ห้องเม่าปีกเหล็ก

ถึงเวลาจัดการกับความกลัว และเพิ่มความกล้า แล้วหรือยัง ?

โดย ในหุบเขา
เผยแพร่ :
169 views

ถึงเวลาจัดการกับความกลัว และเพิ่มความกล้า แล้วหรือยัง ?

By ศิริพร สุวรรณการ

 

ตลาดหุ้นโลกเป็นขาลงมาตั้งแต่ต้นปี โดยดัชนี MSCI All Country World ติดลบเกือบ -15% แม้บางช่วงจะมีข้อมูลดีๆ มาช่วยให้ตลาดรีบาวด์ได้บ้าง แต่ความกังวลที่ยังปกคลุมอยู่ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้นแรง รวมทั้งเศรษฐกิจถดถอย ทำให้นักลงทุนยังไม่กล้าซื้อหุ้นเพิ่มแม้ราคาจะลงมามากก็ตาม

หากถามว่า ตอนนี้ถึงเวลาจัดการกับความกลัว มาเพิ่มความกล้า และทยอยเข้าลงทุนในหุ้นเพิ่มได้บ้างหรือยัง คงต้องกลับไปวิเคราะห์ปัจจัยที่เคยกดดันตลาดหุ้นกันก่อน เริ่มจากเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายของธนาคารกลางตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม เริ่มชะลอลงมาที่ 8.5% YoY ลดลงจากเดือนก่อนที่ 9.1% โดยมีแรงฉุดจากราคาพลังงาน ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ประเด็นถัดมาคือ การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่สะท้อนในตลาดพันธบัตร บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มจากระดับราว 1.5% เมื่อต้นปี ไปแตะใกล้ๆ 3.5% ในเดือนมิถุนายน แต่หลังจากนั้นได้ปรับลงมาที่ราว 3% ด้านบอนด์ยีลด์ 2 ปี ก็ทรงตัวได้ที่ราว 3.3% ใกล้เคียงกับคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ FED จนถึงสิ้นปีนี้ ที่ 3.5% (อ้างอิง FED Fund Futures ณ 24 สิงหาคม) เมื่อรวมกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะผ่านหรือใกล้จุดสูงสุดแล้ว บอนด์ยีลด์ต่อจากนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด หากเป็นเช่นนั้น แม้ดอกเบี้ยจะยังเพิ่มขึ้น แต่แรงกดดันจะน้อยลงกว่าเดิม

ประเด็นสุดท้ายคือ ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย แม้ GDP สหรัฐฯ จะหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งตามทฤษฎีนับว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทราว 75% ประกาศงบไตรมาส 2 ออกมาดีกว่าคาด โดยรวมสร้างรายได้และกำไรเติบโตราว +14 และ +8% YoY ตามลำดับ นำโดยกลุ่มพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม ถือเป็นสัญญาณบวกว่าภาคธุรกิจยังสามารถสร้างผลกำไรได้ดี ท่ามกลางความกังวลทางเศรษฐกิจ

เมื่อความกังวลหลายประเด็นเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับ Valuation ของตลาดหุ้น เช่น สหรัฐฯ กลับมาซื้อขายใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้นเพิ่ม โดยเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และกลุ่มธุรกิจที่มีแบรนด์แข็งแกร่งเป็นเครื่องมือกำหนดราคาสินค้าเพื่อรักษาระดับกำไรไว้ได้

อีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจคือ Hedge Fund ที่ใช้กลยุทธ์ Long/Short ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะด้วยสภาพคล่องและจำนวนหุ้น ทำให้มีโอกาสลงทุนมากกว่าตลาดอื่น โดยเลือกกองทุนที่มีประวัติการบริหารมายาวนาน มีผลตอบแทนในอดีตที่โดดเด่น บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และสถิติ ที่ร่วมกันคิดค้นและปรับปรุงโมเดล

โดยอาศัยเหตุการณ์ในอดีตและข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น การใช้ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากดาวเทียมเพื่อดูภาพถ่ายบ่อน้ำมันมาคาดการณ์ราคาน้ำมัน หรือดูจำนวนรถยนต์ที่เข้าจอดในห้างเพื่อคาดการณ์ยอดขาย เพื่อตัดสินใจซื้อขายหุ้นรายวินาที เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง

แม้ภาพรวมในฝั่งสหรัฐฯ จะดูดีขึ้น แต่ในภูมิภาคยุโรปกลับตรงกันข้าม เงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดยังเดินหน้าขึ้นต่อแตะระดับ 8.9% YoY และมีแนวโน้มอยู่ระดับสูง เพราะวิกฤตราคาพลังงานที่หลายประเทศต้องเผชิญจากการคว่ำบาตรรัสเซียรวมถึงความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว

ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 0.5% แม้จะขึ้นไปแล้ว 0.5% เมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ชะลอลงได้ ดังนั้น ในช่วงนี้นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นยุโรป

ต่อจากนี้ตลาดจะยังผันผวนสูง ตามการสื่อสารของ FED ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ถ้าหากเพิ่มขึ้นต่อ หรือตัวเลขการจ้างงาน ถ้าแข็งแกร่งกว่าคาด อาจเป็นตัวเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานได้อีก ดังนั้นนักลงทุนจะยังต้องเผชิญกับทั้งความกลัวและความกล้า ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความกลัวด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สำหรับความกล้านั้น สามารถจัดการโดยการรู้จักความเสี่ยงที่รับได้ ตลอดจนระยะเวลาลงทุน และใช้ความเสี่ยงให้เหมาะสมในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

 

 


ในหุบเขา