ห้องเม่าปีกเหล็ก

กับดักความลำเอียงทำลงทุนพลาด

โดย กล้วย
เผยแพร่ :
190 views

รับฟังแต่สิ่งที่ “เห็นด้วย”

ปิดกั้นทุกสิ่งที่ “เห็นต่าง”

กับดักความลำเอียงทำลงทุนพลาด

 

.

เคยมั้ย…อยากลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งมากๆ และมีความเชื่อส่วนตัวอยู่แล้วว่ามันน่าจะไปได้ดี

.

แต่ๆๆ พอลงทุนไปแล้ว กลับเป็นหนังคนละม้วน ทั้งที่ก่อนลงทุน ก็ว่าศึกษามาดีแล้ว ดูข้อมูลมาดีแล้ว ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

.

เรื่องนี้ อาจลองสำรวจตัวเองว่า ทุกครั้งที่หาข้อมูล สายตาของเรามักจับจ้องมองหาแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความคิดว่า “สิ่งนี้น่าลงทุน” หรือไม่ แต่ไม่สนใจข้อมูลอีกด้านที่อาจจะกำลังบอกถึงความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้นๆ อยู่ก็เป็นได้

.

บอกเลยว่า ความผิดพลาดในการลงทุนนี้ เกิดขึ้นจากอคติที่คิดเข้าข้าง หรือ ความลำเอียง ล้วนๆ นักจิตวิทยา เรียกอาการแบบนี้ว่า Confirmation Bias!!

.

แล้ว Confirmation Bias คืออะไร?

.

ว่ากันว่า Confirmation Bias เป็นศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึง การแสวงหา รับฟัง และตีความข้อมูลที่ได้มา เพื่อยืนยันความเชื่อ หรือ ความคิดเดิมที่มีอยู่ ให้ยิ่งเชื่อมากขึ้น

.

หลายปีก่อน ศ. John Donohue นักวิชาการด้านกฎหมายแห่ง Stanford University ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ทั้ง “ผู้ที่เห็นด้วย” และ “ผู้ที่ไม่เห็นด้วย” กับโทษประหารชีวิต

.

โดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ฝ่าย อ่านงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิต กับจํานวนการฆาตกรรมในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา

.

งานวิจัยชิ้นแรก บอกถึงการสนับสนุนโทษประหารว่าเป็นวิธีป้องกันการฆาตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

.

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้น บอกถึงการไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าไม่ได้ช่วยลดจํานวนผู้กระทําความผิด

.

หลังจากนั้น ลองสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ทั้ง 2 ฝ่าย พบว่า

“กลุ่มที่เห็นด้วย” มีมุมมองสอดคล้องกับงานวิจัยที่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า

.

ส่วน “กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย” ก็เห็นพ้องกับงานวิจัยที่ไม่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า

.

โดยทั้ง 2 กลุ่ม ให้เหตุผลตรงกันว่า งานวิจัยที่ตรงกับสิ่งที่ตนคิดนั้นมีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากกว่างานวิจัยที่ขัดกับความเชื่อของตนเอง

.

พอถามต่ออีกว่า มุมมองต่อโทษประหารชีวิตหลังอ่านงานวิจัยทั้งสองชิ้น ของพวกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่

.

คําตอบ คือ “ไม่เปลี่ยน” ซ้ำร้าย ยิ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เชื่อให้หยั่งรากลึกลงไปอีก

.

ถ้าลองนำ Confirmation Bias มาวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น หลายครั้งจะพบว่า หากนักลงทุนได้ยินข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง ก็มักจะมั่นใจว่าแนวโน้มของหุ้นตัวนั้นจะต้องเป็นบวก จึงมักจะหาเหตุผลมาโน้มน้าวใจตัวเองให้ซื้อหุ้นตัวนั้นมาถือครองสารพัด

.

แทนที่จะหาว่า “มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้หุ้นตัวนี้ไม่น่าซื้อ” และมักจะมองข้ามข้อมูลอะไรก็ตามที่ต่อต้านความคิดด้านบวก จนอาจเผลอมองข้ามความจริงว่า ราคามันขึ้นมาเยอะแล้ว พอตัดสินใจเข้าซื้อ มันก็อาจจะติดดอยได้ง่ายๆ

.

อีกกรณี ถ้านักลงทุนไปได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะยึดติดกับข่าวนั้นๆ จึงพลาดโอกาสหาข้อมูลด้านดี เอาแต่โฟกัสแค่จุดแย่ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้เราพลาดโอกาสในการซื้อและถือครองหุ้นนั้นๆ ก็ได้

.

แล้วเราจะแก้อาการ Confirmation Bias ยังไงดี?

.

วิธีการง่ายๆ คือ ต้องมีสติ ทุกครั้งก่อนปักใจเชื่ออะไร ต้องเปิดใจรับฟังข้อมูลให้ครบทุกด้าน ที่สำคัญ ต้องสนใจและใส่ใจข้อมูลที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองให้มาก และไม่ตั้งคำถามที่ตอกย้ำความเชื่อของตนเอง

.

ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เคยแนะนำวิธีแก้อคติแบบง่ายๆ ว่า เมื่อใดก็ตาม ที่เขาเจอแนวคิดที่ขัดแย้งกับตน เขาจะต้องรีบจดแนวคิดนั้นไว้ภายใน 30 นาที มิเช่นนั้น เขาจะเริ่มต่อต้านแนวคิดตรงข้ามราวกับร่างกายต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่

.

ความลำเอียง หรือ อคติ ดังกล่าว อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากนำมาใช้กับการลงทุน คงไม่ใช่เรื่องดี แถมอาจทำให้พอร์ตการลงทุนติดลบ และนำไปสู่หายนะได้ในที่สุดก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

https://www.britannica.com/science/confirmation-bias

https://law.stanford.edu/.../professor-john-donohues.../

https://www.linkedin.com/.../exploring-refuting-common...

.

 

 


กล้วย