‘สี จิ้นผิง’ตกที่นั่งลำบาก ถ้าทรัมป์ดีลกับปูตินได้
By กนกวรรณ เกิดผลานันท์
- เจ้าหน้าที่สหรัฐและรัสเซียเริ่มเจรจาในซาอุดิอาระเบียแล้ว
- วอชิงตันอาจหันมาสนใจจีนมากขึ้นหากสงครามในยูเครนยุติลง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน เจ้าหน้าที่สหรัฐและรัสเซียเริ่มเจรจากันซาอุดีอาระเบีย หารือยุติสงครามของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานถึงสามปี ทำให้ยุโรปและยูเครนวิตกมากว่าจะกลายเป็นการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐยื่นชัยชนะให้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียหรือไม่
จีนแสดงออกต่อสาธารณะว่ายินดีกับการพูดคุย และวางสถานะตนเองว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูบูรณะยูเครน รวมถึงได้ประโยชน์จากรอยร้าวระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรยุโรปไม่ว่าจะเป็นเรื่องนาโต, ความหมายของประชาธิปไตย และระเบียบโลกบนพื้นฐานของกฎหมาย
แต่ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งสำหรับรัฐบาลปักกิ่งคือไม่รู้ว่าทรัมป์มีแผนจะทำอะไรต่อไป หากพิจารณาความเห็นจากคนใกล้ชิดทรัมป์เช่น พีต เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโต บ่งชี้ว่า สหรัฐต้องการทุ่มเททรัพยากรทางทหารเพื่อรับมือจีน
“ปักกิ่งกำลังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งจนไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้ พวกเขาต้องการให้สงครามหยุดหรืออย่างน้อยก็ระงับไป แต่ก็ไม่ต้องการขึ้นมาเป็นปัญหาอันดับหนึ่งให้กับรัฐบาลวอชิงตัน” จอห์น กง อาจารย์มหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง กล่าวกับบลูมเบิร์ก
ที่ผ่านมาจีนพยายามหลีกเลี่ยงไม่กระทำการยั่วยุทรัมป์ ถูกทรัมป์เก็บภาษี 10% ก็ตอบโต้เพียงเล็กน้อย และไม่ใช้ “การทูตนักรบหมาป่า” อันแข็งกร้าวอย่างที่เคยใช้ในสมัยทรัมป์วาระแรก สีหันไปเน้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ยื้ดเยื้อ, เงินฝืดต่อเนื่อง และการบริโภคซบเซา
สัปดาห์นี้ผู้นำจีนพบแจ็ค หม่า จากอาลีบาบาปิดฉากการใช้กฎระเบียบเล่นงานภาคเทคโนโลยี และกระตุ้นจิตวิญญาณฮึกเหิมของภาคธุรกิจ ในช่วงที่ปักกิ่งเตรียมเปิดเผยเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในเดือนหน้า
ทรัมป์เองก็ก้าวร้าวกับจีนน้อยลง เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธ (19 ก.พ.) ว่า การทำข้อตกลงการค้ากับจีนนั้น “เป็นไปได้” ทั้งยังอวดอีกครั้งถึง “ความสัมพันธ์ที่ดีมาก” กับสี แต่คนในรัฐบาลของทรัมป์กลับเต็มไปด้วยผู้ที่แข็งกร้าวกับจีน เช่น เจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) และมาร์โก รูบิโอ ผู้ลั่นวาจาจะรับมือ การกระทำบ่อนทำลายเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ของปักกิ่ง
จีนนั้นมักอ่อนไหวหากการกระทำของตนในอินโดแปซิฟิกถูกจับตาก่อนหน้านี้ปักกิ่งเคยกล่าวหาสหรัฐพยายามสร้างนาโตเวอร์ชันแปซิฟิก เมื่อรัฐบาลไบเดนกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต้องการแสดงศักยภาพทางทหารทั่วเอเชียแปซิฟิก สัปดาห์นี้กองทัพเรือจีนส่งเรือรบสามลำแล่นในน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งซิดนีย์ ที่รัฐมนตรีกลาโหมมองว่า “ผิดปกติ”
ทรัมป์แข็งกร้าวในเอเชียมากขึ้น
ขณะเดียวกันเครื่องบ่งชี้ว่าทีมทรัมป์อาจพร้อมใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในเอเชียแล้วก็ได้ เห็นได้จากในเดือนนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐลบวลีที่ว่า “สหรัฐไม่สนับสนุนการประกาศ เอกราชไต้หวัน” ออกจากเว็บไปแล้ว วลีนี้เป็นสิ่งที่ปักกิ่งเรียกร้องตลอดมากับทุกชาติที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
ไม่ทราบแน่ชัดว่าสหรัฐจงใจลบออกและยังรักษาจุดยืน “นโยบายจีนเดียว” ที่ใช้มานานหรือไม่
ไต้หวันเองก็กำลังจับตาพัฒนาการล่าสุดอย่างใกล้ชิด เมื่อทรัมป์เตือนประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีว่า ถ้ายูเครนไม่รีบตกลงกับรัสเซียโดยเร็ว “เขาก็จะไม่มีประเทศหลงเหลือ”
ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลของทรัมป์ยังส่งสัญญาณเจรจาผ่อนคลายคว่ำบาตรรัสเซียด้วย
นักการทูตไต้หวันรายหนึ่งเผยว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐจะดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับไต้หวันคือต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไต้หวันมีคุณค่าสำหรับทรัมป์
จุดพลิกผันสำหรับไทเปและปักกิ่งคือ นโยบายส่วนตัวของทรัมป์อาจแตกต่างไปจาก ครม.ของเขาได้ ตอนหาเสียงทรัมป์ต้องการให้ไต้หวันจ่ายเงินให้สหรัฐเพื่อดูแลความมั่นคง และเคลือบแคลงที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะปกป้องไต้หวันจากจีน
แม้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสีมีแผนบุกไต้หวันเร็วๆ นี้ แต่ท่าทีที่อ่อนลงจากสหรัฐ ผู้สนับสนุนทางทหารรายใหญ่สุดของไทเปอาจเสี่ยงทำให้ไทเปถูกกดดันจากปักกิ่งมากขึ้น
บทบาทจีนในกองกำลังรักษาสันติภาพ
อีกหนึ่งฉากทัศน์ที่อาจได้เห็นจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงยูเครนภายใต้การนำของทรัมป์คือ ผู้นำสหรัฐคุยโวถึงความเป็นไปได้ของการประชุมสามฝ่ายกับปูตินและสีจิ้นผิงพร้อมแนะนำให้พวกเขาลดค่าใช้จ่ายกลาโหมลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งปักกิ่งปฏิเสธแนวคิดนี้ทันที
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจีนจะให้อะไรยูเครน พีต เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐเคยบอกว่า สหรัฐจะไม่ส่งทหารไปยูเครน และ “การรับรองความมั่นคงใดๆ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทหารยุโรปและนอกยุโรป” นั่นเปิดทางให้มีกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติซึ่งรวมถึงทหารจีน แต่ก็ยังไม่อาจตัดประเด็นจีนส่งทหารเข้าไปโดยตรงออกไปได้
โจวป๋อ อดีตนายพลกองทัพปลดแอกประชาชนจีน และนักวิจัยอาวุโสศูนย์ความมั่นคงระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่า ปักกิ่งอาจมี “บทบาทนำ” ในกองกำลังรักษาสันติภาพของกลุ่มโลกใต้และประเทศนอกนาโต
“การเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของยุโรปครั้งแรกของจีน จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และหนุนจุดยืนจีนในสายตานานาชาติ” นักวิจัยกล่าว
ในการแถลงข่าวตามปกติ กระทรวงต่างประเทศไม่ได้ให้ความเห็นว่า ปักกิ่งจะเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพหรือไม่
นอกจากนี้หยูจี้ นักวิจัยอาวุโสด้านจีนจากชาตัมเฮาส์ มองว่า การยุติความเป็นปรปักษ์ในยูเครน ยังเปิด “โอกาสที่หาได้ยาก” ให้ปักกิ่งได้แก้ไขความสัมพันธ์ที่เสียหายกับยุโรป
ทั้งนี้ ปักกิ่งอาจให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูบูรณะยูเครน โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์มากมายของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศภายใต้โครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
จีนเองก็ส่งสัญญาว่าประสงค์จะทำเช่นนั้นในเอกสารจุดยืนจีนเมื่อปี 2023 ที่ระบุว่า“จีนพร้อมให้ความช่วยเหลือและมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในความพยายามนี้”
ทรัมป์อยู่ 4 ปี ปูตินอยู่ยาว
อย่างไรก็ตาม การใช้ทั้งเงินและทหารในกระบวนการสันติภาพยูเครน อาจทำให้ความสัมพันธ์ “ไร้ขีดจำกัด” ของสีกับปูตินยุ่งยากขึ้น หากมอสโกเปิดฉากรุกรานอีก แต่ก็มีสัญญาณเพียงเล็กน้อยว่า พัฒนาการระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอาจสร้างรอยร้าวให้กับสีและปูติน เมื่อสีกำลังวางแผนเยือนมอสโกในเดือน พ.ค.นี้
อเล็กซานเดอร์ กาบูเยฟ ผู้อำนวยการศูนย์ยูเรเซียรัสเซียของคาร์เนกี มองว่า หากต้องเผชิญหน้ากับผู้นำสหรัฐที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างทรัมป์ จีนมีแนวโน้มที่จะเล่นเกมระยะยาวมากกว่า หากไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ ปูตินสามารถอยู่ในทำเนียบเครมลินได้อย่างน้อยจนถึงปี 2036 ซึ่งอาจจะนานกว่าทรัมป์มาก
“ทำไมคุณต้องสังเวยความสัมพันธ์กับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่จะอยู่กับคุณนานเท่านาน ให้กับคนที่เปลี่ยนใจตลอดเวลาและไม่น่าไว้วางใจ” นักวิชาการรายนี้ตั้งคำถามทิ้งท้าย
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/world/1167947