ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนเก็งกำไร หรือนักลงทุนเน้นคุณค่าก็ตาม จะมีแนวทางกาให้นักลงทุนตัดสินใจมากกมายหลายระบบ หลายหลักการ สำหรับนักลงทุนเองต้องหาตัวตนให้พบว่า ตัวเองเหมาะที่จะลงทุนแบบไหน ไม่มีใครสามารถตอบได้ บางคนเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ก็ยังไม่พบตัวตนเลยก็มี วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอ แนวทางหนึ่งที่ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี ในการเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง นั่นก็คือ CANSLIM มีหลักการอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันครับ
CANSLIM เป็นวิธีแนวทางการตัดสินใจลงทุนแบบหนึ่ง ซึ่งคิดค้นโดย William O’Neil ผู้ทำการศึกษาลักษณะหุ้นสามัญ เขาพบว่าหุ้นที่มีคุณลักษณะ CANSLIM จะให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูง โดย CANSLIM เป็นคำย่อของอักษรตัวแรกของคำทั้ง 7 คำ คือ
ตัว C คือ Current Quarterly Earnings per Share
หมายถึง กำไรต่อหุ้นในไตรมาสล่าสุด ควรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15-20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ตัว A คือ Annual Earnings Growth
หมายถึง อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อปี โดยในรอบ 5 ปีควรมีอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 15% ขึ้นไป บางปีกำไรสุทธิอาจลดลงได้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดจากตัวกิจการโดยตรง แต่ถ้าเกิดการกิจการโดยตรงก็ต้องพิจารณาว่า กิจการ พอมีแนวทางแก้ไขในอนาคตอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกลับมามีกำไรที่ดีได้อีกในอนาคตอันใกล้
ตัว N คือ New Product หรือ New Management
หมายถึง เป็นหุ้นที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือมีระบบการบริหารงานแบบใหม่ ๆ ซึ่งนักลงทุนมักจะพบหุ้นประเภทนี้บ่อย ๆ นักลงทุนจะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ นี้จะทำให้ผลประกอบการออกมาดี จึงมีการเก็งกำไรกันมาก ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ตัว S คือ Shares Outstanding
หมายถึง จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดซื้อขาย โดยถ้าจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดในจำนวนที่น้อย โอกาสที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นสามารถทำได้ง่ายกว่า หุ้นที่มีจำนวนหมุนเวียนในตลาดมากกว่า
ตัว L คือ Leading Industry
หมายถึง ผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น กลุ่มสื่อสาร จะมีหุ้น ADVANCE เป็นผู้นำในกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งมักจะมีพื้นฐานที่ดี เป็นที่ต้องการของนักลงทุน
ตัว I คือ Institutional Sponsorship
หมายถึง ผู้สนับสนุนรายสถาบัน หุ้นที่นักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ชอบลงทุน ถ้าตลาดเป็นขาขึ้น ก็ส่งเสริมให้ราคาหุ้นที่นักลงทุนสถาบันถืออยู่ ปรับตัวสูงขึ้นได้เร็ว แต่ในยามตลาดเป็นขาลง นักลงทุนสถาบันก็อาจปรับพอร์ต มีการขายออกได้ เราในฐานะนักลงทุนรายย่อยอาจเจ็บตัวได้ ดังนั้นการลงทุนต้องเข้าใจสถานการณ์ของตลาดหุ้นด้วย
ตัว M คือ Market Direction
หมายถึง ทิศทางตลาด ต่อเนื่องจากข้อที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ตลาด ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร เกื้อหนุนต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ เพราะว่า ถ้าผลประกอบการออกมาดี ก็ส่งผลต่อราคาหุ้นให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ ดังนั้นถ้าตลาดมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เราควรชะลอการลงทุนไว้ก่อน รอดูทิศทางตลาดที่สดใส แล้วค่อยเข้ามาใหม่ก็ไม่สายไป
หลักการเลือกหุ้นในแนวทาง CANSLIM เราจะได้หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และเมื่อได้ลงทุนในหุ้นตัวนั้นแล้ว เราจะต้องหมั่นคอยติดตามผลงานของหุ้นนั้น ยังเป็นไปตามหลักของ CANSLIM หรือไม่ ถ้ามีบางข้อไม่เป็นไปตามหลัก CANSLIM เราต้องเพิ่มความระมัดระวังติดตามอย่างใกล้ชิด