การสับเปลี่ยนกองทุน เป็นอีก 1 กลยุทธ์ ที่นักลงทุน ควรศึกษา
เพราะ การสับเปลี่ยนสามารถ ช่วยเราลดความเสี่ยง ในขณะที่ตลาดหุ้นผันผวนได้
.........................................................................................................................................
อาจเรียกได้ว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ถือเป็นกองทุนเพื่อประหยัดภาษียอดฮิต ซึ่งใช้กันมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีบางท่านที่ยังเข้าใจผิดว่าเมื่อซื้อกองทุน LTF กองใดไปแล้วก็ตาม จะไม่สามารถขายออกได้จนกว่าจะครบเงื่อนไข 5 ปีปฏิทิน ทำให้ในบางจังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวน ก็จำต้องทนรับความเสี่ยงนั้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเงื่อนไขระบุแค่ว่าเป็นกองทุน LTF (ในภาพรวม) แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น “กองเดิม” เท่านั้น ดังนั้น การสับเปลี่ยนกองทุนจะช่วยเราบริหารกองทุน LTF ที่เราลงทุนอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นค่ะ
ประโยชน์ข้อแรกของการสับเปลี่ยนกองทุนคือ ปรับระดับความเสี่ยงให้เหมาะกับผู้ลงทุนหากเผลอเลือกกองทุนที่ไม่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ เช่น รับความเสี่ยงได้ปานกลางแต่ไปซื้อกองทุนที่ลงทุนหุ้นล้วน ผลที่เกิดคือทำให้ช่วงนี้รู้สึกกระวนกระวายใจ สิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังรับความเสี่ยงที่สูงเกินไปแล้ว ดังนั้น ทางแก้คือให้สับเปลี่ยนกองทุนจากที่ลงทุนในหุ้นเกือบเต็มจำนวนคือร้อยละ 90 เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่เกินสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นร้อยละ 70 หรือ 75 บ้างแล้วแต่บริษัทจัดการ ก็จะช่วยจำกัดความผันผวนให้ลดน้อยลง แต่หากยังรู้สึกกังวลใจอยู่อีก อันนี้อาจต้องถอยลงไปซื้อกองทุนที่ใช้ตราสารอนุพันธ์เข้ามาช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งกองทุนเหล่านี้ใช้การวิธี Short Futures ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเหลือประมาณร้อยละ 10 หรือ 20 เท่านั้น วิธีนี้จะช่วยปรับสมดุลให้ผู้ลงทุนเลือกกองทุนที่สอดคล้องกับตนเองได้
การสับเปลี่ยนนี้เองยังช่วยในการ บริหารความเสี่ยงจากการลงทุน ได้อีกด้วย คำว่าบริหารความเสี่ยงนี้แตกต่างจากการปรับความเสี่ยงคือ เป็นการให้ผู้ลงทุนสามารถ “เพิ่มหรือลด” ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นตามการคาดการณ์แนวโน้มของตนเอง เช่น หากคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นก็สับเปลี่ยนจากกองทุนที่มีความเสี่ยงจากหุ้นน้อยเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่หากคาดว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มพักฐานลงเป็นเวลานาน ก็ให้สับเปลี่ยนเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ดี วิธีนี้เป็นการจับจังหวะลงทุน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง มีเวลาติดตามสภาวะตลาด การคาดการณ์ผิดก็จะทำให้เกิดผลขาดทุน
นอกจากนี้ มีเทคนิคเล็กๆ อีกประการหนึ่งคือ สร้างโอกาสรับเงินปันผล คือการสับเปลี่ยนไปยังกองทุนที่จะจ่ายเงินปันผลเพื่อได้นำกระแสเงินสดออกจากกองทุน วิธีนี้อาจจะฟังดูแปลกอยู่สักหน่อยแต่สอดคล้องกับเรื่องการปรับสมดุลความเสี่ยงจากการลงทุนหรือ Rebalancing อยู่บ้าง เนื่องจากการจ่ายเงินปันผลมักจะเกิดในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ถ้าเป็นการลงทุนทั่วไปผู้ลงทุนควรขายกองทุนออกไปบางส่วน เพื่อเป็นการรับรู้กำไรและรักษาสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตโดยรวม แต่ในส่วนของ LTF นั้น เราไม่สามารถขายออกทุนออกไปได้หากยังไม่ครบกำหนด ดังนั้น การสับเปลี่ยนไปยังกองทุนที่กำลังจะจ่ายปันผล จะเป็นเสมือนหนึ่งว่าเราได้ทำการปรับสมดุลบ้างบางส่วน นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อกองทุน LTF ในปีนั้นยังคงเดิม เนื่องจากการนับสิทธิประโยชน์นับจากเงินลงทุนเริ่มแรกในปีนั้นๆ
การสับเปลี่ยนกองทุนแบบนี้ยังเพิ่มโอกาสให้เราดึงเงินออกจากกองทุน LTF ได้ถี่ขึ้น หากบริษัทจัดการลงทุนไม่ได้จ่ายเงินปันผลของทุกกองทุนในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น กองทุน ก จ่ายเงินปันผลทุกเดือนมีนาคม และกันยายน ขณะที่กองทุน ข จ่ายเงินปันผลทุกเดือนกุมภาพันธ์ และสิงหาคม ในกรณีนี้เราสามารถสับเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกองทุน ก และกองทุน ข เพื่อรับเงินปันผลปีละ 4 ครั้งได้ อย่างไรก็ดี ต้องแจ้งก่อนว่าเงินปันผลที่ได้รับนั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ดังนั้น สำหรับท่านที่ต้องการผลกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็อาจเลือกลงทุนในกองทุน LTF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลก็ได้ จะทำให้ได้ผลตอบแทนเต็มๆ แบบไม่เสียภาษีในตอนที่ไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดแล้วก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความต้องการสภาพคล่องของแต่ละท่านค่ะ
แม้ว่าการสับเปลี่ยนกองทุน LTF จะเป็นวิธีที่เพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนได้ แต่สิ่งที่ผู้ลงทุนควรระมัดระวังคือ การสับเปลี่ยนกองทุนเป็นเรื่องเดียวกับ “การสับเปลี่ยนระดับความเสี่ยง” ดังนั้น การคาดการณ์ในจังหวะที่ผิด เช่น เลือกกองทุนที่มีสัดส่วนหุ้นน้อยในช่วงที่หุ้นมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ก็จะทำให้เสียโอกาสในการลงทุน นอกจากนี้ การสับเปลี่ยนกองทุน LTF ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนจะมีการคิดค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกองทุน สุดท้ายนี้ก็ต้องบอกว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำแบบประเมินความเสี่ยง ศึกษาหนังสือชี้ชวนและคู่มือภาษีก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ ขอให้โชคดีค่ะ
............................................................................................................................
ที่มา Cridit : คุณ อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย