
Tech Layoff สัญญาณเตือนฟองสบู่ดิจิทัล?
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทด้านเทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการที่ผู้คนเคลื่อนที่น้อยลงและหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวจ้างคนเพิ่ม แรงงานทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง developer หรือนักพัฒนาโดนซื้อตัวและหายากยิ่งกว่าทอง
เมื่อสถานการณ์โควิดทุเลาลง ภาวะสงครามเข้ามาแทรก ทำให้สัญญาณของการฟื้นตัวที่หวังว่าจะได้เห็นหลังภาวะโรคระบาด กลับไม่เป็นเช่นนั้น นักลงทุนทั่วโลกชะลอการลงทุน เงินทุนหมุนเวียนในตลาดลดลง รวมถึงภาวะสินค้าแพง ทำให้ผู้คนต่างใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตาร์ทอัพที่เติบโตมากแล้ว อยู่ในภาวะลำบาก สถานการณ์เศรษฐกิจกระทบกับธุรกิจให้มูลค่าต่ำลง ต้องลดค่าใช้จ่าย และสัญญาณที่เห็นชัดที่สุดคือการลดพนักงาน
รายงานจาก Tech in Asia ระบุว่าในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ต้นปี 2022 มีการลดพนักงานของบริษัทด้านเทคโนโลยีถึง 110,000 คน เงินลงทุนในตลาดลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 แต่ที่น่าจับตาคือหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนลดลงถึง 31%
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก เราจึงได้เห็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เคยประกาศว่าเติบโตก่อนหน้านี้ ออกมาประกาศงดรับพนักงาน หรือปลดพนักงานกันถ้วนหน้า Netflix ปลดพนักงาน 450 คนในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก Meta ผู้พัฒนา Facebook ก็ประกาศไม่รับพนักงานใหม่แม้จะมีคนลาออกไปจนถึงสิ้นปี 2022 ฯลฯ
หากจะไล่เรียงการปลดพนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ E-commerce ที่ดูจะเฟื่องฟูในช่วงโควิด และธุรกิจด้าน Crypto ที่อยู่ในขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็น 2 กลุ่มที่ปลดพนักงานออกมากที่สุด นี่เป็นสัญญาณของการชะลอตัวของธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัด
กลุ่มรองลงมาได้แก่ Proptech หรือกลุ่มเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ Fintech กลุ่มเทคโนโลยีด้านการเงิน และกลุ่ม Edtech กลุ่มเทคโนโลยีด้านการศึกษา
กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์โควิด ทำให้มีการเร่งขยายการเติบโตและรับพนักงาน แต่เมื่อผลประกอบการและภาวะเงินลงทุนไม่เป็นไปตามคาด จึงทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายอย่างเร่งด่วน
ข้อมูลจาก Crunchbase ระบุว่ากลุ่มบริษัทที่ปลดพนักงานมากที่สุดเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ ระดมทุนไปแล้วหลายรอบ แม้จะมีแผนระดมทุนอีกแต่ก็ต้องชะลอเพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด ทำให้มูลค่าของบริษัทลดลง สัญญาณนี้ทำให้บริษัทที่กำลังวางแผนระดมทุน ต้องหันกลับมามองแผนงานและเตรียมการหากการระดมทุนไม่เป็นไปตามที่คาด นั่นหมายถึงการเตรียมเงินทุนสำรองให้เพียงพอและปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บริษัทสามารถเลี้ยงตัวเองไปได้แม้ไม่มีเงินจากนักลงทุนมาเสริมสภาพคล่อง
แม้สถานการณ์การลงทุนจะไม่ดีนัก แต่ทุกวิกฤตมักมีโอกาสอยู่เสมอ โอกาสเป็นของบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดเล็ก ด้วยมูลค่าการลงทุนที่น้อยกว่าทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มุ่งที่จะลงทุนในบริษัทระยะเริ่มต้นที่ไม่ต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก และกระจายการลงทุนออกไปได้หลายบริษัทเพื่อบริหารความเสี่ยง
รวมถึงโอกาสในการจ้างงาน ที่มีโอกาสที่จะจ้างนักพัฒนาที่มีฝีมือเข้าไปร่วมงานด้วย เพราะนักพัฒนาจะหางานยากขึ้นและถูกปลดออกจากบริษัทขนาดใหญ่มากมาย การแข่งขันในการแย่งชิงตัวจะน้อยลง
นี่จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจขนาดเล็กจะได้เติบโต แต่ก็ต้องเป็นการเติบโตอย่างระมัดระวัง วางแผนอย่างดี ไม่ใช่ในทุกสถานการณ์ที่บริษัทขนาดใหญ่จะได้เปรียบ ในภาวะแบบนี้ บริษัทขนาดเล็กเคลื่อนที่เร็วใช้เงินทุนน้อยกว่าย่อมได้เปรียบ โอกาสมีไว้สำหรับคนที่พร้อม!
อรพิมพ์ เหลืองอ่อน Managing Partner/Venture Builder-Aimspire บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและบริหารนวัตกรรม
