแน่นอนว่าต้องอยู่ที่ 0% เกิดคำถามว่า อัตราภาษีนี้ตามที่ทรัมป์ต้องการ ประเทศคู่ค้าจะขัดขืนได้หรือไม่? ไทยเองก็ห่วงเรื่องนี้เหมือนกัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า
“ไม่ใช่แค่มองว่าอัตราภาษีไทยจะได้เท่าไหร่ แต่ต้องมองมิติของผู้ได้รับผลกระทบในประเทศด้วย มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ข้อเสนอที่เรายื่นไปเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐ อาจต้องแลกมากับการเปิดตลาด ย่อมมีผู้เดือดร้อน ทีมเจรจาจึงต้องชั่งน้ำหนัก”
เห็นได้ว่า การตัดสินใจเปิดตลาดให้สหรัฐไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทย เพราะแม้จะแลกกับการลดภาษีสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐ แต่ก็ต้องยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐหลายหมื่นรายการ ถ้าเหลือ 0% ย่อมกระทบผู้ประกอบการในประเทศอย่างหนัก ตัวอย่างจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียสะท้อนให้เห็นว่า การเจรจากับสหรัฐภายใต้เงื่อนไขภาษีที่ไม่สมดุลนั้นมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ทีมไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของประเทศในระยะยาว เชื่อมั่นว่าทีมไทยแลนด์รู้ดีในความจริงข้อนี้ แต่ไม้ซีกอย่างไทยจะไปงัดไม้ซุงอย่างสหรัฐได้จริงหรือ?
ที่มา.. บทบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/economic/1189974