ผู้ถือหุ้นใหญ่แห่ขายหุ้นชิงจังหวะดัชนีเด้งแรง 1-19 ส.ค. เทขายหุ้นแล้วกว่า 20 รายการ จาก 14 บจ. โบรกฯ รับมีบางรายยอมตัดขายหุ้นทำกำไร บางส่วนต้องการเพิ่มฟรีโฟลต ผู้ถือหุ้น "MTLS" ขายบิ๊กลอตโกยเงิน 1,300 ล้าน เปิดทางนักลงทุนสถาบันถือหุ้นเสริมแกร่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ในช่วงนับตั้งแต่วันที่ 1-19 ส.ค.ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายรายได้ทำรายการจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (ขายหุ้นออก) แล้วกว่า 20 รายการ จาก 14 บจ. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การขายหุ้นออกของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงไม่ถึง 1 เดือนจำนวนมากนั้น เป็นช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไทยขาขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1,552.64 จุด (11 ส.ค. 59) ซึ่งทำนิวไฮในรอบปีนี้ และโบรกเกอร์คาดว่าภายในช่วงเดือน ส.ค. จะมีปริมาณซื้อขายหุ้น (วอลุ่ม) เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดของปีนี้เช่นกัน
โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ขายหุ้นออกมาในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2559 ได้แก่ นายบี เตชะอุบล ขายหุ้น บมจ.อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ (EIC) 2 รายการ จำนวนรวม 47.5 ล้านหุ้น ราคาขายเฉลี่ย 1.01-1.09 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 50.24 ล้านบาท หรือนายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) ที่ขายหุ้นในเดือน ส.ค. 2 รายการ จำนวน 200 ล้านหุ้น ราคาขายเฉลี่ย 0.21 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 42 ล้านบาท หลังจากเมื่อปี 2557 ผู้ถือหุ้นใหญ่รายนี้ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ MAX ที่เสนอขายให้บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 12,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.05 บาท และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ได้ทยอยขายหุ้น 4 ครั้ง จำนวนประมาณ 430 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน (19 ส.ค. 59) มีแบบรายงานการจำหน่ายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแล้ว 184 รายการ จำนวน 136 บริษัท
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปล่อยหุ้นออกมาของผู้ถือหุ้นใหญ่มีหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบัน มักขายหุ้นออกมาให้แก่พันธมิตรหรือผู้ร่วมทุน
อย่างไรก็ตาม ประเมินการขายหุ้นออกมาของผู้ถือหุ้นใหญ่มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) เป็นเรื่องของเทรนด์ธุรกิจ 2) ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการปล่อยหุ้นออกทั้งหมด และ 3) ผู้ถือหุ้นต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อช่วยหนุนธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น เช่น เปิดทางให้มีฟรีโฟลต (การกระจายหุ้นให้รายย่อย) เพิ่มขึ้น และต้องยอมรับว่า อาจมีผู้ถือหุ้นใหญ่บางส่วนที่ตัดขายหุ้นตัวเองออกมาเพื่อขายทำกำไร ซึ่งเหตุผลข้อหลังนี้ถือว่าเป็นกลุ่มน้อย และไม่ควรเหมารวมทั้งหมด
"ยุคนี้ พฤติกรรมผู้ถือหุ้นใหญ่เริ่มเปลี่ยนไป จากแต่ก่อนมักต้องการถือหุ้นในสัดส่วนมาก ๆ เพื่อครองอำนาจบริหาร แต่ปัจจุบันเริ่มเปิดทางให้กองทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ เข้ามา และยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นเมื่อสามารถขายได้ราคาที่ดีก็ถือว่า วินวิน ทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่" นายมงคลกล่าว
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) หนึ่งใน บจ.ที่มีการทำรายการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ กล่าวว่า การขายหุ้นบิ๊กลอตของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจำนวน 72.44 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 1,303.98 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้กับนักลงทุนสถาบันและกลุ่มธุรกิจประกัน ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรถือหุ้นในสัดส่วน 3% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วนั้น เป็นการขายหุ้นที่มีวัตถุประสงค์ขยายฐานผู้ลงทุนกลุ่มสถาบันและเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น
"สิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นคงต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นเพราะเป็นกองทุนที่มองเห็นศักยภาพการเติบโตของบริษัทและมีนโยบายถือหุ้นระยะยาว"นายชูชาติกล่าว
ขณะที่บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) แจ้ง ตลท. เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ขายหุ้นสามัญของ CMO จำนวน 38,319,400 หุ้น หรือ 14.99% ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 2.39 บาท หรือรวมเป็น 90.43 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ซึ่งมีผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง โดยนายเสริมคุณมีหุ้นสัดส่วน 28.86% จากเคยมีสัดส่วน 43.86% ส่วนนายอุปถัมป์จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 14.99% จากเดิมไม่มีหุ้นอยู่