ห้องเม่าปีกเหล็ก

ส่องคาดการณ์กำไรไตรมาส 2 หุ้นกลุ่มลีสซิ่ง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

โดย บุปผาวดี
เผยแพร่ :
48 views

ส่องคาดการณ์กำไรไตรมาส 2 หุ้นกลุ่มลีสซิ่ง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

อีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้นหุ้นลีสซิ่ง ล่าสุดกำลังจะเข้าสู่ช่วงรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/65 กันแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่า กำไรของหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ยังเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โดยนักวิเคราะห์ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธุรกิจนี้ และยังชอบกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ เนื่องจากเชื่อว่านักลงทุนตอบสนองต่อกระแสข่าวเชิงลบมากเกินไปต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นหุ้นกลุ่มนี้จะน่าสนใจแค่ไหน และใครจะโดดเด่นสุด บทคความนี้มีคำตอบให้แล้ว


สะท้อนจากมุมมองของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน) ได้ออกมาประเมินว่า  คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 ของผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ 5 บริษัทภายใต้การวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยประกอบด้วย HENG, MTC, SAK, SAWAD และ TIDLOR คาดจะอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ทั้งนี้กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ที่แข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 2/2565 จะถูกชดเชยด้วย ECL ที่คาดว่าจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรจะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในระดับปานกลาง โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งจากความต้องการสินเชื่อที่สูงขึ้นหลังจากธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยจะเริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 2/2565 แต่จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกำไร


โดยคาดว่า HENG จะประกาศกำไรไตรมาส 2/2565 แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม จากการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ที่ 33%จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 83%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ SAWAD จะรายงานกำไรไตรมาส 2/2565 ที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่ม จาก ECL ที่คาดสูงขึ้นมาก



สำรวจคาดการณ์งบรายตัว

HENG ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะรายงานกำไรไตรมาส 2/2565 อย่างโดดเด่นที่ 88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33%จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งจากไตรมาสก่อน น่าจะได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่ 5% หนุนจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองและสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้น 4bps จากไตรมาสก่อน และต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ลดลงเป็น 350bps จาก 405bps ในไตรมาส 1/2565


โดยเป็นผลมาจากการตั้งสารองพิเศษ (Management overlay) ที่ลดลงจากการย้ายลูกค้าไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว คาดว่า HENG จะมีเงินกู้ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 1.5 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. (มาตรการสีฟ้า)


ส่วนกำไรที่คาดเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีแรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง คาดว่าอัตราหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ HENG จะเพิ่มขึ้น 20bps เป็น 3.8% เนื่องจาก NPL ใหม่หลังจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้และการตัดจำหน่ายที่ลดลง ซึ่งจะล่าช้าไปเป็นไตรมาส 3/2565 คาดว่า HENG จะคงอัตราสำรองหนี้สูญ (coverage ratio) ไว้ที่ 178% ในไตรมาส 2/2565 นอกจากนี้คาดว่า NPL ratio จะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลังหลังจากที่ HENG กลับมาตัดจำหน่ายหนี้เสียตามปกติและวางแผนที่จะขายหนี้เสียบางส่วนให้กับ AMC ในไตรมาส 4/2565


ถัดมา SAWAD ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะรายงานกำไรที่ไม่น่าตื่นเต้นในไตรมาส 2/2565 ที่ 1.03 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน และลดลง 7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะไม่มีการกลับรายการ ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) สำหรับ SAWAD อีกต่อไปในไตรมาส 2/2565 และคาดว่าต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นจะหักล้าง PPOP ที่แข็งแกร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน PPOP ไตรมาส 2/2565 คาดจะเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 5% จากไตรมาสก่อน ได้แรงหนุนหลักจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่แข็งแกร่งและผลตอบแทนสินเชื่อที่สูงขึ้นจากสัดส่วนสินเชื่อที่ดีขึ้น นอกจากนี้คาดว่าต้นทุนสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเป็น 100bps จาก 21bps ในไตรมาส 1/2565 เป็นผลจาก LTV ที่สูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตอย่างสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์


ขณะที่คาดว่ากำไรของ SAWAD จะลดลงปานกลางจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 2/2565 จากค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) คาดการณ์ไว้ที่ 101 ล้านบาท เทียบกับการกลับรายการ ECL ที่ 48 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 คาดว่า NPL ratio ของ SAWAD ในไตรมาส 2/2565 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 10bps เป็น 3.2% แต่ด้วยการตั้งสำรองต่อหนี้สูญที่ต่ำอยู่ที่ 54% ในไตรมาส 2/2565 คาดว่าต้นทุนสินเชื่อจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในครึ่งปีหลังและกดดันกำไรในครึ่งปีหลัง แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อจะแข็งแกร่ง


MTC ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะรายงานกำไรไตรมาส 2/2565 ที่ 1.38 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่า MTC จะรายงาน PPOP ที่แข็งแกร่งขึ้น 9% จากไตรมาสก่อน เป็น 2.05 พันล้านบาทได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 7%จากไตรมาสก่อน และเติบโต 32%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คาดว่าจะถูกชดเชยด้วยต้นทุนสินเชื่อที่คาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 120bps ในไตรมาส 2/2565 จาก 71bps ในไตรมาส 1/2565 และส่งผลให้กำไรคงที่จากไตรมาสก่อน


นอกจากนี้คาดว่า NPL ratio ของ MTC จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2565 โดยส่วนใหญ่จากสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% จาก 5% ในไตรมาส 1/2565 NPL ratio ขณะที่ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกเช่นกัน


ส่วนประมาณการกำไรจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แรงหนุนหลักจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งจากการขยายสาขาในเชิงรุกตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2564 รวมทั้งคาดว่าอัตราสำรองหนี้สูญไตรมาส 2/2565 จะลดลงเหลือ 101% ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า MTC จะต้องเพิ่ม ECL ในครึ่งปีหลังเพื่อเพิ่มอัตราสำรองหนี้สูญอีกครั้ง


TIDLOR ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะรายงานกำไรที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์รายใหญ่จากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่งจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย จึงประมาณการกำไรไตรมาส 2/2565 ของ TIDLOR ไว้ที่ 920 ล้านบาท ลดลง 2%จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 18%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


โดยคาดว่ากาไรจะลดลงเล็กน้อย จากไตรมาสก่อน เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมที่คาดจะลดลงจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยอันเป็นผลมาจากผลกระทบตามฤดูกาล และต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นเป็น 110bps ในไตรมาส 2/2565 จาก 88bps ในไตรมาส 1/2565 รวมทั้งคาดว่า TIDLOR จะรายงาน NPL ratio ที่สูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.4% ในไตรมาส 2/2565 จาก 1.3% ในไตรมาส 1/2565 และคาดว่าอัตราสำรองหนี้สูญต่อหนี้เสียทั้งหมดจะเพียงพอที่ 279% ในไตรมาส 2/2565


ขณะที่คาดว่ากำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 26% ต่อสินเชื่อรวม 6.9 หมื่นล้านบาท และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ได้รับประโยชน์จากแคมเปญการผ่อนชำระ 10 เดือนให้กับลูกค้าตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2564 เป็นต้นไป โดยคาดว่ากำไรจะเริ่มดีขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3/2565 เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและค่าธรรมเนียมประกันภัยที่ปรับตัวดีขึ้น


สุดท้าย SAK ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะรายงานกำไรไตรมาส 2/2565 ที่ 169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น23%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ากำไรจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่ดีขึ้น 9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 29%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่อีกครั้งและอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่ดีขึ้นตามฤดูกาล


ขณะที่คาดว่ากำไรที่เติบโตแข็งแกร่ง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้นและสัดส่วนต้นทุน/รายได้ที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้น SAK เปิดสาขาใหม่เชิงรุกในครึ่งปีแรก และคาดว่าอัตราส่วนต้นทุน/รายได้จะค่อย ๆ ลดลงในครึ่งปีหลัง เนื่องจากเริ่มมีสินเชื่อใหม่จากสาขาใหม่ รวมทั้งคาดว่า NPL ratio ของ SAK ในไตรมาส 2/2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จาก 2.3% ในไตรมาส 1/2565 จากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ปลายปี 2564



เปิดปัจจัยกดดันผลงานกลุ่ม

ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มในปี 2565-2567 ลง 8.2%,8.6%,8.5% เป็น 1.51 หมื่นล้านบาท,1.85 หมื่นล้านบาท, 2.16 หมื่นล้านบาทตามลำดับ สาเหตุหลักมาจาก 1.ต้นทุนที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่กดดันต้นทุนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาดและ 2.ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในปี 2565-2567 เพื่อสะท้อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในปี 2565-2566 นอกจากนี้ยังรวมประเด็นเฉพาะ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตน้อยกว่าคาดของ TIDLOR การตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเติมของ HENG ที่คาดไว้ในไตรมาส 2-3/2565 และของ MTC จากแนวโน้ม NPL ที่สูงกว่าที่คาดไว้


ขณะที่คาดว่าผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์รายใหญ่ (TIDLOR, MTC และ SAWAD) จะสามารถบริหารต้นทุนดอกเบี้ยได้มีประสิทธิภาพมากกว่าผู้เล่นรายเล็กอย่าง HENG และ SAK เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่สามารถเข้าถึงตลาดตราสารหนี้เพื่อล็อคต้นทุนดอกเบี้ยในอีกหลายปีข้างหน้า TIDLOR ยังได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในปีที่แล้ว และจะยืดเวลาการรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในปี 2565


นอกจากนี้คาดว่า ธปท. จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปี 2565 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะปรับขึ้นช้ากว่าเล็กน้อย โดยคาดว่าบริษัทด้านการเงินที่มีสัดส่วนเงินกู้ธนาคารต่อการจัดหาเงินทุนทั้งหมดสูงจะต้องเผชิญกับต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าบริษัทที่มีสัดส่วนหุ้นกู้สูง



คาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมีความเสี่ยงมากขึ้น

คาดว่ารายได้สุทธิของครัวเรือนจะลดลงในปี 2565 เนื่องจากการสนับสนุนจากโครงการของรัฐบาลที่ลดลงและค่าครองชีพที่ลดลง โดยเชื่อว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระมากกว่าเงินกู้ที่มีหลักประกันในปี 2565 บริษัทที่มีสัดส่วนเงินกู้ที่มีหลักประกันสูง เช่น TIDLOR และ HENG น่าจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ในปี 2565 ขณะที่มองว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มมีสัญญาณไม่ดีต่อคุณภาพสินทรัพย์ในครึ่งปีหลัง


ดังนั้นจึงคงมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธุรกิจนี้ และยังชอบกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ เนื่องจากเชื่อว่านักลงทุนตอบสนองต่อกระแสข่าวเชิงลบมากเกินไปต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาหุ้นของ MTC และ SAWAD ซื้อขายที่มูลค่าต่ากว่า 1.5SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย PBV ในอดีต


นอกจากนี้ ยังปรับลดราคาเป้าหมายสำหรับหุ้นบริษัทสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ลง 4-37% เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว และหุ้นส่วนใหญ่ยังคงมี upside กว่า 20-30% จากราคาปัจจุบัน โดย TIDLOR ยังคงเป็นหุ้นเด่นของฝ่ายวิจัย ให้ราคาเป้าหมาย 35.25 บาท MTC ราคาเป้าหมาย 55.00 บาท SAWAD ราคาเป้าหมาย 55.00 บาท HENG ราคาเป้าหมาย 3.60 บาท และSAK ราคาเป้าหมาย 7.70 บาท

 

 


บุปผาวดี