ย้อน “เศรษฐกิจเวียดนาม” ประวัติศาสตร์แห่งความมั่งคั่งของประเทศที่เคยจนที่สุดในโลก
เวียดนาม นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ในปัจจุบันนี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ทางสำนักสถิติแห่งชาติเวียดนามรายงานว่าจีดีพีในครึ่งปีแรกนี้ เติบโตขึ้นสูงถึง 7.52% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นอะไรที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และมีความมั่งคั่งสูงในระดับที่มีอัตราคนจนในเวียดนามหลงเหลืออยู่ราว ๆ 4% แถมในปี 2023 ก็ยังมีจีดีพีสูงกว่ามาเลเซียเสียอีก แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังความมั่งคั่งของเวียดนามนั้น ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านสถานการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
แต่พวกเขาก้าวมาสู่ความมั่งคั่งแบบในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร? All About History ในสัปดาห์นี้จะขอพาย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเวียดนามตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตกาล จนถึงจุดที่ตกต่ำที่สุดก่อนที่จะกลับมาลืมตาอ้าปากได้ด้วยการยอมปรับตัวของภาครัฐกัน
-----

นโยบายเศรษฐกิจเวียดนามในนานาราชวงศ์
เวียดนามเป็นอีกหนึ่งดินแดนที่มีความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน และมีการรวมกลุ่มสร้างอาณาจักรที่มีลักษณะทางสังคมเป็นสังคมเกษตรกรรม การเกษตรจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ทั้งใช้บริโภคกันภายในและส่งออกขายไปแลกเปลี่ยนกับอาณาจักรอื่น
ชาวเวียดนามเองก็เป็นกลุ่มผู้พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรทำให้ระบบทางสังคมในยุคแรกไม่ได้แตกต่างกันนัก แต่แล้วในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ดินแดนเวียดนามก็เริ่มมีอิทธิพลจีนเข้ามาจากอาณาจักรเชื้อสายจีนอาณาจักรแรกอย่างหนานเยว่ หรือนามเวียต ที่ก่อนตั้งขึ้นมาโดยแม่ทัพนาม เจาถัว ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพของราชวงศ์ฉิน และรุกรานลงใต้ผนวกเอาพื้นที่ของชนชาวเวียดนามเดิมไป
พอเวียดนามตกอยู่ภายใต้ของหนานเยว่ได้ไม่นานนัก หนานเยว่ก็ถูกยึดครองโดยราชวงศ์ฮั่น ทำให้ทางตอนเหนือของเวียดนามมีวัฒนธรรมและการค้าขายในระบบเศรษฐกิจแบบจีนขึ้นมา จากเดิมที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ก็เริ่มมีการสร้างสรรค์งานฝีมือเพื่อค้าขาย เป็นงานสกุลช่างเวียดนามที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะที่เมืองฮานอย ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่พ่อค้าจากดินแดนอื่นหลั่งไหลดข้ามาอยู่เสมอ โดยสินค้าหลักในช่วงนี้ก็ได้แก่ไหม งา เงิน ทอง และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ดินแดนแห่งนี้เป็นอย่างมาก
ถึงแม้ว่าทางตอนเหนือของเวียดนามจะรับอิทธิพลจีนหลากหลายประการ แต่ถึงอย่างนั้นทางตอนกลางและตอนต้ พื้นที่ของเวียดนามเป็นที่ตั้งของหนึ่งในอาณาจักรสำคัญอย่างอาณาจักรจามปา และมีลักษณะทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล ที่ซึ่งเรือสินค้าอินเดียกับเรือสินค้าจีนจะมาพบกันในดินแดนจามปา
อีกทั้งในช่วงศตวรรษที่ 7-10 จามปามีอิทธิพลการค้าทางทะเลมากจากการควบคุมการค้าผ้าไหมและเครื่องเทศของอาณาจักรอื่นอีก 4 อาณาจักร คือ จีน อินเดีย อินโด และอับบาซิยะห์ ทั้งยังมีการส่งออกสินค้าของตนเองอย่างงาช้างและว่านหางจระเข้ด้วย ช่วงศตวรรษที่ 7-10 นี่จึงเป็นยุคทองของจามปา และความมั่งคั่งของเวียดนามตอนล่างไปโดยปริยาย
เวียดนามตอนเหนือมีประวัติการปลดแอกจากจีนบ่อยครั้ แต่ถึงอย่างนั้นอิทธิพลทางวัฒนธรรมก็ได้ฝังรากลึกลงไปในพื้นที่เสียแล้ว ทำให้รูปแบบเศรษฐกิจของเวียดนามเหนือในตอนที่เป็นรัฐอิสระนั้นก็ยังคงอิงรูปแบบเหมือนกับจีน มีการส่งออกทั้งผลผลิตทางการเกษตรและงานฝีมือเหมือนเดิมตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์เลเป็นต้นมา
ซึ่งในช่วงราชวงศ์เลนี้มีการพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร โดยปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เลก็ทรงมักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะและทรงลงมือทำนาด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นแบบอย่างในประชาชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำนา ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐ มีการขุดคลองเพิ่มมากขึ้นเพื่อการเกษ๋ตรและการคมนาคมขนส่งมากขึ้นด้วย
ต่อมาในสมัยราชวงศ์หลี ก็มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอีกประการหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือการออกนโยบายให้ประชาชนหันมาอุดหนุนงานฝีมือในประเทศกันมาขึ้นแทนการไปนำเข้างานฝีมือจากจีน ซึ่งทำให้พัฒนาการด้านศิลปกรรมและการช่างในยุคราชวงศ์หลีมีพัฒนาการสูง ตลอดจนมีการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซ้ำยังมีกฏหมายห้ามไม่ให้สังหารวัว-ควายซึ่งเป็นสัตว์สำคัญในการเกษตรด้วย นอกจากนี้ระบบการค้าในอาณาจักรก็ดำเนินไปอย่างสะดวกสะบาย มีสินค้าขายทั้งภายในและส่งออกทั้งสีย้อม ผ้า กระดาษ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
หลาย ๆ ราชวงศ์เวียดนามค่อนข้างมีความสนใจและให้ความสำคัญทางการค้ามากเป็นพิเศษ ทำให้เวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามตอนเหนือ มีสถานะทางการเงินของอาณาจักรที่มั่งคั่งและมั่นคงจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ เศรษฐกิจเวียดนามในยุคแรกเริ่มค่อนข้างเป้นไปในแนวทางของการส่งออกมากกว่าการนำเข้า และเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำการปรากฎตัวของชาวต่างประเทศทั้งในระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมของเวียดนามถึงมีการกล่าวถึงน้อยมาก
-----
อาณานิคมอินโดจีน
ในช่วงเหตุการณืความขัดแย้งในเวียนนามระหว่างจิ่ญกับเหงียน และเตยเซิน ก็นำมาซึ่งความตกต่ำทางเศรษฐกิจจากความไม่สงบสุขของบ้านเมือง ครั้นเมื่อสงครามภายในสงบลงจากการที่องเชียงสือได้รวมชาติเวียดนามและปราบดาขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียน เวียดนามก็ยังพบกับศึกภายนอกซึ่งเริ่มจากความขัดแย้งเหนือดินแดนกัมพูชากับสยามอันนำมาซึ่งสงครามอานามสยามยุทธ อีกทั้งหลังอานามสยามยุทธ เวียดนามก็พบกับศัตรูตัวฉกาจจากนอกทวีปอย่าง “ฝรั่งเศส”
ไต้เวียตขององเชียงสือหรือจักพรรดิซา ล็อง มีลักษณะเป็นรัฐเต๋า จึงมีความปิดประเทศเป็นอย่างมากและไม่รับสินค้าต่างชาติเข้ามา กว่า 95% ของผลผลิตในประเทศเป็นภาคเกษตรกรรม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีเพียงแค่เหมืองเล็ก ๆ กับงานฝีมือ และมีรายได้หลักจากการค้าขายส่งออกสินค้าโดยเฉพาะข้าวไปยังต่างประเทศ
ไต้เวียดภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนั้นค่อนข้างมีผลกระทบต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอยู่มาก โดยในส่วนของภาคการเกษตรนั้นมีที่ดินจำนวนไม่น้อยถูกขายหรือยกให้แก่ชาวฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสมีการผูกขาดผลผลิตทางการเกษตรจำนวนหนึ่ง ที่ซึ่งบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไร่กาแฟ และสวนยางพารา
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม เหมืองก็ได้รับการควบคุมโดยฝรั่งเศส ในขณะที่งานฝีมือก็เป็นอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ในครัวเรือนเท่านั้น เศรษฐกิจเวียดนามในยุคอาณานิคมจึงเน้นหนักไปที่การส่งออกผลผิตทางการเกษตร ซึ่งก็สร้างรายได้จำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ประสบกับภัยธรรมชาติมากขึ้นก็ตาม
-----
ก่อนวันไซง่อนแตก
หลังจากเมื่อครั้งการทัพอินโดจีนฝรั่งเศสครั้งที่สอง ประเทศในอินโดจีนก้ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ กระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม กลุ่มเวียตมินห์ก็อาศัยโอกาสขึ้นเถลิงอำนาจขึ้นมาในเหตุการณ์ปฏิวัติสิงหาคม อันนำมาสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์เหงียน ซึ่งเวียดมินห์ภายใต้การนำของลุงโฮ (โฮจิมินห์) ก็ได้ทำการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้นมา และร่วมรบในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ทำให้ฝรั่งเศสยอมแพ้และเกิดการแบ่งเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และเกิดสงครามเวียดนามขึ้นในภายหลัง
เวียดนามเหนือในช่วงเวลาก่อนกรุงไซง่อนแตกนั้นมีสภาพรัฐเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ และมีระบบที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของงานอุตสาหกรรม แต่ก็มีการสะดุดไปบ้างจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากระเบิดทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียดนามเหนือค่อนรข้างยากลำบาก และได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นอย่างโซเวียตและจีน
ในขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามใต้ค่อนข้างแตกต่างไปมาก โดยเป็นตลาดการค้าเสรี และทำการค้ากับประเทศเสรีนิยมอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสงครามที่ประชิดตัวทุกขณะ ทำให้ประชากรในเวียดนามใต้จำนวนไม่น้อยพากันหนีออกนอกประเทศ เมื่อประชากรน้อยลง เวียดนามใต้ก็อ่อนแอตามจนนำมาสู่วันที่กรุงไซง่อนถูกกองทัพเวียดกงตีแตกในที่สุด
-----
ความแร้นแค้นแห่งยุคอุดหนุน
ช่วงเวลาหลังการรวมชาติเวียดนาม ก็นับว่าเป็นยุคเสื่อมทางเศรษฐกิจที่แท้จริง เราเรียกยุคนี้ว่ายุคอุดหนุน หรือเถ่ยบาวเกิ๊บ ในยุคนี้นโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เป็นหลัก ตั้งแต่สิ้่งที่จะผลิต ผลิตเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ขายให้ใคร เป็นต้น ซึ่งสินค้าทั้งหมดจนถูกส่งเข้ามายังรัฐ แล้วรัฐจะตั้งร้านค้า โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยการนำเอา “คูปอง” ที่รัฐทำการปันส่วนไว้ให้แต่ละครัวเรือนมาแลก
ชาวเวียดนามมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอย่างมากในยุคอุดหนุน สินค้าอุปโภคบริโภคก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งรัฐเองก็ถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศในโลกเสรี ความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่เคยได้รับก็ไม่มีอีกต่อไป รัฐมีนโยบายอุดหนุนประชาชนแต่ไม่สามารถทำตามนโยบายนั้นได้เนื่องจากความขาดแคลน โดยในขณะที่สามารถผลิตข้าวได้ปีละ 14 ล้านตัน แต่มีประชากรที่ต้องเลี้ยงปากท้องเป็นจำนวนข้าวถึง 16 ล้านตัน ความไม่สมดุลนี้เองที่นำมาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากของชาวเวียดนาม
ความยากลำบากไม่ได้มีแค่จำนวนผลผลิตที่ไม่พอต่อประชาชนเท่านั้น เพราะแม้แต่ร้านค้าที่นำคูปองไปแลกก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ด้วย บางร้านที่จำกัดให้ขายแก่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมีสินค้าที่เพียงพอและราคาถูกเป็นพิเศษ ในขณะที่ร้านค้าของชาวนาทั่ว ๆ ไปสินค้ากลับไม่พอทำให้เกิดการแย่งชิงสินค้ากัน
รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าวเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนโดยรัฐ ตามอย่างสังคมนิยมโดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะนำพาให้เวียดนามไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งได้ แต่น่าเสียดายที่พวกเขาคิดผิด และนำมาซึ่งความลำบากยากเข็ญของประชาชนเวียดนามเสียเอง
-----
มหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนโดยรัฐถูกดำเนินการเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่า 30 ปี กระทั่งในช่วงปี 1986 รัฐบาลจึงเลือกที่จะ “เปลี่ยน” แนวคิดทางเศรษฐกิจของพวกเขาเสียใหม่ กลไกตลาดได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในเวียดนาม รัฐเลิกที่จะกำหนดราคาสินค้าและปล่อยให้ตลาดทำงานไปด้วยตัวของมันเอง เริ่มมีการให้เอกชนมีสิทธิ์ในทรัพย์สิน เกิดธุรกิจภาคเอกชนขึ้นมาบ้าง
เมื่อเศรษฐกิจภายในเริ่มฟื้นฟูทีละเล็กทีละน้อย เวียดนามก็ได้ทำการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งโดยการเปิดประเทศในปี 1990 เริ่มมีการลงทุนในต่างประเทศที่นอกเหนือจากการลงทุนของภาครัฐและบูรณาการตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่จนสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งยังได้เข้าร่วมเป้นสมาชิกองค์การการค้าโลก
เวียดนามที่เคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เข้มข้นจนถูกนานาประเทศคว่ำบาตรก็เริ่มได้รับการยอมรับ และเกิดการค้าระหว่างประเทศขึ้นมากับประเทศโลกเสรีซึ่งมีพัฒนาการสำคัญต่อเศรษฐกิจของเวียดนามได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีเท่านั้นเอง โดยมีข้อมูลระบุว่าเวียดนามมีรายได้ต่อหัวประชาชนหลังจากเปิดประเทศเป็นต้นมาพุ่งถึง 4,346 ดอลลาร์ จากที่ในอดีตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงแค่ 98 ดอลลาร์เท่านั้นเอง
-----
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนามในยุคใหม่นั้นนับว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนจากประเทศที่เคยยากจนเป็นอันดับต้น ๆ ให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ได้ในระยะเวลาอันสั้น
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากว่าภาครัฐไม่ยินยอมและกล้าที่จะปลี่ยนแปลงความคิดเดิม ๆ และรับเอาความเป็นสากลที่ทั่วโลกใช้เข้ามา เวียดนามจึงมีวันนี้ได้ก็เพราะความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนี่เอง และที่สำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงนี้เป้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยตัวของเวียดนามเองและแทบจะไม่มีมืออื่นยื่นเข้ามาช่วยเหลือเลยด้วย
ซึ่งจากการคาดการณ์ของสำนักต่าง ๆ ก็คาดการณ์กันว่าในอีกไม่นานเวียดนามคงจะกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในระดับภูมิภาค แต่อาจจะไปถึงระดับโลกได้เลยทีเดียว…
-----
เรื่อง : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
ที่มาเนื้อหาจาก.. Bnomics by Bangkok Bank