
ตลาดหุ้นไทยบวกรับวันแรกของสัปดาห์ (จันทร์ 20 มี.ค.) ด้วยวอลุ่มค่อนข้างน้อยที่ราว 3.5 หมื่นล้าน แม้จะได้รับเซนติเมนต์บวกจากเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือนมาช่วยหนุนเรื่องเม็ดเงินต่างชาติมีทิศทางไหลกลับ แต่ดัชนีฯ ก็ยังแกว่งในกรอบจำกัด นักลงทุนเฝ้าระวังประเด็นต่างประเทศที่ในสัปดาห์นี้ “เจเน็ต เยลเลน” ประธานเฟดเตรียมขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 23 มี.ค. ตลาดรอดูท่าทีในเรื่องเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจจะส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี
ล่าสุด แรงขายในช่วงเปิดตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป สะท้อนว่านักลงทุนอาจเริ่มมีความกังวลภายหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G20 ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนที่จะต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้า หรือส่งเสริมการค้าเสรี เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา จนสร้างความกังวลว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศจะมีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย อาจอาศัยจังหวะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ หันมาเล็งหุ้น “Domestic Play” ที่มีพื้นฐานแกร่ง และ Valuation น่าสนใจ
“ภรณี ทองเย็น” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส บอกกับ Money Channel ว่า หุ้นในกลุ่ม Domestic Play น่าจะกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น ด้วยผลประกอบการในไตรมาสแรกที่มีแนวโน้มโดดเด่นกว่าหุ้น Global Theme หลังจากในไตรมาส 4/59 กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หยุดชะงัก ก่อนทยอยกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
คุณภรณีชี้ไปยังหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่คาดผลประกอบการงวดไตรมาส1/60 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อเทียบ Q/Q มีปัจจัยที่สนับสนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน หรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 - ก.พ.60 นอกจากนี้ ยังประเมินว่ากำไรหุ้นกลุ่มค้าปลีกจะเติบโตมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกเซ็กเตอร์ใน SET โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยถึง 22-24% จากกำไรตลาดโดยรวมปีนี้ที่ระดับ 9.5 แสนล้านบาท
"เอเซียพลัส" คาดจะเห็นยอดขายในกลุ่มค้าปลีกฟื้นตัวเด่นชัดในไตรมาส 3/60 หลังจากผ่านช่วงการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้น อาทิ การปรับปรุงระบบลดต้นทุน ไปจนถึงการนำสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงเข้ามาชดเชยสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ
โบรกเกอร์รายนี้ระบุว่าชอบหุ้น ROBINS (ประเมินราคาพื้นฐาน 79 บาท) หลังจากที่ผ่านมาได้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำกำไร เน้นจัดหาสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ (Private brand และ Exclusive brand) ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนจากปัจจุบัน 11% ของยอดขายรวมเป็น 15% ในปีนี้ รวมทั้งมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานสาขา จากเดิมที่เน้นพื้นที่ขายเป็นเน้นพื้นที่เช่ามากขึ้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
ปัจจุบันรูปแบบ “Lifestyle mall” มีอยู่ราว 18 สาขาจากทั้งหมด 44 สาขา และปี 2560 จะเพิ่มเป็น 20 สาขา จากเป้าหมาย 47 สาขา ซึ่งจะช่วยหนุนให้ EPS Growth ปี 2560-61 อยู่ที่เฉลี่ยราว 14.5% ขณะเดียวกัน ROBINS มีหนี้สินที่น้อยเมื่อเทียบกับกลุ่ม จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยของไทยที่คาดว่าจะปรับขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากเฟดได้นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
อีกหนึ่งหุ้นที่ “เอเซียพลัส” ชื่นชอบก็คือ HMPRO (ให้ราคาพื้นฐาน 11.70 บาท) บริษัทฯ ยังเน้นสินค้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไร ผ่านการสร้างสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยสัดส่วนการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 18.7% ของยอดขายรวม และตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 20% ในปีนี้ นอกจากนี้จะนำกลยุทธ์ดังกล่าวไปใช้กับบริษัทย่อยซึ่งขายวัสดุก่อสร้างที่กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นักวิเคราะห์คาดว่า EPS Growth จะอยู่ที่ราว 20% ในปี 2560 และ 16% ในปี 2561
ฝั่งนักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มค้าปลีก บล.เคทีบี(ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ Money Channel ว่า ในช่วงนี้ภาพรวมกำลังซื้อในประเทศเริ่มเข้าสู่ปกติ ทำให้หุ้นกลุ่มค้าปลีกน่าจะกลับมามีผลประกอบการที่ฟื้นขึ้นได้
อย่างไรก็ดี โบรกเกอร์รายนี้ยังเน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัวที่มีอัพไซด์น่าสนใจ อย่างเช่น ROBINS เพราะมองว่าบริษัทฯ มีพื้นฐานที่ดีขึ้นจากแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นที่ฟื้นตัวเป็นลำดับ จากนโยบายเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ามาร์จิ้นสูงและการควบคุมการทำโปรโมชั่น พร้อมกับปรับกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความทันสมัยมากขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่า ROBINS จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จะได้เซนติเมนต์เชิงบวกจากแนวโน้มกำลังซื้อที่ฟื้นตัวในปีนี้ โดยประเมินกำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ 3.02 พันล้านบาท และราคาพื้นฐาน 79 บาท
ส่วนหุ้น CPALL คาดว่าจะเป็นหุ้นค้าปลีกที่ผลประกอบการฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในกลุ่ม ประเมินกำไรสุทธิปีนี้ 1.9 หมื่นล้านบาท ราคาพื้นฐาน 73 บาท ขณะที่ BJC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในหลังควบรวม BIGC ซึ่งปรับกลยุทธ์นำสินค้ามาร์จิ้นต่ำออกและชดเชยด้วยสินค้ามาร์จิ้นสูง ทำให้ยอดขายในช่วงนี้อาจจะเติบโตไม่มากนัก แต่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นักวิเคราะห์เคทีบีฯ ประเมินกำไร BJC ปีนี้ที่ 5.95 พันล้านบาท ราคาพื้นฐาน 53 บาท
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุถึงหุ้น CPALL คาดว่ากำไรไตรมาสแรกจะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามบรรยากาศการจับจ่ายที่เริ่มฟื้น ประกอบกับได้ประโยชน์จากการขยายสาขา 200 สาขาในไตรมาสแรก นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรทั้งปี 2560 จะเติบโตได้ราว 15% จากการเปิดสาขาร้านเซเว่นฯ 700 สาขา ยอดขายต่อสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 3% และถูกหนุนจาก MAKRO ที่จะมีผลประกอบการดีขึ้น ค่ายเมย์แบงก์ฯ ประเมินราคาพื้นฐาน CPALL ที่ 68 บาท
*********************************
ที่มา Business&Finance, Money Channel