ห้องเม่าปีกเหล็ก

แบงก์แตะเบรกฯผว่าหนี้เสีย SME

โดย poomai
เผยแพร่ :
48 views

หนี้เสียธุรกิจเอสเอ็มอีพุ่งต่อ แบงก์ผวาแตะเบรกปล่อยกู้

 

หนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่งต่อเนื่องไม่หยุด ผลพวงเศรษฐกิจชะลอ-กำลังซื้อร่วง-รายย่อยเจอดิสรัปต์ “TMB Analytics” ชี้แบงก์ติดกับดัก “หนี้เสีย”ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายใหม่ เน้นปล่อยกู้ลูกค้าเก่า ฟาก บสย.โอดดึงยอดค้ำประกันสินเชื่ออืด “ออมสิน” หนุนรัฐบาลใหม่กระตุ้นฐานรากปลุกกำลังซื้อหนุนเอสเอ็มอีขายสินค้าได้

 

สินเชื่อเอสเอ็มอีไม่โต

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 นี้ การปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์มีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยไตรมาสแรกเติบโตแค่ 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโต 7.4% โดยแบงก์ยังเน้นปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าเดิมเป็นหลัก ไม่กล้าปล่อยลูกค้าใหม่มากนัก

สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีชะลอตัวค่อนข้างมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาสแรกปีนี้ยังอยู่ระดับสูงที่ 4.6% คิดเป็นมูลค่า 240,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 4.46% ซึ่งเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 60% ของเอ็นพีแอลรวมทั้งระบบราว 395,000 ล้านบาท หรือ 2.94% ของสินเชื่อ

ติดกับดัก “เอ็นพีแอล”

“NPL ที่สูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเยอะ ก็ต้องตั้งสำรองสูง ดังนั้นถึงมีซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน) ก็ไม่มีใครกล้าปล่อยลูกค้าใหม่ ก็จะเน้นปล่อยแต่ลูกค้าเดิม เพราะแบงก์จะระวังการปล่อยกู้ ไม่อยากตั้งสำรองเพิ่ม แถมยังต้องสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ด้วย จึงตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ต่ำ ทำให้หาลูกค้าใหม่น้อยลง” นายนริศกล่าวและว่า

แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอียังเป็น NPL เพิ่มขึ้น เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัด รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีไทย หลายธุรกิจที่อาจจะถึงทางตันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกดิสรัปต์จากอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมี NPL สูง เช่น ค้าส่งค้าปลีก การผลิตที่ขึ้นกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือราคาสินค้าเกษตร หรือธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่ถูกรายใหญ่ดิสรัปต์ เปิดไฮเปอร์มาร์ตกันเต็มไปหมด เป็นต้น

นายนริศกล่าวว่า หากดูสัดส่วน NPL ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4.6% ก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีก โดย TMB Analytics คาดว่าถึงสิ้นปี 2562 NPL กลุ่มเอสเอ็มอีจะขึ้นไปแตะ 4.7% ด้วยมูลค่า 257,654 ล้านบาท

 

“การที่สัดส่วน NPL เอสเอ็มอีสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินเชื่อเอสเอ็มอีโตช้า ดูแล้วสถานการณ์ NPL เอสเอ็มอียังไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่กว่าปัจจุบันมากนัก อย่างไรก็ดี หากเอสเอ็มอีไปไม่ได้ กำลังซื้อภาคครัวเรือนก็จะแย่ตามไปด้วย เพราะเอสเอ็มอีมีการจ้างงานถึง 22 ล้านคน” นายนริศกล่าว

หนุนรัฐอัดยาช่วยเอสเอ็มอี

ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวอีกว่า ภาครัฐควรจะมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด เพื่อให้เกิดการใช้สิทธิประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมักจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สิทธิประโยชน์ให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องจักรมือสองมาหักภาษีได้ แต่แทบไม่มีเอสเอ็มอีใช้สิทธิดังกล่าว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อตก และความไม่ชัดเจนทางการเมือง ทำให้เอสเอ็มอีไม่กล้าลงทุนซื้อเครื่องจักร หากจะให้สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีดีขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นยาแรงมากระตุ้น ซึ่งก็อาจทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีโตมากขึ้นได้ แต่หากไม่มียาแรง ครึ่งปีหลังสินเชื่อเอสเอ็มอีก็คงทรงตัว เพราะการปล่อยสินเชื่อต้องอาศัยเวลา ต้องมีการลงทุนเพิ่มก่อนจึงจะใช้สินเชื่อเพิ่ม

“ตอนนี้เอสเอ็มอีต้องการกำลังซื้อ แต่จะไปหวังให้ภาคครัวเรือนมาซื้อสินค้าคงลำบาก ต้องผลักดันให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่มาซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีจะช่วยได้มากกว่า คือ ต้องให้อุตสาหกรรมโตแบบซัพพลายเชน คือ รายใหญ่โตแล้วพารายเล็กโตไปด้วย ซึ่งภาครัฐอาจจะจูงใจด้วยการให้รายใหญ่ที่ซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีสามารถหักภาษีได้มากกว่าการที่รายใหญ่ซื้อจากรายใหญ่ด้วยกัน” นายนริศกล่าว

แบงก์เข้มปล่อยกู้เอสเอ็มอี

นายพชรพจน์ นันทรามาส ผู้อำนวยการอาวุโส สายงาน global business development and strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ ทั้งทำให้ความจำเป็นในการขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกน้อยลง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็เพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่

“เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ยังไม่มีประวัติ หรือสินทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ เข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก” นายพชรพจน์กล่าว

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารยังใช้เกณฑ์เดิม ไม่ว่าลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ หากเข้าเกณฑ์ธนาคารก็ปล่อยได้ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ ส่วนที่ว่าธนาคารพาณิชย์เน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเก่า ก็เพราะธนาคารส่วนใหญ่มีข้อมูลรายละเอียดของลูกค้า จึงทำให้รู้ว่าลูกค้ามีคุณสมบัติดีอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

“เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อไม่ได้เปลี่ยน แต่หากปล่อยแล้วมีความเสียหาย ธนาคารก็ไม่อยากปล่อย โดย NPL กลุ่มเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่กว่า 3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา” นายปรีดีกล่าว

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยช่วงต้นปีปรับตัวลดลงเล็กน้อย เป็นผลมาจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ เงินบาทที่แข็งค่า และการบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มทั้งปียังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ต้องรอติดตามรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีมาตรการใดเพื่อเข้ามาดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นพิเศษหรือไม่

“NPL กลุ่มเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ก็ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยผู้ประกอบการมีการขอปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น” นายวีรวัฒน์กล่าว

บสย.โอดยอดค้ำประกันอืด

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร ผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้มีการชะลอตัวอย่างมาก โดยคาดว่าครึ่งปีแรกจะเติบโตไม่เกิน 1.3% ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีผลต่อยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ไปด้วย แถมสินเชื่อใน 1.3% ดังกล่าวยังเป็นการเติมให้กับลูกค้าเก่าของแต่ละสถาบันการเงินเป็นหลัก แต่เป้าหมายค้ำประกันสินเชื่อไปผูกกับลูกค้าใหม่ ทำให้การค้ำยังไปได้ไม่ดีมาก

“ครึ่งปีแรกเราน่าจะทำได้ราว 4.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ บสย.ตั้งเป้าหมายค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีไว้ที่ 1.07 แสนล้านบาท ดังนั้น ยอดค้ำประกันสินเชื่ออีก 6 หมื่นล้านบาท จะต้องเร่งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อย่างเรื่องการลงทุน เป็นต้น”

ลุ้นรัฐบาลใหม่กระตุ้นฐานราก

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ช่วง 5 เดือนแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีไปได้ราว 1.24 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.72% ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายปีนี้ ที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพิ่งตั้งศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอีครบ 82 แห่งได้ราว 4-5 เดือน จึงอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อม หลังจากนี้น่าจะโตก้าวกระโดดได้

“การที่แบงก์พาณิชย์ไม่กล้าปล่อย ผู้ประกอบการก็ต้องเลือกดูว่าจริง ๆ ก็มีโครงการของรัฐ ซึ่งก็มี บสย.มาช่วยค้ำประกันให้ ลูกค้าไม่ต้องมีหลักประกัน 100% ก็สามารถกู้ได้” นายชาติชายกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน การลงทุนต่าง ๆ ก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็น่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ดีขึ้น รวมถึงหากรัฐบาลชุดใหม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากก็จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้

 

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


poomai