ห้องเม่าปีกเหล็ก

8 ทริคคัดหุ้น ฉบับบเร่งด่วน !

โดย poomai
เผยแพร่ :
227 views

8 ทริคคัดหุ้น ฉบับบเร่งด่วน !

 

.

หากพูดถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ณ ปัจจุบัน ที่มีหลายร้อยจนใกล้แตะ 1,000 บริษัทเข้าทุกที ดังนั้น การที่เราจะเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทุกบริษัท เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบตัดสินใจเข้าลงทุน คงใช้เวลานานน่าดู

.

ซึ่งการใช้ระยะเวลานานในการตัดสินใจเช่นนั้น นอกจากทำให้การลงทุนของเราล่าช้าไปมากแล้ว บางทีอาจทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุน จากจังหวะที่หุ้นใดหุ้นหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เรามัวแต่ตัดสินใจ จด ๆ จ้อง ๆ อยู่นั่นเอง

ดังนั้น วันนี้แอดฯจึงอยากนำเทคนิคดีๆ จากตลท. เกี่ยวกับการคัดหุ้นฉบับเร่งด่วน แต่ก็เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ มาแบ่งปันให้ทุกคนลองนำไปใช้กันดู ซึ่งมีทั้งหมด 8 วิธีดังนี้นะ

.

1.ตรวจสอบภาพรวมอุตสาหกรรมและบริษัท : ตลาดหลักทรัพย์ฯแนะนำว่า เราควรเริ่มจากการตรวจสอบว่าบริษัทที่เราสนใจ อยู่ในอุตสาหกรรมใด เป็นธุรกิจที่เราสนใจหรือไม่ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเป็นอย่างไร ?

.

การตรวจสอบสิ่งข้างต้น จะทำให้เราพอใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือหลีกเลี่ยงบริษัทหรืออุตสาหกรรมเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจบ้านจัดสรรในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะดี เมื่อแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยลดลง และจะขายไม่ค่อยออกเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

.

การคาดการณ์ในอนาคตของเราเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย จะเป็นเครื่องชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้ จะมีแนวโน้มอย่างไร ทำให้เรามีเหตุผลประกอบที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่นั่นเอง ...

.

2.ตรวจสอบมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด : มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) หมายถึง มูลค่าของกิจการ โดยวัดจากราคาตลาดของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นของบริษัท ซึ่งเราสามารถนำมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์มาจัดกลุ่มได้ 3 แบบ

.

ซึ่งจะประกอบด้วย บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงมาก (Large caps), บริษัทที่มีมูลค่าตลาดปานกลาง (Mid caps) และ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดน้อย (Small caps)

.

ทั้งนี้ หุ้นแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลทั้งทางบวก และลบ ต้องพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยทั่วไปบริษัทในกลุ่ม Large caps จะมีความมั่นคง ส่วนบริษัทที่มีขนาดเล็ก ลงมาจะมีจุดเด่นในเรื่องการเติบโต

.

การตัดสินใจว่าสนใจหุ้นกลุ่มใดเป็นพิเศษ จะทำให้เราตัดบริษัทที่อยู่ใน กลุ่มอื่นออกไปได้ ทำให้จำนวนหุ้นที่เราจะพิจารณาอย่างจริงจัง เหลือน้อยลง

.

3.ตรวจสอบอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่า : อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่าบางตัว เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) หรือ อัตราส่วนราคาต่อยอดขาย (P/S) สามารถใช้เป็นตัวกำหนดหรือพิจารณาว่านักลงทุนในตลาด มองแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงาน (ยอดขายหรือกำไร) ของบริษัทอย่างไร ?

.

หากบริษัทมีอัตราส่วนเหล่านี้สูง แสดงว่า 1 บาท ของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุนในตลาดให้ความสำคัญมาก มองว่าบริษัทนั้นจะเติบโตต่อไปได้ ราคาหุ้นในวันนี้จึงมีค่าสูง ซึ่งหุ้นที่มีอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าสูง มักถูกพิจารณาว่าเป็น "Growth Stock" นั่นเอง

.

ส่วนหุ้นที่มีอัตราส่วนดังกล่าวต่ำ จะถูกพิจารณาว่า เป็น "Valued Stock" เนื่องจาก 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย นักลงทุนเห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการขยายตัวของกิจการ ราคาหุ้นในตลาดจึงไม่สะท้อนมากนัก

.

4.ตรวจสอบปริมาณการซื้อขาย : ปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) คือ จำนวนเฉลี่ยของหุ้น ที่ซื้อและขายต่อวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายต่อวันมีค่าน้อย สะท้อนว่าหุ้นของบริษัทนั้นไม่ค่อยมีสภาพคล่องในการซื้อขาย ถือเป็นอุปสรรคในการลงทุนอย่างหนึ่ง

.

ดังนั้น เราจึงสามารถนำปริมาณการซื้อขายมาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองหุ้นให้เหลือน้อยลงได้เช่นกัน โดยต้องมองหาหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงๆเข้าไว้

.

5.ตรวจสอบจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ : จำนวนหุ้น ที่เรียกว่า "Float" แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนมือในการซื้อขายประจำวัน การพิจารณาจำนวนหุ้นที่ Float นี้ เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเลือก หรือค้นหาหุ้นด้วย

.

นักลงทุนบางคนค้นหาบริษัทที่น่าสนใจและมีจำนวนหุ้นที่ Float ไม่มากนัก เนื่องจากถ้ามีข้อมูลในทิศทางบวกของบริษัท เหล่านี้และซื้อเอาไว้ก็จะมีโอกาสได้กำไรสูง ขณะที่นักลงทุนบางคนก็สนใจหุ้นที่มี Float มาก เพราะมีแนวโน้มของสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โอกาสเข้าหรือออกจากตลาดในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็จะทำได้ง่ายนั่นเอง

.

6.ตรวจสอบกระแสเงินสดของกิจการ : การคัดเลือกหุ้นอาจพิจารณาจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยเฉพาะกระแสเงินสดสุทธิ จากการดำเนินงาน ซึ่งมาจากกำไรสุทธิ และกระแสเงินสดสุทธิอื่นๆ ที่ได้จากการดำเนินงาน

.

โดยเราสามารถดูได้จากงบกระแสเงินสด ซึ่งกระแสเงินสดที่กล่าวถึงนี้ ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นที่จะบอกว่าบริษัทมีฝีมือ ในการบริหารงานจากธุรกิจหลักของตนเองอย่างไร ?

.

7.ตรวจสอบประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต : ถือเป็นเกณฑ์อันหนึ่ง ที่เราใช้พิจารณาว่าหุ้นบริษัทนั้นน่าสนใจหรือไม่ คือ การติดตามดู ประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต บริษัทที่น่าสนใจจะมีขนาดและอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไร ที่เพิ่มขึ้นและมีความต่อเนื่อง

.

8.ตรวจสอบความล้าสมัยของผลิตภัณฑ์ของกิจการ : ในการคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนต้องพิจารณาด้วยว่าสินค้าและบริการของบริษัท มีแนวโน้มจะล้าสมัยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้กระทบต่อโอกาสการเติบโต ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ ยอดขาย และกำไรของบริษัท ถ้าพบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทล้าสมัย เราสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดหุ้น ของบริษัทเหล่านั้นออกจากการพิจารณาได้

.

และทั้งหมดนี้ คือ ทริคคัดหุ้นง่ายๆฉบับเร่งด่วน แต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่แอดนำข้อมูลดี ๆ จากตลาดหลักทรัพย์ฯมาแบ่งปันทุกคนวันนี้นะ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อนเนอะ สำหรับวันนี้ไปก่อนแล้ว บ๊าย บาย ....

.

by บ.บูม

 

 


poomai