ห้องเม่าปีกเหล็ก

'สงครามการค้า' เดือด

โดย น้ำพริกปลาทู
เผยแพร่ :
74 views

'สงครามการค้า' เดือดเพียง 1 เดือน พบโรงงานปิดกิจการ 42 แห่ง

  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SME ต่างปิดตัวลงมากส่วนหนึ่งมาจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทย
  • กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยปี 2567 มีโรงงาน 2,112 แห่ง พบปิดกิจการ 1,234 แห่ง และขยายกิจการ 487 แห่ง เงินลงทุน 286,548 ล้านบาท จ้างงาน 75,889 คน
  • เอกชนกังวลผลกระทบสินค้าราคาถูกจากจีนไหลบ่าเข้าไทยและแย่งส่วนแบ่งตลาดคู่ค้า เพราะจีนสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากและราคาถูกเกิดการแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น

 

 

ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SME ต่างปิดตัวลงมากส่วนหนึ่งมาจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญ

ในขณะเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภาครัฐจะพยายามหามาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มฐานรากให้มีกำลังซื้ออีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาทที่ขณะนี้ได้มีการแจกไปแล้วรอบ 2 หวังสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้มีการใช้จ่ายในประเทศมากยิ่งขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ในปี 2568 อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป (ICE) วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ ต้องเร่งปรับตัวจากปัจจัยเชิงลบของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ บั่นทอนให้การผลิตรองรับการบริโภคชะลอตัว 

ขณะเดียวกันผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญ

จากข้อมูลย้อนหลังของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปรียบเทียบการอนุญาตประกอบ ขยายกิจการ และเลิกกิจการโรงงานตั้งแต่ปี 2565-2568 พบว่า จำนวนโรงงานที่เปิด เทียบจำนวนโรงงานที่ขยายและเลิกกิจการ ปี 2565 จำนวน 2,193 แห่ง พบปิดกิจการ 1,140 แห่ง และขยายกิจการ 631 แห่ง เงินลงทุน 187,044 ล้านบาท โดยจำนวนการจ้างงาน 57,996 คน

  • ปี 2566 จำนวน 2,143 แห่ง พบปิดกิจการ 1,811 แห่ง และขยายกิจการ 395 แห่ง เงินลงทุน 261,975 ล้านบาท โดยจำนวนการจ้างงาน 64,558 คน
  • ปี 2567 จำนวน 2,112 แห่ง พบปิดกิจการ 1,234 แห่ง และขยายกิจการ 487 แห่ง เงินลงทุน 286,548 ล้านบาท โดยจำนวนการจ้างงาน 75,889 คน
  • ปี 2568 เฉพาะเดือน ม.ค. จำนวน 147 แห่ง พบปิดกิจการ 42 แห่ง และขยายกิจการ 14 แห่ง เงินลงทุน 18,119 ล้านบาท โดยจำนวนการจ้างงาน 6,257 คน

ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถสรุปผลการเปิดและปิดกิจการได้ 100% เนื่องจากบางโรงงานยังไม่มีการแจ้งปิดกิจการอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะยังมีการคงสถานไว้เพื่อปรับแผนธุรกิจ เป็นต้น 

ในขณะที่โรงงานเกี่ยวกับเหล็กที่แจ้งเลิกประกอบกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 19 ก.พ. 2568 พบปิดกิจการรวมทั้งสิ้น 71 โรงงาน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก และเครื่องสำอาง รวม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาคาดว่าในปี 2568 นี้ จะกระทบเพิ่มเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรม จากจำนวน 47 กลุ่มอุตสาหกรรม 

"สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้กระทบแค่ 23 กลุ่มอุตสาหกรรม แต่ครอบคลุมผลกระทบจากการนำเข้า ผลกระทบต่อการผลิต และผลกระทบต่อชั่วโมงทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มีผลกระทบจากการนำเข้าต่อผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งผลกระทบการผลิตต่อโลหะขั้นมูลฐาน และผลกระทบชั่วโมงทำงานต่อผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์"

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีความกังวลผลกระทบทางอ้อมโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และได้ดุลการค้าสหรัฐสูงสุดตลอดมา ส่งผลให้ปี 2566 สหรัฐมีมาตรการกีดกันเข้มข้นจึงลดสัดส่วนการส่งออกไปถึง 20% ส่งผลให้จีนต้องหาตลาดใหม่แทนสหรัฐเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดการการไหลบ่าของสินค้าจากจีนมาในประเทศไทยรวมถึงกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 มาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดคู่ค้าของประเทศไทยด้วย เนื่องจากจีนสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากในต้นทุนที่ถูกทำให้แข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น  ซึ่งแม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสกัดสินค้าไม่ได้มาตรการเต็มที่ แต่ยอมรับว่ามีหลายงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบูรณาการร่วมกัน 

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวช้า อีกทั้ง ยอดขายรถยนต์ยังฟื้นตัวได้ช้า จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน"

สำหรับแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

1. เจรจาระดับรัฐเพื่อป้องกัน และบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐรวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน

2. สนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐ

3. บูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. ใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping :AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้า และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

5. ควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้า และวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ

6. ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการ เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทยไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ

 

ที่มา..  https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1168814

 


น้ำพริกปลาทู