SINGER ดิ่งแรงกว่า 55.13%
โบรกฯ สั่ง “ขาย” และให้ “เลี่ยงลงทุน”
แนะจับตาปรับโครงสร้าง-นโยบาย

.
กลุ่มหุ้นเจมาร์ทในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงทั้งกลุ่ม รวมไปถึง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กระแสข่าวเชิงลบออกมาผลกระทบราคาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดหัวเรือใหญ่อย่าง นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน ก็ได้ประกาศลาออก
.
จากการสำรวจข้อมูลความเคลื่อนไหวราคาหุ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีมาถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566) พบว่ามีการปรับตัวลดลงถึง 55.13% หรือราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 12.90 บาท ซึ่งการปรับตัวลงในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้หรือไม่ ในวันนี้ทาง Wealthy Thai จะพาไปหาคำตอบและดูมุมมองนักวิเคราะห์กัน
.
โดยบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จํากัด (มหาชน) ให้คำแนะนำ “หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน” แม้ราคาหุ้นปรับลงมามาก เนื่องจากจากปัญหาด้าน NPL ที่คาดยังต้องใช้เวลาจัดการและในระยะสั้น กำไรไตรมาส 1/66 ยังลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งยังมีโอกาสเกิดดาวน์ไซด์
.
ด้านมุมมองธุรกิจบริษัทยังอยู่ในช่วงจัดการการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ (NPL) ทำให้การเติบโตของสินเชื่ออาจยังไม่เด่น โดยบริษัทมองยังต้องใช้เวลาจัดการราว 2 ไตรมาสถึงไตรมาส 2/66 และจะกลับมาเน้นด้านสินเชื่อตามปกติได้ในไตรมาส 3/66
.
ทั้งนี้มีมุมมองเชิงลบต่อการปรับโครงสร้างครั้งนี้ นายกิตติพงศ์ ถือเป็นบุคลากรสำคัญของบริษัทตลอดช่วงรับตำแหน่ง MD ตั้งแต่ปี 2560 สามารถผลักดันผลประกอบการจากขาดทุนปี 2560 กลับมามีกำไร 935 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่นายนราธิปที่มารับตำแหน่งแทนเดิมเป็นผู้บริหารอยู่ใน Jaymert Mobile จึงแนะนำให้ติดตามการปรับโครงสร้างและนโยบายต่อไป
.
ขณะที่บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำ “ขาย” และกำหนดราคาเหมาะสมที่ 11.60 บาท เนื่องจาก ปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ (NPL) ที่เกิดใหม่จำนวนมากและมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร จึงต้องใช้เวลาสักระยะในการล้างงบดุลและฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต
.
โดยการแก้ปัญหา NPL ทำให้เกิดความกังวลกับค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯและผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่ง NPL ที่แท้จริงพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4/65 โดย NPL ratio อยู่ที่ประมาณ 11-12% เนื่องจากยังมีการจัดชั้นลูกค้าที่อ่อนไหวบางรายเป็นสินเชื่อที่ปกติ (performing loan) อยู่ในไตรมาส 4/65
.
แต่คาดการณ์ว่าลูกค้าเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็น NPL ในไตรมาส 1/66 และกระทบค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ และค่าใช้จ่ายการด้อยค่าของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ ดังนั้นจึงปรับเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองในไตรมาส 1/66 เป็น 8% จาก 5.6% ในไตรมาส 4/65 และในปี 2566 เป็น 6% จาก 2.5% ในปี 2565
.
พร้อมกันนี้ได้ปรับลดประมาณการกำไรลง เพื่อสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้นเป็น 6%และ4% ในปี 2566และ2567 จากเดิมที่ 3%และ2.5% พร้อมกับปรับลดอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นลดลง 20%และเพิ่มขึ้น 10%จากเดิมที่ลดลง 5% และเพิ่มขึ้น 10% และปรับลดอัตราการเติบโตขอสินเชื่อเป็นลดลง 6%และเพิ่มขึ้น 5% จากเดิมลดลง5%และเพิ่มขึ้น 10%