KBANK คาด กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ในช่วง Q4/65

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) วันที่ 8 มิ.ย.65 ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
.
อย่างไรก็ดี กนง. คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า ซึ่งยังมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/65 เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว ในขณะที่ต้องเผชิญปัจจัยกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้กนง.มีแนวโน้มที่จะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และพิจารณาคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้
.
แม้ว่ากนง. จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่กนง. จะต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ ท่ามกลางเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
.
อย่างไรก็ดี หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด และหากแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังไม่ทุเลาลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กนง. ก็อาจจะพิจาณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้มีความเหมาะสมได้ โดยอาจจะดำเนินการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จำนวน 1-2 ครั้งในช่วงปลายปี โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทั้งนี้ หากกนง. ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้กนง. อาจจำเป็นต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมากขึ้นในระยะข้างหน้า
.
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00% ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวของเฟดและเงินเฟ้อไทยที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กนง. อาจให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลงได้ อย่างไรก็ดี คาดว่ากนง. อาจยังไม่รีบส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้และเลือกที่จะพิจารณาตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นรอบๆ การประชุมไป
