ธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายคงที่สูง ไม่ใช่ธุรกิจที่แย่เสมอไป - BillionMoney

เวลาประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะใช้ “กำไรสุทธิ” ในการประเมินมูลค่าบริษัท
ซึ่งคำนวณโดยนำรายได้ไปหักลบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โดยค่าใช้จ่าย จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
- ค่าใช้จ่ายแบบคงที่ เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าเครื่องจักร
- ค่าใช้จ่ายแบบผันแปร เช่น ต้นทุนวัตถุดิบการผลิต หรือต้นทุนสินค้าที่นำมาขายต่อ
เป็นที่รู้กันดีว่า ค่าใช้จ่ายคงที่ จะคงที่สมชื่อ คือไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้มากเท่าไร ตรงกันข้ามกับค่าใช้จ่ายผันแปร ที่จะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องไปกับยอดขายของบริษัท
เราจึงต่างพากันมองหาธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายคงที่ไม่สูง เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มั่นคง และก็น่าจะสร้างกำไรได้ดีกว่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าเครื่องจักรสูงนั้น ก็อาจไม่ได้เป็นธุรกิจที่เลวร้ายอะไร
แล้วทำไมถึงบอกแบบนั้น ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
หากถามว่าธุรกิจ ที่มีค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้สูง มีอะไรบ้าง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย ก็เช่น “ธุรกิจสายการบิน”
ธุรกิจเหล่านี้ มีความเสี่ยงตรงที่ หากเจอเข้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รายได้หายไปมาก ก็อาจจะพลิกจากที่เคยทำกำไร เป็นขาดทุนได้เลย แถมยังหาวิธีลดต้นทุนคงที่ลงได้ยาก
ตัวอย่างก็คือ สายการบินในช่วงที่เกิดโรคระบาด ที่ให้บริการไม่ได้ แต่ยังคงต้องซ่อมบำรุงเครื่องบิน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายประจำ
อีกตัวอย่างชัด ๆ ก็คือ ผู้ให้บริการสัญญาณ ที่ต้องจ่ายค่าเสาสัญญาณ ศูนย์ข้อมูล เป็นประจำ ไม่ว่าลูกค้าจะใช้ข้อมูลมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม
หมายความว่ากลุ่มธุรกิจประเภทที่มีค่าใช้จ่ายคงที่สูง เวลาเจอเข้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน “กำไร” ของบริษัทจะปรับตัวลงแรง เพราะลดต้นทุนไม่ได้มาก
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
- ธุรกิจสายการบิน A มีรายได้ 100 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าบำรุงรักษา 60 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายผันแปร 20 ล้านบาท
- กำไร 20 ล้านบาท
หากรายได้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 50 ล้านบาท และหากลดต้นทุนคงที่ไม่ได้ ก็หมายความว่าบริษัทจะขาดทุนเลยทันที
ในขณะเดียวกัน หากเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว เวลากลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติ กำไรก็จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกัน
ในแง่ของการประเมินมูลค่าหุ้นก็เช่นเดียวกัน
เมื่อบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายคงที่สูงขาดทุน นักลงทุนจะประเมินมูลค่าธุรกิจเหล่านี้ต่ำ เพราะมีความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง และผลขาดทุนจะกัดกินส่วนของผู้ถือหุ้น
แต่หากเรามองออกว่า การขาดทุนเป็นเรื่องชั่วคราว การที่เราเข้าไปลงทุนในกิจการเหล่านี้ในช่วงที่กำลังย่ำแย่ ราคาหุ้นร่วงลงไปมาก แต่กิจการมีโอกาสที่จะฟื้นตัว
กรณีแบบนี้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนเหมือนกัน
ส่วนใหญ่แล้ว นักลงทุนที่ไม่ได้ศึกษารายละเอียด เช่น โครงสร้างค่าใช้จ่ายคงที่แบบในบทความนี้ แล้วมองเพียงว่าธุรกิจขาดทุนอยู่ ก็จะตีความว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ดี และอาจประเมินมูลค่าบริษัทผิดไป
แต่สำหรับนักลงทุน ที่รู้และเข้าใจตัวกิจการเป็นอย่างดี ก็ไม่ต่างอะไรไปจากโอกาสทอง ที่จะทำให้เราได้หุ้นดีในราคาที่ถูก แม้ว่าตัวกิจการจะมีค่าใช้จ่ายคงที่มากขนาดไหนก็ตาม..
References
- https://www.prosoftwinspeed.com/Article/Detail/138661/การวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุน
- https://www.investerest.co/.../degree-of-operating-leverage/
- https://www.accountingtools.com/articles/operating-leverage