ห้องเม่าปีกเหล็ก

วิธีคำนวณ NPV กับ IRR ถ้าเราเปิดร้านกาแฟ

โดย INVESTING
เผยแพร่ :
51 views

วิธีคำนวณ NPV กับ IRR ถ้าเราเปิดร้านกาแฟ ลงทุน 2,000,000 บาท กำไรปีละ 600,000 บาท ในเวลา 5 ปี คุ้มจะทำไหม ? 

| BrandCase

จากโจทย์ข้างบน เราเอามาคำนวณต่อจะได้ว่า

- กำไรสะสม 5 ปี คือ 600,000 บาท x 5 ปี = 3,000,000 บาท

- เอากำไรสะสม 3,000,000 บาท หักลบกับเงินทุน 2,000,000 บาท = 1,000,000 บาท

ก็เท่ากับว่ากำไรสุทธิที่เราได้จากการทำร้านกาแฟ 5 ปี เท่ากับ 1,000,000 บาท หรือคิดเป็น 50% ของทุนที่เราลงไปในตอนแรก

คิดตรง ๆ แบบนี้ก็เห็นว่าคุ้มจะลงทุนทำแบบเห็น ๆ

แต่ปัญหามีอยู่ว่า กำไรปีละ 600,000 บาท ตลอด 5 ปี ที่เราจะได้ ถ้าคิดตามแนวคิด Time Value of Money เงินก้อนเหล่านี้ ในอนาคตจะมีมูลค่าลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ทีนี้เพื่อให้การคำนวณความคุ้มค่าจากการลงทุนทำธุรกิจของเรานั้น แม่นยำมากขึ้น

จึงมีเครื่องมืออีก 2 อย่าง ที่เข้ามาช่วยคำนวณ

นั่นก็คือ “NPV” และ “IRR”

- NPV (Net Present Value) หรือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ

หมายถึง ผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนทำธุรกิจหรือจากโครงการต่าง ๆ และผลตอบแทนนั้น จะต้องคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันด้วย

โดยถ้าหาก NPV มีค่าเป็นบวก (+)

แสดงว่า ผลตอบแทนในอนาคตที่คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน มากกว่าเงินลงทุน หรือแปลว่าสิ่งที่เรากำลังจะลงทุนนั้นคุ้มค่าน่าลงทุน

แต่หากผลออกมา มีค่าเป็นลบ (-)

แสดงว่า ผลตอบแทนในอนาคตที่คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน น้อยกว่าเงินลงทุน หรือแปลว่าโครงการนี้ไม่น่าลงทุน

เพื่อไม่ให้งง ก็จะขอยกตัวอย่างโจทย์เดิม

คือเปิดร้านกาแฟที่ต้องใช้เงินลงทุนตั้งต้น 2,000,000 บาท โดยเราคาดว่า จะสร้างกำไรให้แต่ละปีตามนี้

ปีที่ 1 เท่ากับ 600,000 บาท

ปีที่ 2 เท่ากับ 600,000 บาท

ปีที่ 3 เท่ากับ 600,000 บาท

ปีที่ 4 เท่ากับ 600,000 บาท

ปีที่ 5 เท่ากับ 600,000 บาท

เมื่อหักลบกันแล้ว ก็เท่ากับว่าเราจะได้กำไรทั้งหมดกลับมาที่ 1,000,000 บาท หลังจากผ่านไป 5 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าของเงินนั้นมีการลดลงตามกาลเวลาอยู่เสมอ

เพราะเงินจำนวน 600,000 บาท ในอีก 1-5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าน้อยกว่าเงินจำนวน 600,000 บาท ในปัจจุบัน

ดังนั้นเราเลยต้องแปลงมูลค่าของกระแสเงินสด ที่เราคาดว่าจะได้รับในอนาคต กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ด้วย อัตราคิดลด

ซึ่งอัตราคิดลด เราก็สามารถกำหนดได้จาก “อัตราผลตอบแทน” ที่เราคาดหวัง

สมมติว่า เราต้องการผลตอบแทนจากธุรกิจ ที่ 10% ต่อปี ด้วยผลตอบแทนแบบนี้ รายรับที่เราคาดว่าจะได้รับ 600,000 บาท

- ผ่านไป 1 ปี จะมีมูลค่าลดลง 10% เหลือ 545,455 บาท

- ผ่านไป 2 ปี จะมีมูลค่าลดลงอีก 10% เหลือ 495,868 บาท

- ผ่านไป 3 ปี จะมีมูลค่าลดลงอีก 10% เหลือ 450,789 บาท

- ผ่านไป 4 ปี จะมีมูลค่าลดลงอีก 10% เหลือ 409,808 บาท

- ผ่านไป 5 ปี จะมีมูลค่าลดลงอีก 10% เหลือ 372,553 บาท

ดังนั้น ถ้าเราเปิดร้านกาแฟ แล้วคาดว่าจะทำกำไรได้ 600,000 บาทต่อปี และเราสมมติว่ามีอัตราการคิดลด 10% ต่อปี

มูลค่าเงินในปัจจุบัน ที่เราจะได้รับจริง ๆ จะมีค่าเท่ากับ

545,455 บาท + 495,868 บาท + 450,789 บาท + 409,808 บาท + 372,553 บาท = 2,274,473 บาท

และเมื่อเรานำไปหักลบกับเงินลงทุนที่ใช้เปิดร้านเริ่มแรก เราก็จะได้ว่า NPV หรือมูลค่าปัจจุบันสุทธิ

ซึ่งเท่ากับ 2,274,473 บาท - 2,000,000 บาท = 274,473 บาท

จะเห็นว่า NPV นั้นจะเท่ากับ 274,473 บาท ซึ่งน้อยกว่าการไม่ใส่สมมติฐานการคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ที่คำนวณไว้ตั้งแต่ตอนต้นที่ 1,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม NPV ที่เราคิดได้นั้น เป็นบวก (+)

เราก็พอสรุปได้ว่า ถ้าเราต้องการผลตอบแทนจากธุรกิจที่ 10% ต่อปี

การลงทุนด้วยเงิน 2,000,000 บาท เพื่อแลกกับการทำกำไรปีละ 600,000 บาท ตลอดทั้ง 5 ปีนั้น “คุ้มค่ากับการลงทุน”

และในทางกลับกัน สมมติถ้าเราคิด NPV ออกมาได้เป็นลบ (-)

นั่นหมายความว่า โครงการธุรกิจที่เราจะลงทุนนั้น ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

- IRR (Internal Rate of Return) หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน

ความหมายง่าย ๆ คือ อัตราคิดลด ที่จะทำให้ NPV มีค่าเท่ากับ 0

โดย IRR สามารถตีความแบบง่าย ๆ นั่นก็คือ

- ถ้า IRR มากกว่า ผลตอบแทนจากธุรกิจที่เราหวัง แปลว่า ธุรกิจนี้น่าลงทุน

- ถ้า IRR น้อยกว่า ผลตอบแทนจากธุรกิจที่เราหวัง แปลว่า ธุรกิจนี้ไม่น่าลงทุน

หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือถ้า IRR ยิ่งสูง ก็คือยิ่งดีนั่นเอง

อย่างกรณีของธุรกิจร้านกาแฟที่ใช้เงินลงทุนตั้งต้น 2,000,000 บาท

โดยเราคาดว่าจะทำกำไรได้ปีละ 600,000 บาท ตลอดทั้ง 5 ปี

ซึ่งถ้าคิด IRR หรืออัตราคิดลด ที่จะทำให้ค่า NPV อยู่ที่ 0 บาท = 15%

จากตรงนี้ แปลความหมายง่าย ๆ คือ

เราหวังว่าจะมีผลตอบแทนจากธุรกิจร้านกาแฟ ที่ 10% แต่ IRR ที่คิดได้คือ 15% นั่นหมายความว่าธุรกิจนี้ น่าลงทุน

ในทางกลับกัน ถ้าหากเราหวังผลตอบแทน จากการทำร้านกาแฟ มากกว่า 15% ก็หมายความว่า ธุรกิจนี้ ไม่น่าลงทุน

สรุปแล้ว NPV และ IRR ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในทางการเงิน

ที่จะช่วยประเมินว่า ธุรกิจของเรานั้น คุ้มค่าที่จะลงทุนลงแรงทำหรือไม่

โดยถ้าค่า NPV เป็นบวก และค่า IRR มากกว่าอัตราผลตอบแทนจากการทำธุรกิจที่เราคาดหวัง

ก็แปลว่า โปรเจกต์ธุรกิจที่เราต้องการจะทำนั้น คุ้มค่าที่จะลงทุนทำ

 

 

ที่มา..  BrandCase


INVESTING