ห้องเม่าปีกเหล็ก

เปิดมุมมอง ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ พลิกปัจจัยเสี่ยงเป็นโอกาส

โดย dave
เผยแพร่ :
51 views

เปิดมุมมอง ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ พลิกปัจจัยเสี่ยงเป็นโอกาส ดันเศรษฐกิจไทย ปี 2563 ให้โตได้

 

พอใกล้ช่วงสิ้นปีทีไร ก็มักจะมีรายงานการคาดการณ์และฟันธงถึง ‘สถานการณ์เศรษฐกิจไทย’ ไปจนถึงเศรษฐกิจโลกลอยมาเข้าหูเป็นระยะ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ทั้งในนามขององค์กรเศรษฐกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจ แต่ในวันนี้ เราได้หยิบเอามุมมองและการวิเคราะห์ของบุคคลที่มีโปรไฟล์เป็น อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่เอ่ยชื่อไปคนไทยทุกคนต้องคุ้นหู นั่นคือ ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ ซึ่งมาให้ทั้งมุมมอง คำแนะนำ ชี้ทางออกในการรับมือกับทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาตามหลักเศรษฐศาสตร์


ชี้ ‘การแจกเงินกระตุ้นให้ใช้จ่าย + หนี้ครัวเรือน’ หายนะที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ปี 2563

ในมุมมองของอดีตผู้อำนวยการ WTO มองว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุด ซึ่งจะมาเป็นตัวขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั่นคือ

ประเด็นเรื่องความนิ่งและความต่อเนื่องทางการเมืองของไทย เพื่อผลักดันให้นโยบายต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้ เป็นเรื่องที่ยังน่ากังวลว่าจะรักษาไว้ได้มากแค่ไหน ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน”

“ส่วนปัญหาที่น่ากังวลรองลงมา คือ การกระตุ้นและผลักดันให้เศรษฐกิจของชาติเติบโตผ่านนโยบายต่างๆ ต้องไม่หลงประเด็น อย่างการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศนั้น ไม่ได้มีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือเติบโตได้อย่างที่หลายฝ่ายหวัง แค่การมาแจกเงิน ใครๆ ก็ชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้ามทำ ทำได้ แต่อย่าทำบ่อย เพราะไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศชาติจะดี ต้องมาจากรายได้การส่งออกที่ดี ซึ่งเป็นแรงหนุนในระดับเศรษฐกิจโลกมากกว่า”

นอกจากนี้ อดีตผู้อำนวยการ WTO ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้และในปีหน้า คาดว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤต หนี้ครัวเรือนไทย ที่เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบของการรังแกคนออม ไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการออมอย่างแท้จริง กอปรกับหลักคิดการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมใช้จ่ายเพื่อความพึงพอใจ ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นอีก

“ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้เข้ากับเหตุการณ์ สภาวะของประเทศไม่ได้เผชิญหน้ากับวิกฤตคนตกงาน หรือปัญหาด้านอื่นๆ มากถึงขนาดเกิดความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย ตรงนี้บอกตามตรงว่า ผมค่อนข้างผิดหวังกับการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้มาก อยากให้กลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมมากกว่า”


ศุภชัย พานิชภักดิ์ ฟันธงปัจจัยเสี่ยง 4 ด้านทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปี 2563

เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อตัวขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศโดยโฟกัสไปที่ 4 ประเด็นต่อไปนี้ 

ประเด็นแรก ภาวะเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สะสม จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

ทว่า ในวิกฤตนี้ก็ยังมีโอกาส เพราะในจำนวนประเทศเกิดใหม่ ก็ยังมีประเทศที่สามารถเป็นตลาดส่งออกของไทยได้ต่อไป โดยยังมีแนวโน้มความต้องการสินค้าไทยในอัตราขยายตัวอยู่ เช่น ตุรกี อินเดีย จีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

“ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ผมว่ามาถูกทางแล้วที่ตัดสินใจเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อเป็นแต้มต่อสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ไม่ควรหลงลืม กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ควรสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อต่อยอดให้เกิดความร่วมมือทางการค้าต่อไป ทั้งนี้ รวมถึงการขยายตลาดสำคัญอย่างสหภาพยุโรป ที่จำเป็นต้องเร่งทำเอฟทีไอด้วยเช่นกัน”

ประเด็นที่สอง การตีราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ หรือ Asset class ที่มีการกำหนดราคาเกินกว่ามูลค่าตัวทรัพย์สินนั้นๆ (overprice)

ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าในปีหน้าจะมีความผันผวนและมีความพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบหรือ QE เกิดขึ้นทั้งในญี่ปุ่นและอียู

ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลให้เงินบาทในปีหน้ามีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง และเชื่อว่าตลอดปี 2563 ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในมุมของศุภชัย มองว่าค่าเงินในระดับนี้เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ที่เหลือน่าจะเป็นการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ไม่ใช่มัวแต่มานั่งบ่นว่า พอเงินบาทแข็งค่า ก็ส่งออกไม่ได้

นอกจากนี้ ศุภชัยยังย้ำว่า ไม่อยากให้ทุกคนกังวลกับภาวะเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป และอยากให้ต่อยอดโอกาสจากการที่เงินบาทแข็งค่านี้ไปใช้เป็นจุดแข็งสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตมากกว่า

“ยิ่งในด้านการลงทุน ผมมองว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ต้องเร่งฉกฉวยประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งนี้ โดยการทำให้นักลงทุนเห็นว่า การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในขณะนี้ จะได้รับประโยชน์และไทยจะเป็นฐานการลงทุนที่ดี เพราะบ้านเรายังมีพื้นที่และโอกาสในการลงทุนที่รอนักลงทุนอีกมาก บวกกับในตอนนี้ ไทยก่อหนี้สาธารณะน้อย สัดส่วนตอนนี้อยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพดานจริงยังขยับไปได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์”

“การที่ค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้นนี้เอง ที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เพราะทำให้เรามีกำลังที่จะลงทุน นำเข้าเครื่องจักรใหม่ๆ สร้างฐานการผลิตใหม่ให้ทันสมัยควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการลงทุนต่างประเทศที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะครั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากรากฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง”

มาถึง ประเด็นที่ 4 ศุภชัยไม่ลืมหยิบยกมาพูดถึง นั่นคือ ปัจจัยเรื่อง สงครามการค้า จีน-สหรัฐ ที่เขามองว่า ถ้าสามารถเจรจาตกลงกันได้ จะเป็นเพียงแค่มาตรการชั่วคราว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของสถานการณ์นี้ คือ การยึดพื้นที่เชิงภูมิรัฐศาสตร์ มากกว่า

ดังนั้น จุดยืนของไทยต่อการเผชิญหน้ากับสงครามการค้านี้ คือ การหาช่องทางส่งออกสินค้าที่จีนไม่สามารถสั่งจากสหรัฐได้ ในทางกลับกัน ก็ต้องหาทางส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐในส่วนที่ไม่สามารถนำเข้าได้จากจีน ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำในการผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางการค้าต่างๆ ด้วย


ที่มา : เรียบเรียงจากรายงานข่าวเรื่อง ศุภชัย เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจไทย-โลก ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2562

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


dave