: พิชัย เพิ่มข้อเสนอเปิดตลาดลดภาษี 0% ให้สินค้าสหรัฐฯ เฉียด 90% ของมูลค่าส่งออกมาไทย จับตา ‘รถยนต์’ โดนด้วย
.
พิชัย รมว.คลัง เพิ่มข้อเสนอเปิดตลาด 0% หรืออัตราใกล้เคียงให้กับสหรัฐฯ ในระดับเกือบ 90% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย ตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ เช่น ลำไย ปลานิล และรถยนต์ ยืนยันไม่กระทบตลาดในประเทศ เตรียมลุยแก้ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์ พร้อมอัดซอฟต์โลนวงเงิน 2 แสนล้านบาท เยียวยากลุ่ม SME-ภาคเกษตร
.

วันนี้ (14 กรกฎาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ‘The Art of (Re) Deal’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ โดยระบุว่า ไทยพยายามทำข้อเสนอเปิดตลาดให้สหรัฐฯ โดยได้เสนอยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เข้าประเทศไทย และอัตราภาษีใกล้ๆ 0% คิดเป็นระดับเกือบ 90% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย
.
พิชัยยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ไทยคิดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราใกล้ๆ 0% คิดเป็น 63-64% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย แต่ในการส่งข้อเสนอไปในรอบที่ 1 ไทยได้พยายามเพิ่มข้อเสนอให้สหรัฐฯ คิดเป็น 69%
.
กระนั้น หลังจากการที่ได้พูดคุยกัน จึงพบว่า แม้สินค้าบางชนิดสหรัฐฯ ไม่เคยขายให้ประเทศไทย แต่ก็อยากให้ไทยเปิดตลาดให้ เช่น ลำไย ปลานิล และรถยนต์ ดังนั้น ทีมไทยแลนด์จึงยินดีเปิดตลาดให้ เพื่อเพิ่ม Market Access ให้สูงขึ้น โดยล่าสุด ไทยได้พยายามทำข้อเสนออัตราภาษีใกล้ๆ 0% คิดเป็นระดับเกือบ 90% แล้ว
.
อย่างไรก็ดี พิชัยยืนยันว่า รายการสินค้าที่ไทยเตรียมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มจะไม่กระทบกับตลาดภายในประเทศ เนื่องจากประเมินแล้วว่า สินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ แข่งขันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ปลานิลของสหรัฐฯ ที่มีราคาแพงกว่าปลานิลไทย รวมถึงรถยนต์พวงมาลัยซ้าย
.
“ไทยเป็นประเทศที่ผลิตยานยนต์เยอะ แต่รถยนต์สหรัฐฯ ไม่น่าจะเข้ามาแข่งขันได้ เนื่องจากเป็นรถยนต์พวงมาลัยซ้าย” พิชัยกล่าว
.
พิชัยยังอธิบายว่า ในการเจรจาภาษีกับทางสหรัฐฯ ไทยจำเป็นต้องทราบความต้องการของสหรัฐฯ เสียก่อน จึงจะสามารถหาข้อตกลงการค้าได้
.
โดยพิชัยชี้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล รวมถึงปัญหาขาดดุลการค้าอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มรายรับภาครัฐ ผ่านการลดการขาดดุลทางการค้า ทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดอื่นๆ มากขึ้น (Market Access) รวมถึงกำจัดมาตรการกีดกันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)
.
ยึดหลักเจรจาอย่างสมดุล รักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
.
พิชัยย้ำว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ข้อแรก คือ ยึดการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านการเปิดตลาดให้กว้างขึ้น โดยนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ อยากขาย และไทยอยากซื้อ แต่ต้องไม่กระทบกับ FTA ที่ประเทศอื่นๆ ทำร่วมกับไทย
.
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อสองคือ ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐต้องการกลับมาเป็นประเทศผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นในหมวดหมู่สินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งเดิมทีไทยนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่สหรัฐมีปริมาณน้ำมันสำรองค่อนข้างสูง และมีราคาพลังงานต่ำมาก เพียง 2-3 ดอลลาร์ต่อบีทียู ขณะที่ราคาตลาดโลกสูงประมาณ 11 ดอลลาร์ต่อบีทียู
.
ย้ำเปิดตลาด 0% ไม่กระทบ
.
พิชัยกล่าวว่า การลดภาษีสินค้าเหลือ 0% ไม่เป็นปัญหาใดๆ เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการตกลงทำ FTA ระหว่างกันมายาวนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมเจรจาของไทยก็ไม่ได้เปิดตลาดให้กับสินค้าไปเสียทุกรายการ แต่มีหลักเกณฑ์ให้ยึด 2 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นสินค้าที่ไทยผลิตไม่ได้ หรือต้องนำเข้าอยู่แล้ว 2. การผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าเพิ่ม
.
ลุยรับมือปัญหาสวมสิทธิ์
.
ทั้งนี้ พิชัยแสดงความกังวลต่อปัญหาสินค้าสวมถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ต้องการให้แก้ไขเช่นกัน โดยสังเกตได้จากกรณีของเวียดนามที่มีการแยกอัตราภาษีสำหรับสินค้าเวียดนาม และสินค้าส่งผ่าน (Transhipment)
.
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสินค้าส่งผ่านมีนิยามว่าอย่างไร หรือต้องมีสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นเท่าไร โดยพิชัยคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับสูงที่ 60-80% ขณะที่ไทยกำหนดไว้เพียง 40% เท่านั้น ซึ่งพิชัยมองว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม เพราะเวียดนามมีอัตราการใช้วัตถุดิบจากประเทศที่สามมากกว่า
.
เตรียมซอฟต์โลนวงเงิน 2 แสนล้าน เยียวยากลุ่ม SME-ภาคเกษตร
.
พิชัยกล่าวว่าภาครัฐได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้ 2 แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรกคือการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบของมาตรการภาษีในแต่ละภาคส่วนอุตสาหกรรม
.
ส่วนแนวทางที่ 2 คือการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟต์โลนวงเงินราว 2 แสนล้านบาท ภายใต้อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง การลงทุนเปลี่ยนผ่าน การจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง โดยวงเงินจะมาจากธนาคารออมสินเป็นหลัก แต่สัดส่วนที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับฝั่งสหรัฐฯ ว่าจะกำหนดอัตราภาษีกับไทยอย่างไร
.
ชี้วิกฤตภาษีเป็นโอกาสให้ไทยต้องปรับตัว
.
พิชัยกล่าวว่า หากไทยไม่เจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ไทยคงยังไม่มีการปรับตัว และมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำต่อไป ซึ่งไทยจำเป็นต้องบริหารและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น แทนการพึ่งพาภาคการส่งออกอย่างที่เคยเป็นมา
.
นอกจากนี้ พิชัยยังกล่าวอีกด้วยว่า ไทยมีเหตุให้การเจรจาอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ ล่าช้าออกไป ขณะที่ภาครัฐมีความต้องการให้การเจรจาเกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ไทยได้มีตัวแทนต่างๆ และทูตการค้าที่ประจำการในสหรัฐฯ อยู่แล้ว เพื่อเก็บรายละเอียดไว้ประกอบการพิจารณามาโดยตลอด คาดว่าอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับเวียดนามจะเป็นอัตราอ้างอิงให้กับหลายประเทศ
.
เนื้อหาที่มาจาก… THE STANDARD WEALTH