TTB กำไร Q1/65 ที่ 3.19 พันลบ.โต 14.8% หลังคุมค่าใช้จ่าย-ตั้งสำรองลดลง

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,782 ล้านบาท
.
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 12,409 ล้านบาท ลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของยอดเงินให้สินเชื่อ เนื่องจากธนาคารเน้นเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทาย
.
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM)อยู่ที่ 2.91%ลดลง 7 bps จาก 2.98% ในไตรมาส 4/64 และลดลง 9 bps จาก 3.00% ในไตรมาส 1/64 ส่วนใหญ่เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนเงินให้ สินเชื่อลดลง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวลดลงด้วยการปรับโครงสร้างงบดุลให้ มีความเหมาะสมและการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
.
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 3,365 ล้านบาท ลดลง 20.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์และกองทุนรวม สุทธิด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้าธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
.
สำหรับสินเชื่อเติบโตอย่างระมัดระวังและเน้นกลยุทธ์การเติบโตอย่างมีคุณภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมี.ค.65 ลดลงเล็กน้อยที่ 0.4% YTD อยู่ที่จำนวน 1,366 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจ โดยสินเชื่อบรรษัทลูกค้าธุรกิจลดลง 5.8% YTD จากการชำระคืนของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนที่ลดลง ขณะที่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สินเชื่อลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะ สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกลับมาขยายตัวที่ 1.2% และ 0.8% YTD ตามลำดับ
.
ณ สิ้นเดือนมี.ค.65 เงินฝากรวมเพิ่มขึ้น 1.6% YTD อยู่ที่ 1,360 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มฐานเงินฝากประจำสำหรับลูกค้ารายย่อย Up and Up ตามกลยุทธ์ด้านเงินฝากในการสร้างฐานเงินฝากระยะยาวเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง
.
ด้วยความพยายามในการเร่งการรับรู้ประโยชน์ด้านต้นทุนหลังการรวมกิจการและความมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีการบริหารจัดการที่ดีซึ่งลดลง 12.7% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6,987 ล้านบาท และลดลง 14.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ไม่รวมผลกระทบการปันส่วนราคาซื้อหลังจากการรวมกิจการของธนาคารธนชาต อยู่ที่ 43% เนื่องจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ลดแรงกดดันในด้านของรายได้ ส่งผลให้PPOP ปรับตัวดีขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 8,818 ล้านบาท
.
ธนาคารยังคงบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดด้วยการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่ขาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อย่างเข้มงวดและพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อตั้งสำรองผ่าน Management Overlay โดยธนาคารตั้งสำรองฯ จำนวน 4,808 ล้านบาท ลดลง 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 12.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 2.81% ในไตรมาส 4/64 อย่างไรก็ดีธนาคารยังคงตังสำรองในระดับที่สูงตามกรอบเป้าหมายของธนาคาร เนื่องจากเตรียมความพร้อมเพื่อให้ระดับสำรองฯเพียงพอ สำหรับรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะหมดลงในปีนี้
.
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/65 และช่วงที่เหลือปี 65 จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะจากยุโรป รวมทั้งมีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น โดยประเมินทั้งปี 65 มูลค่าส่งออกสินค้าเติบโตที่ 5.8% ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าไทยแบบไม่กักตัว ทำให้จ านวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มชัดเจนมากขึ้น คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ 4.5 ล้านคน
.
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีจากสถานการณ์โควิดที่มีทิศทางดีขึ้น และยังคงมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น ในด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับทิศทางการส่งออก รวมทั้งเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการลงทุนใน EEC ที่ได้รับอนุมัติไปในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด
.
ด้านตลาดเงิน คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ในระดับ 0.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเด็นเงินเฟ้ อเร่งตัวและการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2/65 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 5.0% ค่าเงินบาทอาจมีทิศทางอ่อนค่า จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 65 จากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว คาดการณ์กรอบเป้าหมายเงินบาทในปี 65 ที่ระดับ 32.5 –34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
